COVID-19

วิจัยพบ ‘บุคลากรการแพทย์’ เสี่ยงป่วยทางจิต ‘PTSD’ ทุกครั้ง ที่ยอดติดโควิด-19 พุ่ง

ผลการศึกษาล่าสุด ชี้ “บุคลากรทางการแพทย์” มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ “PTSD” หรือ อาการป่วยทางจิต ที่เกิดขึ้นหลังเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง ทุกครั้ง หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งสูงขึ้น  

ตามปกติแล้ว ภาวะป่วยทางจิต หลังการเผชิญกับเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง หรือที่วงการแพทย์เรียกว่า PTSD (Post-traumatic stress disorder) มักจะพบในทหารผ่านศึก หรือในกลุ่มประชาชนทั่วไป ที่ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติ การถูกทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจ และเหตุการณ์ที่สร้างความกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรงอื่น ๆ

แต่ในช่วงเวลาที่ทั่วโลก กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้ มีรายงานว่า พยาบาล และบุคลากรการแพทย์ เกิดภาวะ PTSD หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้อย่างมาก จากการที่ต้องทำงานดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ในแผนกผู้ป่วยหนัก หรือไอซียู

ป่วยทางจิต

พยาบาลบางคนมีอาการหัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ปากแห้ง ฝันร้ายถึงผู้ป่วยที่กำลังจะเสียชีวิต บางคนรู้สึกโกรธฉุนเฉียว บางคนมีอาการเหล่านี้มากกว่าหนึ่งเดือน และรุนแรงมาก จนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD

การศึกษาวิจัยก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นว่า อัตราการเป็น PTSD ของบุคลากรการแพทย์ด่านหน้านั้น อยู่ในระดับ 10-50% ในขณะที่อัตราการฆ่าตัวตายของแพทย์นั้น สูงกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า

เร่งประเมิน “ป่วยทางจิต” จากผลกระทบโควิด

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สมาคมการแพทย์อเมริกัน (AMA) นำนักจิตวิทยากองทัพ และจากศูนย์ PTSD แห่งชาติสหรัฐ ในสังกัดกระทรวงทหารผ่านศึกสหรัฐ  มาช่วยประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อบุคลากรการแพทย์ของประเทศ

ดร. ฮูเซยิน บายาซิท จิตแพทย์ประจำศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเท็กซัส เทค ในรัฐเท็กซัส ร่วมมือกับนักวิจัยในตุรกี ประเทศบ้านเกิดของเขา ดำเนินการสำรวจบุคลากรการแพทย์ 1,833 คน ช่วงปลายปีที่แล้ว  และพบว่า บุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ แต่ทำงานอยู่ในแวดวงการแพทย์นั้น มีอัตราการเกิดภาวะ PTSD 49.5%  ส่วนกลุ่มแพทย์อยู่ที่ 36%  และกลุ่มที่ต้องทำงานในแผนกดูแลผู้ป่วยโควิด-19 มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

สหภาพแรงงานบุคลากรการแพทย์ ได้ตั้งกฎขึ้นมา เพื่อจำกัดจำนวนผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาล 1 คน เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพจิตใจของพวกเขา ส่วนพยาบาลได้ออกมาเรียกร้องว่า พวกเขาไม่ควรต้องจ่ายค่าดูแลรักษาสภาพจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นค่ายา ค่ารักษา หรือค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ

ป่วยทางจิต

นอกจากนี้ AMA และกลุ่มอื่น ๆ ยังขอให้การรักษาสุขภาพจิตแก่แพทย์เป็นความลับมากขึ้น

โรงพยาบาลบางแห่ง เช่น เมาธ์ ไซไน เฮลธ์ ซิสเต็ม ในนิวยอร์ก และ รัช ยูนิเวอร์ซิตี้ ซิสเต็มในชิคาโก ได้ให้บริการด้านสุขภาพจิต โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเป็นความลับแก่บุคลากรการแพทย์ในสังกัด  พร้อมจัดโปรแกรมสุขภาพจิตพิเศษ เช่น Battle Buddies ซึ่งเป็นการจับคู่ดูแลกันระหว่างพยาบาล เลียนแบบระบบคู่หูในกองทัพ หรือโครงการสนับสนุนพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยในแผนกไอซียู  โดยเฉพาะ

ดร. คริสติน ซินสกี้ รองประธาน AMA เผยว่า แพทย์ในสหรัฐประมาณ 5,000 คน ลาออกจากงานทุก ๆ  2 ปี เพราะภาวะหมดไฟในการทำงาน หรือ burnout ซึ่งการลาออกของแพทย์เหล่านี้ คิดเป็นค่าเสียหายประมาณ 4,600 ล้านดอลลาร์ เพราะทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ และเกิดค่าใช้จ่ายในการจ้างแพทย์คนใหม่มาแทน

ผลการสำรวจ และการจัดเก็บข้อมูลของโรงพยาบาล ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ยังทำให้กระทรวงสาธารณสุข และบริการประชาชนสหรัฐ เตือนว่า การขาดแคลนเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วย ในขณะที่ความเหนื่อยล้า และความกระทบกระเทือนต่อจิตใจ มีผลต่อสุขภาพจิตของบุคลากรการแพทย์

ดร. คารี เจอร์เก แพทย์อาสา ที่เคยไปช่วยงานแผนกผู้ป่วยโควิด-19 ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ที่เมืองฟีนิกซ์ รัฐแอริโซนา เมื่อปลายปีที่แล้ว เปิดเผยว่า เธอปฏิเสธที่จะกลับไปทำงานที่แผนกไอซียู  อีกครั้งหลังจากที่ยอดผู้ป่วยโควิดเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่า เธอจะได้รับการเสนอค่าตอบแทนอย่างงามก็ตาม

ดร. เจอร์เก บอกว่า เธออยากให้ทุกคนให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพร่างกาย และจิตใจของตนเอง แต่ขณะเดียวกันเธอก็เป็นห่วงว่า การหันมาดูแลตัวเองของบุคลากรการแพทย์ จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาล เช่น พยาบาลที่มีประสบการณ์ 20 ปี ในแผนกไอซียู  เป็นต้น

ป่วยทางจิต

เร่งรณรงค์ ลดอาการ ป่วยทางจิต

ขณะที่ นางพาสคาลีน มูฮินดูรา พยาบาลวัย 40 ปี ที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในเมืองแคนซัสซิตี รัฐมิสซูรี ได้รณรงค์ให้เพื่อนร่วมงานของเธอ รักษาความปลอดภัย หลังจากที่เธอต้องสูญเสียเพื่อนพยาบาลคนหนึ่งไป เพราะโควิด-19

เธอบอกว่า สภาพที่ทำงานมีแต่จะย่ำแย่ลงเรื่อย ๆ พยาบาลต้องกลับไปเจอสภาพเหล่านั้นทุกวัน และต้องจัดการกับความรู้สึก ผลกระทบต่อจิตใจที่เกิดขึ้น  ทั้งโรงพยาบาลหลายแห่ง ไม่ได้จัดสรรประกันสุขภาพ ที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายสำหรับบริการด้านสุขภาพจิต หรือการเยียวยาที่เพียงพอ

พยาบาลบางคนกล่าวว่า การทำงานร่วมกันในแผนกไอซียู ทำให้พวกเขารู้สึกเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่ต่างจากทหารที่ร่วมรบในสนามรบเดียวกัน พยาบาลบางกลุ่มได้แสดงออกด้วยการพากันไปสักรอยสักเดียวกัน บางกลุ่มกอดคอกันร้องไห้ ระหว่างการเดินทางกลับบ้าน ให้กำลังใจกันและกันทางโซเชียลมีเดีย หรือผลักดันให้เพื่อนพยาบาลเข้ารับความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต

พวกเขามองว่าการรู้สึกท้อแท้ ภาวะจิตใจที่ย่ำแย่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็จะต้องหาทางจัดการความรู้สึก และผลกระทบต่อจิตใจเหล่านั้นให้ได้เช่นกัน

ที่มา : VOA

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo