COVID-19

หวั่น ‘กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ’ สาเหตุที่ ‘สหราชอาณาจักร’ ยังไม่ฉีด ‘วัคซีนโควิด’ เด็ก 12-15 ปี

คณะกรรมการร่วมด้านวัคซีน และภูมิคุ้มกัน (JCVI) ของสหราชอาณาจักร มีมติแนะนำให้เด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี  จำนวน 200,000 คน ที่มีโรคประจำตัว เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้เด็กในกลุ่มอายุเดียวกัน ที่มีสุขภาพดี โดยให้เหตุผลว่า ในตอนนี้ ผลดีด้านสุขภาพ ที่จะได้จากการฉีดวัคซีน ถือว่ายังน้อยเกินไป 

ขณะนี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักร กำลังรอการตัดสินใจจากคณะหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ (chief medical officers) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านการแพทย์ของรัฐบาล โดยคาดว่า จะได้ข้อสรุปอีกไม่กี่วันข้างหน้า หลังจากก่อนหน้านี้ รัฐบาลตัดสินใจให้วัคซีนโควิด กับคนกลุ่มอายุต่าง ๆ ตามที่ JCVI แนะนำมาโดยตลอด

วัคซีนโควิด

แม้เด็กจะมีความเสี่ยงติดโควิด แต่โอกาสที่พวกเขาจะล้มป่วยหนัก ก็มีน้อยมาก ซึ่งหมายความว่า การที่จะตัดสินใจฉีดวัคซีนป้องกันโควิดนั้น จะต้องเห็นประโยชน์ที่ชัดเจนในการให้วัคซีนแก่พวกเขาเสียก่อน

แต่เหตุผลสำคัญที่ทางการยังลังเล คือ อาการข้างเคียงหายาก ที่พบจากการฉีดวัคซีนโควิด อย่างไฟเซอร์ และโมเดอร์นา 

ผลงานวิจัย ที่รวบรวมข้อมูลจากการติดตามกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนชนิด mRNA อย่างไฟเซอร์ และโมเดอร์นา พบว่า มีความเสี่ยงเล็กน้อยที่ จะเกิดอาการ “กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ” (myocarditis)  และอาการนี้ จะพบในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กผู้ชาย ซึ่งหลังรับวัคซีนโดสที่ 2 อาจทำให้เกิดอาการ เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นแรง แต่อาการก็มักจะหายไปเองในไม่กี่วัน

ข้อมูลยังพบว่า เด็กอายุ 12-17 ปี จำนวน 1 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จะมีราว 60 คน ที่เจออาการข้างเคียงนี้  (8 คนในจำนวน 1 ล้านคนสำหรับเด็กผู้หญิง) ซึ่งยิ่งเด็กมีอายุน้อยเท่าใด ก็จะยิ่งมีอัตราการเกิดอาการนี้มากขึ้นเท่านั้น

แม้การติดโควิด จะส่งผลต่อสุขภาพเด็กได้เหมือนกัน รวมถึงมีผลต่อหัวใจพวกเขาด้วย แต่คำถามของเรื่องนี้ อยู่ตรงที่ว่า มี “ความเสี่ยง” มากแค่ไหน

“สิ่งสำคัญที่เรายังไม่รู้ คือ การติดโควิด และการฉีดวัคซีน อย่างไหนจะทำให้เกิดความเสี่ยง ที่จะเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่ากัน ซึ่งหากมีความเสี่ยงเท่าๆ กัน หรือการติดโควิด ทำให้เกิดอาการมากกว่า  การฉีดวัคซีนก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่า” ศ.นีล เฟอร์กูสัน ที่ปรึกษารัฐบาล และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย อิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอน กล่าว

อย่างไรก็ดี นักวิชาการรายนี้บอกว่า ไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้ เพราะไม่มีข้อมูลเรื่องผลกระทบของอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในระยะยาว

วัคซีนโควิด

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจของคณะกรรมการร่วมด้านวัคซีนและภูมิคุ้มกัน ที่ยังไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิด mRNA กับกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 12-15 ปี ที่มีสุขภาพแข็งแรงนั้น อาจเป็นเพราะ ยังไม่ปักใจเชื่อข้อมูลที่ได้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน และคงไม่อยากผลักดันให้ฉีดวัคซีน ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลเสียตามมา อันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของพ่อแม่ต่อการให้วัคซีนอื่น ๆ กับเด็กได้

นอกจากนี้ ยังมีการถกเถียงกันว่า ควรหันไปมุ่งเน้นการรณรงค์ให้คนอายุมากกว่า 18 ปี ออกมาฉีดวัคซีนกันมากขึ้น จะมีประโยชน์กว่าหรือไม่ เพราะขณะนี้ ยังมีประชากรวัยผู้ใหญ่ มากกว่า 12% ที่ยังกังขาต่อประสิทธิภาพของวัคซีน และไม่ยอมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo