COVID-19

‘บราซิล’ ค้นพบสารในพิษงู อาจต้านเชื้อ ‘โควิด-19’ เล็งพัฒนาเป็นยา

นักวิจัยบราซิลพบ โมเลกุลในพิษงูชนิดหนึ่ง สามารถยับยั้งการแพร่ขยายเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเซลล์ลิงได้ สถานการณ์ที่อาจเป็นก้าวแรก สำหรับการพัฒนายาต้านเชื้อไวรัสโควิดในอนาคต

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ “โมเลกุลส์” ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า โมเลกุลของพิษงู “จาราราคัสซุ” ในบราซิล มีประสิทธิภาพ ในการช่วยยับยั้ง การเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัสโควิด ในเซลล์ของลิงได้สูงถึง 75%

shutterstock 107938307

นายราฟาเอล กีโด อาจารย์มหาวิทยาลัยเซาเปาลู ของบราซิล และผู้เขียนรายงานวิจัยระบุว่า โมเลกุลดังกล่าวเป็นเปปไทด์ หรือสายของกรดอะมิโน ที่เชื่อมต่อกับเอนไซม์ของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งมีความสำคัญต่อการแพร่พันธุ์ และไม่เป็นอันตรายต่อเซลล์อื่น ๆ

นอกจากนี้ โมเลกุลดังกล่าว ยังมีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และนำมาสังเคราะห์เปปไทด์ในห้องปฏิบัติการได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกไปจับ หรือเลี้ยงงูจาราราคัสซุ

ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเซาเปาลูของบราซิล แถลงว่า คณะนักวิจัยจะดำเนินการประเมินประสิทธิภาพ โดสที่แตกต่างกันของโมเลกุลว่า สามารถป้องกันเชื้อโควิดไม่ให้เข้าสู่เซลล์ได้ตั้งแต่แรกหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติม

โดยคาดหวังว่า จะทำการทดลองสารดังกล่าวในเซลล์ของมนุษย์ แต่ยังไม่ได้ระบุกำหนดเวลาที่แน่นอน

ทั้งนี้ งูจาราราคัสซุ เป็นงูชนิดหนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มงูขนาดใหญ่ของบราซิล มีลำตัวยาวสุดถึง 2 เมตร และมักอาศัยอยู่ในป่าแอตแลนติก ตามแนวชายฝั่งของบราซิล อีกทั้งยังพบงูชนิดนี้ได้ในโบลิเวีย ปารากวัย และอาร์เจนตินา

shutterstock 444535552

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo