COVID-19

‘ซิโนแวค’ ลดป่วย-เสียชีวิต งานวิจัยชิลีหนุนกระตุ้นเข็มที่ 3

ซิโนแวค ช่วยลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ได้จริง งานวิจัยของชิลี เผยยังพอรับมือกับไวรัสกลายพันธุ์ได้ โดยเฉพาะการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3

สำนักข่าว Chile Today เสนอข่าว Sinovac vaccine is 98% effective, according to study ระบุว่า งานวิจัยที่ดำเนินการโดย มหาวิทยาลัยคาทอลิกสังฆราชแห่งชิลี (Pontificia Universidad Catolica de Chile) กับกลุ่มตัวอย่าง 2,300 คน ที่เมื่อ 6 เดือนก่อนได้รับวัคซีนปรากฏว่ามีเพียงร้อยละ 2 ที่ติดเชื้อ และมีเพียง 3 คนที่ติดเชื้อแล้วมีอาการป่วยในระดับต้องเข้าโรงพยาบาล

ซิโนแวค

งานวิจัยนี้ ชื่อว่า “CoronaVac03CL” โดยกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงวิทยาศาสตร์ของชิลีระบุว่าจากกลุ่มตัวอย่างทดลอง 2,300 คน พบเพียง 45 คนที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังฉีดวัคซีน และแม้จะติดเชื้อแต่ส่วนใหญ่มีอาการเพียงเล็กน้อย ส่วนกลุ่มตัวอย่าง 3 คนที่ติดเชื้อแล้วต้องเข้าโรงพยาบาล ทุกคนมีอายุมากและมีโรคประจำตัวร่วมด้วย แต่ท้ายที่สุดก็ได้รับการรักษาจนหายดีแล้วเช่นกัน

ผลการศึกษายังพบว่าวัคซีนทำให้ไวรัสเป็นกลาง กรณีโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม และเป็นกลางบางส่วนกับไวรัสกลายพันธุ์สายอัลฟา (อังกฤษ)  เบตา (แอฟริกาใต้) และแกมมา (บราซิล) ซึ่ง ซูซาน บูเอโน (Susan Bueno) นักวิจัยจากสถาบันสหสวรรษแห่งภูมิคุ้มกันวิทยาและภูมิคุ้มกันบำบัด (IMII) กล่าวว่า วัคซีนซิโนแวค ส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันที่สร้างแอนติบอดีต่อส่วนประกอบต่าง ๆ ของไวรัสโควิด-19 หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ SARS-CoV-2 เนื่องจากวัคซีนสร้างมาจากตัวไวรัสทั้งหมด ดังนั้นการตอบสนองจึงหลีกเลี่ยงได้ยากกว่าสำหรับไวรัส

เมื่อผ่านไปแล้ว 6 เดือนหลังการฉีดวัคซีน กลุ่มตัวอย่างยังคงตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโควิด-19 ในร่างกาย แต่การตอบสนองต่อไวรัสนั้นต่ำลงกว่าเดิม ซึ่ง อเล็กซิส คาเลอร์จิส (Alexis Kalergis) ผู้อำนวยการ IMII กล่าวว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากวัคซีนยังมีผลป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่ แม้จะเพียงบางส่วนก็ตาม

การลดลงตามธรรมชาติของแอนติบอดีหลังการฉีดวัคซีน เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการฉีดวัคซีนกระตุ้นเพื่อชดเชย อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขของชิลีอยู่ระหว่างการประเมินการให้วัคซีนเข็มที่ 3

ซิโนแวคเป็นวัคซีนหลักที่ฉีดให้กับประชาชนชาวชิลี โดย ณ วันที่ 9 ก.ค. 2564 มีเพียง 10 คนเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 โดยถือเป็นมาตรการพิเศษสำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2564 เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยคาทอลิกสังฆราชแห่งชิลี เผยแพร่บทความ Estudio UC indica que inmunidad por CoronaVac se sigue detectando a los seis meses de primera dosis อ้างการเปิดเผยของ คาเลอร์จิส ว่า เมื่อฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ 2 จะเกิดแอนติบอดีที่ทำให้ไวรัสเป็นกลาง ซึ่งมีประสิทธิภาพสำหรับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม กล่าวคือ มันสามารถป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ และมีประสิทธิภาพบางส่วนสำหรับไวรัสกลายพันธุ์ทั้งอัลฟา เบตา แกมมา และเชื้อกลายพันธุ์รหัส B.1.617 ซึ่งมีลักษณะคล้ายไวรัสกลายพันธุ์สายเดลตา (อินเดีย)

ซิโนแวค

ฉีดห่าง 1 เดือนมีประสิทธิภาพสูง

งานวิจัยชื่อ CoronaVac03CL นี้ทำการทดลองกับอาสาสมัครกว่า 2,000 คน อายุ 18 ปีขึ้นไปที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ฉีดเข็มแรกกับเข็มสองห่างกัน 14 วัน และห่างกัน 28 วัน และสอดคล้องกับการวิเคราะห์ภูมิคุ้มกันเป็นหลัก พบว่า การฉีดโดยเว้นระยะห่างกัน 28 วัน มีผลดีกว่าในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่ง อิกนาซิโอ ชานเชส (Ignacio Sanchez) อธิการบดีมหาวิทยาลัยคาทอลิกสังฆราชแห่งชิลี กล่าวว่า ผลวิจัยชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการฉีดวัคซีนในการป้องกันอาการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต และระดับแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะในกลุ่มที่ฉีดห่างกัน 1 เดือน เป็นทางที่ถูกเลือกในที่สุด

ตั้งแต่ 2 สัปดาห์หลังการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 แอนติบอดีและภูมิคุ้มกันของเซลล์จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก การศึกษายังแสดงให้เห็นว่าระดับเหล่านี้ยังคงสูง แต่เมื่อการวัด 6 เดือน ระดับแอนติบอดีและภูมิคุ้มกันของเซลล์จะเริ่มลดลง การลดลงนี้มีความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม มันยังคงรักษาระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับการเริ่มต้นของการฉีดวัคซีน การค้นพบนี้ไปในทางที่แนะนำให้ใช้การฉีดกระตุ้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึงการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 นั่นจะเป็นข้อเสนอแนะที่มหาวิทยาลัยจะมอบให้กระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการที่ปรึกษา

ด้านความปลอดภัยในการใช้วัคซีนซิโนแวคนั้น ผลข้างเคียงที่พบมักเป็นเพียงอาการเจ็บปวดบริเวณแขนข้างที่ฉีดซึ่งจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน และไม่มีรายงานผลข้างเคียงที่มีอาการรุนแรงแต่อย่างใด จึงสรุปได้ว่าซิโนแวคเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย โดยซิโนแวคเป็นวัคซีนประเภทเชื้อตาย ซึ่งเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ใช้ผลิตวัคซีน ซึ่งวัคซีนเชื้อตายจะทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ไม่สามารถก่อให้เกิดโรคได้

ซิโนแวค

ซิโนแวคเข็ม 3 เพิ่มภูมิคุ้มกัน

หากมองในมุมภูมิคุ้มกันวิทยา ข้อดีคือมันเป็นวัคซีนที่ครอบคลุมโปรตีนทั้งหมดของไวรัส จึงตอบสนองได้ครอบคลุมเพราะรู้จักทุกส่วนของไวรัส โดย คาเลอร์จิส อธิบายว่า สิ่งนี้เป็นประโยชน์ในการรับมือเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ เพราะภูมิคุ้มกันจากวัคซีนไม่ได้มุ่งไปที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของไวรัส ส่วนการให้วัคซีนเสริมกระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 นั้น ข้อมูลนี้ค่อนข้างสนับสนุน เพื่อรักษาภูมิคุ้มกันและแอนติบอดีให้อยู่ในระดับสูง เนื่องจากขณะนี้อยู่ในสถานกาณณ์การระบาดสูงประกอบกับมีการปรากฏของไวรัสกลายพันธุ์บ่อยครั้ง และอาจทำให้เกิดการระบาดมากขึ้นและแตกต่างออกไปจากสายพันธุ์เดิม

การมีระดับแอนติบอดีและทีลิมโฟไซต์เพื่อต้านไวรัสโควิด-19 ในระดับสูงหลังการฉีดวัคซีนและฉีดเข็มกระตุ้นเสริม จะเพิ่มความสามารถในการป้องกันของภูมิคุ้มกัน

สิ่งสำคัญคือต้องคำนึกว่าไวรัสกลายพันธุ์ต่างๆ สามารถลดทอนประสิทธิภาพของวัคซีน ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการเพิ่มภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างการตอบสนองต่อภูมิคุ้นกันของไวรัส ซึ่งสามารถลดลงได้เมื่อเวลาผ่านไป

ส่วนกรณีประสิทธิภาพของวัคซีนต่อไวรัสสายดลตา บูเอโน ระบุว่า จากการทดสอบในหลอดทดลองกับไวรัสที่มีลักษณะเดียวกับเชื้อสายเดลตา พบประสิทธิภาพในการทำให้ไวรัสเป็นกลางน้อยกว่าประสิทธิภาพต่อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม 4 เท่า

อ่านข่าวเพิ่มเติม:

Avatar photo