COVID-19

จีนโต้กลับเสียงวิจารณ์ โชว์สถิติ ‘ซิโนแวค’ เป็นเลิศ!!

“สถานเอกอัครราชทูตจีน” ในศรีลังกา ทวีตข้อความตอบโต้ “รอยเตอร์” ที่เสนอข่าวบุคลากรทางการแพทย์ไทยติดเชื้อโรคโควิด-19 หลายร้อยคน แม้จะได้รับวัคซีนซิโนแวค ครบทั้ง 2 โดสแล้วก็ตาม

บีบีซี รายงานว่า ในทวิตเตอร์ ที่สถานทูตจีน ในศรีลังกาโพสต์ไว้เมื่อวานนี้ (11 ก.ค.) มีข้อความเชิงตำหนิสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่รายงานอ้างกระทรวงสาธารณสุขไทยว่า มีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์กว่า 600 คน ติดเชื้อไวรัสโควิด แม้ได้รับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac)ครบถ้วนแล้ว และทางการกำลังพิจารณาฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่เจ้าหน้าที่

ซิโนแวค

ทวิตเตอร์สถานทูตจีน ระบุว่า รอยเตอร์นำเสนอตัวเลขดังกล่าว ในทางที่อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด พร้อมชี้ว่า ควรนำเสนออัตราประสิทธิภาพที่แท้จริงของวัคซีน Sinovac มากกว่า

“พยายามดีมากรอยเตอร์ แต่ทำไม่ถึงไม่แสดงอัตราประสิทธิภาพที่แท้จริง (ของวัคซีน) แทนการพาดหัวข่าว ที่สร้างความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง พวกคุณมีจุดประสงค์อะไรกันแน่”

ทวิตเตอร์สถานทูตจีนพยายามเทียบข้อมูลให้เห็นถึงจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไทย 677,348 คน ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ ครบ 2 โดส กับจำนวนผู้ติดโควิด 618 คน ที่รอยเตอร์นำเสนอ

” Sinovac แสดงให้เห็นว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 ได้ 99.9078% และมีประสิทธิภาพ 99.999% ในการป้องกันการเสียชีวิต และการป่วยรุนแรง ให้แก่บุคลากรการแพทย์ในไทย 677,348 คน” ทวิตเตอร์สถานทูตจีนในศรีลังการะบุ

ซิโนแวค

นักการทูตตะวันตกมองว่า การกระทำเช่นนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “การทูตของนักรบหมาป่า” (wolf warrior diplomacy) ซึ่งหมายถึง การที่นักการทูตระดับสูงของจีนตอบโต้ทันควัน แฝงด้วยน้ำเสียงเสียดสี แข็งกร้าว ตรงไปตรงมา ต่อชาติที่กล่าวหาจีน ในประเทศที่พวกเขาประจำการอยู่ หรือใกล้เคียง

ชื่อของ “กองพันหมาป่า” มาจากภาพยนตร์จีนยอดนิยม 2 เรื่อง Wolf Warrior และ Wolf Warrior 2 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ หน่วยรบพิเศษของจีน ที่ออกมาปราบปรามสกัดการรุกรานของทหารรับจ้างชาวอเมริกัน และได้รับความนิยมมากในจีน

ทั้งนี้ การตอบโต้ข้างต้นมีขึ้น หลังจากไทยแถลงว่า มีบุคลากรทางการแพทย์ติดโควิดแล้ว 880 ราย แม้ฉีดวัคซีนแล้ว 97%

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยอมรับว่า การระบาดในระลอกเดือนเมษายน ถึงวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีรายงานผู้ติดเชื้อในกลุ่มบุคลากรการแพทย์จำนวน 880 ราย ในจำนวนนั้นราว 19.7% ไม่มีประวัติรับวัคซีนต้านโควิด-19

ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง โดย 54% เป็นพยาบาล และผู้ช่วยพยาบาล รองลงมาคือ บุคลากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วย จำนวน 28% ตามมาด้วยแพทย์/ทันตแพทย์ (7%) และ แม่บ้าน (6%)  ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-39 ปี

บุคลากรทางการแพทย์ของไทย ได้รับวัคซีนไปแล้วมากกว่า 97% จากเป้าหมายทั้งหมดราว 700,000 คน โดยมีรายงานว่า มีบุคลากรทางการแพทย์เสียชีวิตแล้ว 7 ราย ในจำนวนนั้น ไม่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 จำนวน 5 ราย ได้รับวัคซีนซิโนแวคไม่ครบจำนวน 1 ราย และได้รับวัคซีนซิโนแวคครบโดสอีก 1 ราย

อย่างไรก็ตาม รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น เพื่อให้เห็นความสำคัญของการรับวัคซีน และยังยืนยันว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนมีโอกาสป่วยรุนแรงน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ไวรัส ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จากเดิมที่เป็นสายพันธุ์อัลฟา มาเป็นสายพันธุ์เดลตา จึงทำให้การป้องกันโดยวัคซีน Sinovac อาจจะไม่ได้ผลดีเท่าเชื้อเดิม

ดังนั้นผู้ที่รับวัคซีนยี่ห้อนี้ 2 เข็มไปแล้ว โดยเฉพาะบุคลากรทางแพทย์จำเป็นต้องได้วัคซีนกระตุ้นอีกหนึ่งเข็ม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo