COVID-19

จำเป็นแค่ไหน ที่ต้องฉีด ‘วัคซีนโควิดโดส 3’

การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้น จนก่อให้เกิดสายพันธุ์ต่าง ๆ  ที่มีความรุนแรง และความรวดเร็ว ในการแพร่ระบาดแตกต่างกันออกไปนั้น และทำให้หลาประเทศ ต้องเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ ทำให้เกิดความกังวลไปทั่วโลกว่า วัคซีนที่ใช้อยู่ในขณะนี้ จะไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์นี้ได้ 

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการพูดถึง การฉีด “วัคซีนโควิดโดส 3” กันมากขึ้น และมีประเทศ หรือดินแดนจำนวนหนึ่งที่เดินหน้าในเรื่องนี้ไปแล้ว อย่าง ตุรกี ที่เริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มที่ 3 ให้กับประชาชนบางกลุ่ม ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

นายฟาห์เรตติน โคกา รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ตุรกี เปิดเผยว่า ตุรกีจะฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 ให้กับแรงงานด้านสาธารณสุข และบุคคลที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

วัคซีนโควิดโดส 3

วัคซีนโควิดโดส 3 นี้ จะไม่เกี่ยวกับว่า 2 โดสที่ฉีดมาก่อนหน้านั้น จะเป็นยี่ห้ออะไร โดยผู้ที่จะฉีดในโดส 3 นี้ สามารถเลือกยี่ห้อในการฉีดได้ ซึ่งปัจจุบัน ตุรกีใช้ทั้งวัคซีนของไฟเซอร์ และของซิโนแวค

กระทรวงสาธารณสุขตุรกี บอกด้วยว่า ตัดสินใจที่จะให้คน 2 กลุ่มนี้ ฉีดวัคซีนโดสที่ 3 ก่อนกลุ่มอื่น เพราะเป็นกลุ่มที่ได้วัคซีน 2 โดสแรก ไปเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ตุรกีมีแค่วัคซีนซิโนแวคเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี บีบีซี รายงานว่า ตุรกีไม่ใช่ประเทศแรกที่ทำเช่นนี้  “บาห์เรน” เริ่มให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นโดสที่ 3 สำหรับคนที่ได้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์ม ของจีน ไป 2 เข็มแล้ว ส่วน “สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์” ได้เริ่มให้วัคซีนซิโนฟาร์มเป็นโดสที่ 3 แล้ว เพราะแพทย์บอกว่าวัคซีนที่ทำจากจีนตัวนี้ ไม่ได้กระตุ้นแอนติบอดีมากพอในบางกรณี

ก่อนหน้านี้ อังกฤษ ก็บอกว่าอาจมีการให้วัคซีนโดสที่ 3 กับกลุ่มคนที่เปราะบางหลายล้านคน ตั้งแต่เดือนกันยายน เป็นต้นไป

คณะกรรมการร่วมว่าด้วยการฉีดวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันโรค (Joint Committee on Vaccination and Immunisation – JCVI) ซึ่งเป็นกลุ่มให้คำแนะนำเกี่ยวกับวัคซีนของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ระบุว่า ควรให้วัคซีนโดสที่ 3 แก่ประชาชน เพื่อขยายประสิทธิภาพของวัคซีน 2 โดสแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนจะเข้าฤดูหนาว โดยคณะกรรมการร่วม  เตรียมที่จะตีพิมพ์แผนในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนเดือนกันยายน  ก.ย.

แผนขั้นสุดท้ายดังกล่าว จะพิจารณาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ข้อมูลจากการทดลองต่าง ๆ อาทิ โครงการ “โคฟ-บูสต์” (CoV-Boost) ซึ่งเป็นการทดลองให้วัคซีนโดสที่ 3  ประสิทธิภาพของวัคซีนเมื่อเวลาผ่านไป และโควิดกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาใหม่

วัคซีนโควิดโดส 3

คณะกรรมการร่วม ชี้ว่า คนที่ควรจะได้รับวัคซีนโดสที่สามได้แก่

  • ผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่า 50 ปี
  • ผู้ใหญ่ที่อายุตั้งแต่ 16-49 ปี ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจากไข้หวัดใหญ่ และโควิด
  • ผู้ใหญ่ทุกคนที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

สำหรับคนวัยหนุ่มสาวซึ่งเพิ่งได้รับวัคซีนโดสที่ 2 ไปนั้น เมื่อถึงเวลาดังกล่าว ยังคงมีภูมิคุ้มกันอยู่ ดังนั้นก็จะพิจารณาให้วัคซีนโดสที่สามทีหลัง

วัคซีนโควิดโดส 3 สู้กับสายพันธุ์เดลตาได้ไหม

เชื่อกันว่าโควิดสายพันธุ์เดลตา แพร่ระบาดง่ายกว่าสายพันธุ์อัลฟาราว 60% และเชื่อกันว่า มีโอกาสทำให้ผู้ติดเชื้อต้องเข้าโรงพยาบาลมากกว่า 2 เท่า

อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์โดยสำนักงานสาธารณสุขอังกฤษ (Public Health England หรือ PHE) ชี้ว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือไฟเซอร์ 2 โดสเพียงพอที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล

ขณะนี้ ทีมวิจัยอ็อกซ์ฟอร์ด ได้เริ่มทดลองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ารุ่นใหม่ ที่ทำขึ้นเพื่อจัดการกับสายพันธุ์เบตา หรือที่พบครั้งแรกที่แอฟริกาใต้ กับอาสาสมัครแล้ว และจะทราบผลภายในปีนี้

โคฟ-บูสต์ คืออะไร

โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลสหราชอาณาจักร ซึ่งจะใช้อาสาสมัครทุกกลุ่มอายุจำนวน 3,000 คน จากสถานที่ 18 แห่งทั่วประเทศ โดยคนกลุ่มนี้ต้องเป็นผู้ที่รับวัคซีนโควิดโดสแรกไปในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว หรือเดือนมกราคมที่ผ่านมา

อาสาสมัครจะต้องเขียนบันทึกเพื่อรายงานผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนโดสที่ 3 โดยละเอียด และเจ้าหน้าที่จะติดตามทดสอบประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันหลังจากนั้นเป็นระยะ ทั้งในช่วงหลังฉีดไปแล้ว 1 เดือน 3 เดือน และ 12 เดือน โดยจะเก็บตัวอย่างเลือดมาวิเคราะห์ว่า มีแอนติบอดีเกิดขึ้นในระดับที่สูงพอหรือไม่

วัคซีนโควิดโดส 3

การทดสอบนี้จะทำกับวัคซีนโควิด ที่สหราชอาณาจักรได้สั่งซื้อมาใช้แล้วทั้ง 7 ยี่ห้อ ได้แก่

  • แอสตร้าเซนเนก้า
  • โมเดอร์นา
  • ไฟเซอร์
  • โนวาแวกซ์
  • แจนเซ่น  ในเครือจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
  • วัลนีวา
  • เคียวแวค

นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการทดลองโคฟ-บูสต์ ระบุว่า แม้วัคซีนโดสที่ 3 นี้จะเป็นวัคซีนโควิดแบบธรรมดา ที่ยังไม่ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อต้านไวรัสกลายพันธุ์ แต่คาดว่า วัคซีนที่ฉีดเสริมจะช่วยกระตุ้นให้มีแอนติบอดีเพิ่มขึ้นมากพอ จนสามารถต้านทานไวรัสกลายพันธุ์ทุกรูปแบบที่แพร่ระบาดอยู่ได้

นายซอล เฟาสต์ จากมหาวิทยาลัยเซาแทมป์ตัน ผู้นำทีมวิจัยของโครงการทดลองโคฟ-บูสต์ บอกว่า การทดลองนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อตัดสินว่าวัคซีนตัวใดดีกว่ากัน แต่ทำเพื่อดูว่า มีความจำเป็นต้องให้วัคซีนโดสที่ 3 หรือไม่ เพราะบางกลุ่มอายุอาจไม่จำเป็นต้องใช้วัคซีนเสริมนี้ แต่บางกลุ่มก็อาจมีความจำเป็นอยู่ คาดว่าผลทดลองที่ได้จากวัคซีนทุกตัวจะไม่มีผลข้างเคียงร้ายแรงใด ๆ ตามมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo