COVID-19

‘เยอรมนี’ แนะฉีด ‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’ เข็ม 2 สู้ ‘สายพันธุ์เดลตา’

“เยอรมนี” แนะประชาชนเลือกฉีดวัคซีนป้องกันโควิด “ไฟเซอร์” หรือ “โมเดอร์นา” เป็นเข็มที่ 2 หากฉีดวัคซีน “แอสตร้าเซนเนก้า” เป็นเข็มแรกแล้ว เพื่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์ “สายพันธุ์เดลตา”

คณะกรรมการด้านวัคซีนของเยอรมนี ระบุว่า ผลการทดลองแสดงให้เห็นว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการผสมวัคซีนดังกล่าวนั้น “สูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด” เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม

เยอรมนี ดำเนินการทดสอบวัคซีนแบบผสมดังกล่าว หลังพบว่าสตรีหลายคนมีอาการข้างเคียง เมื่อได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว ซึ่งนางแองเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เป็น 1 ในผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างยี่ห้อกัน โดยฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก ส่วนเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนของโมเดอร์นา

สายพันธุ์เดลตา

สายพันธุ์เดลตา อันตราย กลายพันธุ์ได้ต่อเนื่อง

การออกมาให้คำแนะนำดังกล่าวมีขึ้น หลังเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 ก.ค.) นายเทโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการ องค์การอนามัยโลก (WHO)  เตือนว่าเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้มีอันตราย และยังสามารถกลายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องมีการประเมินสถานการณ์ และปรับเปลี่ยนการตอบสนองด้านสาธารณสุขอยู่ตลอดเวลา

ผู้นำนวยการ WHO บอกด้วยว่า เวลานี้พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้แล้วในอย่างน้อย 98 ประเทศ และมีอัตราการระบาดอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงและต่ำ ทำให้จำเป็นต้องนำมาตรการควบคุมการระบาดกลับมาใช้อีกครั้ง และประเทศต่าง ๆ ต้องร่วมมือกัน แบ่งปันอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น รวมทั้งวัคซีน และยาต้านโควิดด้วย

นายเกเบรเยซุส ยืนยันว่า ได้แจ้งไปยังผู้นำประเทศต่าง ๆ แล้วว่า จำเป็นต้องฉีดวัคซีนให้ประชาชนให้ได้อย่างน้อย 70% ภายในช่วงฤดูร้อนของปีหน้า ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะชะลอการระบาด รักษาชีวิตของประชาชน และทำให้เศรษฐกิจโลกเดินหน้าได้อีกครั้ง  โดยตั้งเป้าว่า ทุกประเทศจะต้องสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศตนได้ถึง 10% ก่อนสิ้นเดือนกันยายนนี้

ฉีด 3 เข็ม สกัด 3 สายพันธุ์

ทางด้าน แอสตร้าเซนเนก้า ก็ได้เปิดเผยผลการวิเคราะห์ย่อย จากการทดลองใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท ที่แสดงให้เห็นว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง ทั้งจากการเว้นระยะการฉีดวัคซีนโดสแรก และโดสที่ 2 เป็นระยะเวลากว่า 45 สัปดาห์ และการฉีดวัคซีนโดสที่ 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

นายแอนดริว เจ พอลลาร์ด หัวหน้าฝ่ายสืบสวน และผู้อำนวยการกลุ่มวัคซีน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ผู้นำทีมทดลองดังกล่าว ระบุว่า ประเทศที่ยังมีวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในปริมาณน้อย และอาจกำลังกังวลต่อความล่าช้า ในการจัดหาวัคซีนโดสที่ 2 สำหรับประชาชนในประเทศ จะมั่นใจ และลดความกังวลได้ เพราะพบว่า แม้จะเว้นระยะห่างจากโดสแรกนานกว่า 10 เดือน วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าโดสที่ 2 ก็สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดฉบับก่อนหน้านี้ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร เดอะ แลนเซต ระบุว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส มีผลทำให้ระดับแอนติบอดีในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี

การเว้นระยะในการฉีดวัคซีนวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าโดสแรก และโดสที่ 2 ห่างกันนาน 45 สัปดาห์ มีผลกระตุ้นให้ระดับแอนติบอดีในร่างกายเพิ่มขึ้นถึง 18 เท่า

สายพันธุ์เดลตา

เมื่อมีการอ่านค่าแอนติบอดี 28 วันภายหลังการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 พบว่าระดับแอนติบอดีจากการเว้นระยะ ระหว่างวัคซีนโดสแรก และโดสที่ 2 นาน 45 สัปดาห์ มีสูงกว่าระดับแอนติบอดี จากการเว้นระยะห่างระหว่างโดส 12 สัปดาห์ ถึง 4 เท่า บ่งชี้ว่าการเว้นระยะห่างระหว่างโดสที่นานขึ้นไม่ก่อให้เกิดผลเชิงลบ แต่ช่วยกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นได้

นอกจากนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า โดสที่ 3 ห่างจากโดสที่ 2 เป็นระยะเวลา 6 เดือน สามารถกระตุ้นระดับแอนติบอดีให้เพิ่มขึ้นได้ 6 เท่า และส่งเสริมการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดที่เซลล์ในร่างกาย

อีกทั้งยังพบว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ แอสตร้าเซนเนก้าโดสที่ 3 มีศักยภาพสูงขึ้นในการป้องกันไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7 หรือสายพันธุ์เคนท์), สายพันธุ์เบตา (B.1.351 หรือสายพันธุ์แอฟริกาใต้) และสายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2 หรือสายพันธุ์อินเดีย)

สายพันธุ์เดลตา

ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าโดสที่ 2 ซึ่งเว้นระยะห่างขึ้น และโดสที่ 3 พบการเกิดอาการข้างเคียง ที่ไม่พึงประสงค์ต่ำกว่าการฉีดวัคซีนโดสแรก

ทางด้าน นายเมเน แพนกาลอส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัย และพัฒนาด้านยาชีวเภสัชภัณฑ์ของแอสตร้าเซนเนก้า กล่าวว่า การค้นพบว่าวัคซีนของเรา สามารถกระตุ้นให้เกิดระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและยาวนาน มีความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันในระยะยาว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo