COVID-19

เปิดชื่อประเทศ ฉีดวัคซีนโควิด 2 เข็ม ต่างยี่ห้อ ‘อังกฤษ’ โชว์ผลศึกษา ได้ผลดี

“อ็อกซ์ฟอร์ด” เปิดผลวิจัยกลุ่มอาสาสมัคร ที่แสดงให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 2 เข็ม ต่างยี่ห้อกัน สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี  แต่การทดลองอาจยังไม่ครอบคลุมพอ ที่จะนำมาใช้แทนการฉีดวัคซีนแบบเดิมในขณะนี้ 

มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ของอังกฤษ เปิดเผยผลทดลอง ฉีดวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 เข็ม ในรูปแบบที่ต่างกันออกไปให้กับกลุ่มอาสาสมัคร 830 คน  โดยมีทั้งฉีดวัคซีนโควิดของแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม, ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม, ฉีดไฟเซอร์ 1 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม และฉีดแอสตร้าเซนเนก้า 1 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์อีก 1 เข็ม

ฉีดวัคซีนโควิด

ผลการทดลองพบว่า การฉีดวัคซีนทั้ง 4 แบบ กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน หรือ แอนติบอดี ต่อเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ดีทั้งหมด โดยการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าก่อน แล้วต่อด้วยไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 จะกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน และการตอบสนองของเซลล์ภูมิต้านทานชนิด “ทีเซลล์” ได้มากกว่าการฉีดไฟเซอร์เป็นเข็มแรก แล้วต่อด้วยแอสตร้าเซนเนก้า

การฉีดวัคซีน 2 ยี่ห้อสลับกันทั้ง 2 วิธี กระตุ้นให้ร่างกายสร้างแอนติบอดีได้มากกว่าการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มตามปกติ แต่ยังไม่มากเท่าการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ส่วนการฉีดแอสตร้าเซนเนกาตามด้วยไฟเซอร์ กระตุ้นการตอบสนองของทีเซลล์ได้ดีที่สุด

นักวิจัยระบุว่า ข้อมูลดังกล่าวจะเปิดทางให้แผนการปูพรมฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศต่าง ๆ ยืดหยุ่นมากขึ้น ในกรณีที่วัคซีนมีไม่เพียงพอ แต่ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ทดแทนแผนการฉีดวัคซีนเดิมทั้งหมด ซึ่งผ่านขั้นตอนการทดสอบทางคลินิกมาอย่างครอบคลุมมากกว่า

ก่อนหน้านี้ เยอรมนี และสเปน เริ่มฉีดวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นาเป็นวัคซีนเข็มที่ 2 ให้แก่กลุ่มคนอายุน้อย ที่ฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรกไปแล้ว เนื่องจากข้อกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

เปิดรายชื่อชาติฉีดวัคซีนโควิดต่างยี่ห้อทั่วโลก

ทั้งนี้ ภาวะการขาดแคลนวัคซีนป้องกันโควิด รวมถึง ความกังวลในประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้อยู่ เป็นสาเหตุหลัก ๆ  ที่ทำให้หลายประเทศ หันมาทดลองวิธีการฉีดวัคซีนแบบต่างยี่ห้อกัน 2 เข็ม หรือฉีดวัคซีนต่างยี่ห้อเป็นเข็มที่ 3 แม้จะยังไม่มีผลการศึกษาที่ออกมายืนยันถึงประสิทธิภาพของวิธีการนี้อย่างชัดเจนก็ตาม

  • บาห์เรน

บาห์เรนประกาศเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ให้บุคคลที่ผ่านการรับรองจากแพทย์ สามารถรับการฉีดวัคซีนกระตุ้นจากบริษัท ไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค และซิโนฟาร์มได้ โดยไม่ต้องสนใจว่า ก่อนหน้านั้น จะเคยฉีดวัคซีนโควิดยี่ห้อใดมา

  • แคนาดา

คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านภูมิคุ้มกันแห่งชาติแคนาดา (NACI) ประกาศเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา แนะนำรัฐต่าง ๆ  ของแคนาดาว่า สามารถเปลี่ยนวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นยี่ห้ออื่น ให้กับบุคคลที่ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก ถ้าหากผู้รับวัคซีนต้องการ

  • อิตาลี

องค์การอาหารและยา อิตาลี (AIFA) อนุญาตให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งฉีดวัคซีนโควิดของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มแรก สามารถเลือกรับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นยี่ห้ออื่นได้

  • รัสเซีย

กองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงแห่งรัสเซีย (RDIF)  เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า จะเริ่มดำเนินการทดลองการฉีดวัคซีนโควิดสลับยี่ห้อ ระหว่างสปุตนิก-วี กับวัคซีนหลายยี่ห้อจากประเทศจีน ในกลุ่มชาติอาหรับ โดยเบื้องต้นไม่พบว่า การฉีดแอสตร้าเซนเนก้า แล้วตามด้วยสปุตนิก-วี จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงทางลบ

ฉีดวัคซีนโควิด

  • เกาหลีใต้

เกาหลีใต้ประกาศว่า บุคคลที่ฉีดวัคซีนโควิด ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มแรก จำนวน 760,000 คน จะได้ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค ในเข็มที่ 2 เพราะ
โครงการโคแวกซ์ (COVAX) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) จัดส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าล่าช้ากว่ากำหนด

  • สเปน

นางคาโรลินา เดไรเอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จะอนุญาตให้บุคคลอายุต่ำกว่า 60 ปี ซึ่งฉีดวัคซีนโควิด ของแอสตร้าเซนเนก้า เป็นเข็มแรก สามารถเลือกรับวัคซีนเข็มที่ 2 จากยี่ห้อเดิม หรือเปลี่ยนยี่ห้อเป็นไฟเซอร์/ไบโอเอนเทคก็ได้

  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

ยูเออี ประกาศจะใช้วัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค ในการฉีดกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ในบุคคลที่ได้รับวัคซีนจากซิโนฟาร์มของจีนครบ 2 เข็มแล้ว

  • สหราชอาณาจักร

บริษัท โนวาแว็กซ์ ผู้พัฒนาวัคซีนโปรตีน ซับ-ยูนิต ตัวใหม่จากสหรัฐอเมริกา ประกาศเข้าร่วมโครงการศึกษาการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ (Com-Cov) ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะที่ผลศึกษาล่าสุด พบว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าไปไฟเซอร์นั้นได้ผลดีกว่าการฉีดแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม

  • สหรัฐ

สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐ (NIH) ประกาศเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ประกาศเริ่มโครงการทดลองตรวจวัดความปลอดภัย และประสิทธิภาพภูมิคุ้มกันในบุคคลที่ได้รับวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันสลับยี่ห้อจากหลากหลายผู้พัฒนาทั่วโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo