COVID-19

สหรัฐสั่ง ‘ไฟเซอร์-โมเดอร์นา’ เพิ่มคำเตือน ‘กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ’ ผลข้างเคียงฉีด ‘วัคซีนโควิด’

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาการล่าสุด ที่ อย.สหรัฐ สั่ง 2 บริษัทเวชภัณฑ์ชื่อดัง “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” เพิ่มเข้าไปในหัวข้อผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ในเอกสารกำกับการใช้งาน หลังพบมีผู้ฉีดวัคซีนที่ทั้ง 2 บริษัทพัฒนาขึ้น เกิดอาการนี้มากกว่า 1,200 คน 

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานเมื่อเร็ว ๆ  นี้ว่า คณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (เอฟดีเอ) มีคำสั่งให้เพิ่มคำเตือนบนเอกสารกำกับการใช้งาน วัคซีนป้องกันโควิด ของไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค และโมเดอร์นา เกี่ยวกับการเกิดภาวะ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ และตามปกติดเกิดขึ้นได้ยาก ในกลุ่มคนหนุ่มสาว ที่ได้รับการฉีดวัคซีน

เอฟดีเอ สหรัฐ ระบุว่า การทบทวนเอกสารข้อเท็จจริงด้านสุขภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่ออกคำเตือนเพิ่มเติม เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเยื้อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ซึ่งพบว่า อาการจะปรากฏภายใน 2-3 วันหลังได้รับวัคซีน

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ อาจเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน

ทั้งนี้ มีการอ้างอิงถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมา จากระบบรายงานผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน (Vaccine Adverse Event Report System : VAERS) พบผู้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ รวมกว่า 1,200 เคน ในสหรัฐ จากจำนวนวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (mRNA) ที่ฉีดไปแล้วประมาณ 300 ล้านโดส

ทางด้านไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อเรื่องนี้

ก่อนหน้านั้น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐ (ซีดีซี) รายงานจำนวนผู้เข้ารักษาตัวในโรคพยาบาล ด้วยอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีนรวมทั้งสิ้น 309 ราย เกือบทั้งหมดเป็นบุคคลอายุต่ำกว่า 30 ปี และเป็นเพศชาย มากกว่าเพศหญิง ในจำนวนนี้มีอยู่ 295 รายที่รักษาหาย และได้กลับบ้านแล้ว

ขณะเดียวกันหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขภาพในหลายประเทศ ก็กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบกรณีเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ที่มีความเชื่อมโยงกับวัคซีนไฟเซอร์ และโมเดอร์นา ซึ่งผลิตด้วยเทคโนโลยี mRNA โดยส่วนมากพบเกิดกับผู้ชายที่มีอายุน้อย

รายงานของซีดีซี ระบุด้วยว่า พบผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบราว 1,200 ราย ในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ประเภท mRNA  แต่หลังจากตัวเลขนี้ถูกเผยแพร่ออกไป เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสาธารณสุขของสหรัฐ คณะเจ้าหน้าที่ควบคุมกฎระเบียบ และคณะแพทย์ ต่างออกมาย้ำว่า ความเป็นไปได้ของความเสี่ยงจากวัคซีนที่พัฒนาโดยไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค และโมเดอร์นา อยู่ในระดับต่ำมาก ๆ และไวรัสโควิด-19 ก็เป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชน มากกว่าวัคซีนหลายเท่า

ทั้งนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษา ซึ่งทำหน้าที่กำหนดหลักปฏิบัติภูมิคุ้มกันโรค ของซีดีซี พบว่า มีความเป็นไปได้ที่ อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในคนหนุ่มสาว และเยาวชน จะเชื่อมโยงกับการฉีดวัคซีน  แต่ย้ำว่า ผลประโยชน์ของวัคซีน มีมากกว่าความเสี่ยงอย่างชัดเจน

คณะผู้ควบคุมกฎระเบียบในหลายประเทศ กำลังอยู่ระหว่างสืบสวนว่าวัคซีนของไฟเซอร์/ไบโอเอนเทค และโมเดอร์นา ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ mRNA ก่อความเสี่ยงหรือไม่ และถ้ามี มันจะก่อความเสี่ยงร้ายแรงแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ทางซีดีซีระบุว่า บรรดาคนไข้ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีน จะฟื้นตัวจากอาการต่าง ๆ และกลับมาแข็งแรงดี

กระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐ พร้อมด้วย กลุ่มแพทย์ในสหรัฐ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ยังออกแถลงการณ์ร่วมกัน ให้ความมั่นใจว่า วัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ทั้งผลข้างเคียงเกี่ยวกับหัวใจ ก็เกิดขึ้นน้อยมากๆ

“เราสนับสนุนให้ทุกคน ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ที่มีสิทธิฉีดวัคซีนภายใต้ประกาศอนุมัติใช้ในกรณีฉุกเฉิน เข้ารับวัคซีน”

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

คำเตือนเกี่ยวกับการเกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ยังมีขึ้นท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับอัตราการฉีดวัคซีนที่ชะลอตัวในสหรัฐ โดยเวลานี้จำนวนอเมริกันชนเข้ารับวัคซีนโควิด-19 โดสแรก ลดลงมาจากระดับสูงสุดในช่วงกลางเดือนเมษายน ถึงราว ๆ 85% และมีความเป็นไปได้ที่จะพลาดเป้า ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ตั้งเป้าหมายฉีดวัคซีนประชาชนวัยผู้ใหญ่อย่างน้อย 70% ก่อนวันชาติสหรัฐ 4 กรกฎาคม

“บนพื้นฐานข้อมูลที่มี จะมีคำเตือนในเอกสารแสดงข้อเท็จจริงสำหรับทั้งผู้ให้บริการด้านดูแลสุขภาพ ผู้รับวัคซีนและผู้ดูแลผู้ป่วย” นายโดแรน ฟิงค์ รองผู้อำนวยการแผนกวัคซีนของเอฟดีเอ กล่าว ระหว่างการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษา พร้อมระบุว่า ทางผู้เชี่ยวชาญของเอฟดีเอ จะดำเนินการอย่างรวดเร็วถึงการเพิ่มเติมคำเตือนดังกล่าว

ขณะที่ นพ.ทอม ชิมาบูคูโร รองผู้อำนวยการสำนักความปลอดภัย การสร้างภูมิคุ้มกันแห่งซีดีซี ระบุว่า หนึ่งในข้อมูลที่พบจากระบบ (VSD) บ่งชี้ว่า ในกลุ่มคนอายุ 12-39 ปี พบผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในอัตรา 12.6 เคสต่อ 1 ล้านคน ในช่วง 3 สัปดาห์หลังจากฉีดวัคซีนโดสที่ 2

“เราสังเกตเห็นอาการป่วยข้างต้น ในกลุ่มคนอายุน้อย ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวอายุ 20 ปีต้น ๆ และพบในหมู่ผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งผลกระทบลักษณะนี้ ส่วนใหญ่แล้วไม่ค่อยมีในกลุ่มคนสูงวัย บุคคลอายุ 50 ปีขึ้นไป”

ซีดีซีดำเนินการสืบสวนมานานหลายเดือน เกี่ยวกับเคสกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบที่ส่วนใหญ่พบในคนหนุ่ม ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลเปิดเผยเมื่อช่วงกลางเดือนว่า พวกเขาพบความเป็นไปได้ที่เคสอาการดังกล่าวจะมีความเชื่อมโยงกับวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์

อย่างไรก็ตาม ทางซีดีซีระบุว่า พวกเขายังคงอยู่ระหว่างประเมินความเสี่ยงจากอาการดังกล่าว และไม่ยืนยันอย่างเจาะจงเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างวัคซีนกับอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

กระนั้นก็ตาม พวกเขายอมรับว่าเคสคนหนุ่มอายุระหว่าง 12-24 ปี ที่มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังฉีดวัคซีนโดสที่ 2 นั้น มีจำนวนมากกว่าที่คาดไว้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo