COVID-19

อินเดียอนุมัติ ‘ชุดทดสอบ’ เปิดทางประชาชน ‘ตรวจโควิด’ เองที่บ้าน

อินเดียอนุมัติ “ชุดทดสอบแอนติเจนชนิดเร็ว” เปิดทางประชาชน “ตรวจโควิด” เองที่บ้าน แต่ยอมรับมีโอกาสแสดงผลผิดพลาด

เจ้าหน้าที่รัฐระบุว่า สภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย (ICMR) ซึ่งเป็นองค์กรการวิจัยด้านสุขภาพชั้นนำของอินเดีย อนุมัติการใช้งานชุดทดสอบแอนติเจนชนิดเร็ว (RAT) เพื่อให้ชาวอินเดียสามารถตรวจโรคโควิด-19 ได้เองที่บ้าน

อินเดีย ตรวจโควิดเอง

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา สภาวิจัยฯ อนุมัติชุดทดสอบด้วยตนเอง (CoviSelf) หรืออุปกรณ์ โควิเซลฟ์ทีเอ็ม (พาโทแคตช์) โควิด-19 โอทีซี แอนติเจน แอลเอฟ (CoviSelfTM (PathoCatch) COVID-19 OTC Antigen LF) ซึ่งผลิตโดยบริษัท มายแลป ดิสคัฟเวอรี โซลูชันส์ ในเมืองปูเนของอินเดีย พร้อมออกแนวปฏิบัติอย่างละเอียดเกี่ยวกับการใช้งานและกลุ่มผู้ที่สามารถใช้งานได้

เจ้าหน้าที่รัฐระบุว่าชุดทดสอบนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระของห้องปฏิบัติการได้บางส่วน ขณะที่สภาวิจัยฯ ระบุว่า “เราแนะนำการใช้ชุดทดสอบแอนติเจนชนิดเร็วที่บ้านสำหรับผู้ที่ที่มีอาการป่วย หรือมีการติดต่อโดยตรงกับผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการเท่านั้น เราไม่แนะนำให้ใช้ชุดทดสอบตามอำเภอใจ”

“กลุ่มผู้มีอาการแต่มีผลตรวจจากชุดทดสอบชนิดนี้เป็นลบ ควรเข้ารับการทดสอบแบบอาร์ที-พีซีอาร์ โดยด่วน นี่เป็นสิ่งสำคัญมากเพราะชุดทดสอบอาจแสดงผลตรวจของผู้ป่วยบางคนผิดพลาด เนื่องจากมีปริมาณเชื้อไวรัสต่ำ”

สภาวิจัยฯ ระบุว่า ผู้ที่มีอาการป่วยแต่มีผลตรวจจากชุดทดสอบเป็นลบ อาจได้รับการรักษาในฐานะผู้ป่วยต้องสงสัย พร้อมแนะนำให้คนกลุ่มดังกล่าวปฏิบัติตามมาตรการขั้นพื้นฐานด้านการกักตัวที่บ้านระหว่างรอผลการทดสอบอาร์ที-พีซีอาร์

shutterstock 1758632429

ประชาชนสามารถใช้ชุดทดสอบแอนติเจนชนิดเร็วนี้ด้วยตนเองที่บ้านได้ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนในแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือที่สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งในกูเกิลเพลย์สโตร์ และแอปเปิลสโตร์

“แอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือระบุแนวปฏิบัติที่ครอบคลุมของขั้นตอนการทดสอบ และจะแสดงผลตรวจของผู้ป่วยว่าเป็นบวกหรือลบ หลังจากปฏิบัติตามขั้นตอนทดสอบเรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้ควรใช้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดิมเพื่อกดดูรูปภาพแผ่นตรวจเชื้อ”

ข้อมูลการทดสอบจะถูกเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ที่ปลอดภัยซึ่งเชื่อมต่อกับพอร์ทัลด้านการทดสอบโรคโควิด-19 ของสภาวิจัยฯ ที่ใช้เป็นแหล่งเก็บข้อมูลทั้งหมด โดยสภาวิจัยฯ ระบุว่าจะเก็บรักษาข้อมูลของผู้ป่วยไม่ให้รั่วไหล

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo