COVID-19

พิษโควิด! ‘สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส’ ขาดทุนแสนล้าน เล็งออก ‘หุ้นกู้แปลงสภาพ’

สายการบินแห่งชาติสิงคโปร์ “สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส” เปิดผลการดำเนินงาน ปีงบการเงิน 2563 ขาดทุนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 4,270 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 100,400 ล้านบาท พร้อมประกาศแผนออกหุ้นกู้แปลงสภาพ มูลค่า 6,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มสภาพคล่อง รับมือวิกฤติโควิด

ตัวเลขขาดทุนในช่วง 12 เดือน นับถึงวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา รุนแรงกว่าค่าเฉลี่ยคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ 8 รายก่อนหน้านี้ที่ 3,270 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยตัวเลขนี้ ยังรวมมูลค่าการด้อยค่าของสินทรัพย์จำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเครื่องบินรุ่นเก่า 45 ลำ

สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส

นอกจากนี้ ยังเป็นการขาดทุนที่สูงกว่า การขาดทุนในปีงบการเงิน 2562 ที่ 212 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์อย่างมาก ซึ่งในปีงบการเงิน 2562 นั้น เป็นครั้งแรกที่สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ตกอยู่ในภาวะขาดทุน แต่ที่มีปริมาณน้อย เพราะมีรายได้เพียงไตรมาสเดียว ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

บริษัทเผยว่า ในปีงบการเงินที่แล้ว บริษัทมีรายได้ลดลงถึง 76.1% มาอยู่ที่ 3,820 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งรายได้ที่แข็งแกร่งจากการบริการขนส่งสินค้า ไม่เพียงพอที่จะนำมาชดเชยกับจำนวนผู้โดยสารเครื่องบินที่ดิ่งลงถึง 98%

สายการบินรายนี้ ยังคาดการณ์ว่า ปริมาณผุ้โดยสารจะฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในสัดส่วน 28% ของจำนวนผู้โดยสารในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด ภายในเดือนมิถุนายนนี้ แต่การให้บริการส่วนใหญ่ ยังจะมาจากความต้องการขนส่งสินค้า ที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยรักษาจำนวนเที่ยวบินเอาไว้ได้ โดยในปีงบการเงิน 2563 สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา สายการบินมีจำนวนที่นั่งผู้โดยสารเพียง 13.4% เท่านั้น

นายปีเตอร์ เซียะห์ ประธานกรรมการบริหารสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ระบุว่า วิกฤตินี้ยังไม่จบ แม้การฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้มีความหวังเกิดขึ้นมา แต่การติดเชื้อระลอกใหม่ทั่วโลก หมายความว่า มาตรการควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศจะยังคงอยู่ต่อไปเป็นส่วนใหญ่

แถลงการณ์เปิดเผยด้วยว่า บริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้แปลงสภาพมูลค่า 6,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับการดำเนินงาน ซึ่งการออกหุ้นกู้แปลงสภาพนี้ ถือเป็นส่วนเสริมของมาตรการฟื้นฟูกิจการมูลค่า 15,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ของกลุ่มผู้ถือหุ้น นำโดย “เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์” บริษัทด้านการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของสายการบิน

ทั้งนี้ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ซึ่งไม่มีบริการในตลาดท้องถิ่น ถือเป็นสายการบินที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หนักสุดรายหนึ่งของโลก ในแง่ของปริมาณผู้โดยสาร เช่นเดียวกับสายการบินคู่แข่ง อย่าง “คาเธ่ย์ แปซิฟิก แอร์เวย์ส” ของฮ่องกง

ที่ผ่านมา สายการบินดำเนินมาตรการรับมือกับผลกระทบของไวรัสโควิด เช่นเดียวกับสายการบินอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การเลิกจ้าง เลื่อนการรับมอบเครื่องบิน เพิ่มหุ้น และกู้เงิน

สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส

เกี่ยวกับ สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส

บริษัทสายการบินในสิงคโปร์ มีท่าอากาศยานชางฮี เป็นท่าอากาศยานหลัก จัดว่ามีความแข็งแกร่งในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก เอเชียใต้ และ “เส้นทางจิงโจ้” (เส้นทางบินระหว่างประเทศในทวีปออสเตรเลีย กับสหราชอาณาจักร โดยผ่านซีกโลกตะวันออก)

นอกจากนี้ยังมีเที่ยวบินข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงเที่ยวบินตรงเชิงพาณิชย์ ที่ใช้เวลาบินนานที่สุดในโลก 2 เส้นทาง คือ จากสิงคโปร์ ไปนวร์ก และลอสแอนเจลิส ด้วยเครื่องบินแอร์บัส เอ 340-500

สิงคโปร์ แอร์ไลน์l เป็นสายบินแรกที่สั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 380 และนอกจากกิจการสายการบินแล้ว ยังขยายกิจการไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายการบิน เช่น การจัดการ และวิศวกรรมอากาศยาน มีสายการบินซิลค์แอร์ เป็นบริษัทสาขา ที่สิงคโปร์แอร์ไลน์เป็นเจ้าของทั้งหมด ให้บริการเที่ยวบินภายในภูมิภาค ไปยังเมืองที่มีความสำคัญระดับรอง และมีผู้โดยสารน้อยกว่า

นอกจากนี้ ยังมี สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส คาร์โก เป็นบริษัทสาขาที่ดำเนินการบินฝูงบินขนส่งสินค้า จัดการขนส่ง และจัดเก็บสัมภาระบนเครื่องบินโดยสาร

สายการบินรายนี้ ถือหุ้นในสายการบินเวอร์จิน แอตแลนติก อยู่ 49% และลงทุนในสายการบินไทเกอร์ แอร์ไลน์ 49% เพื่อรับมือการแข่งขันจากสายการบินต้นทุนต่ำ สิงคโปร์แอร์ไลน์จัดว่าเป็นสายการบินที่มีจำนวนผู้โดยสารมากเป็นอันดับที่ 11 ในเอเชีย และมีผู้โดยสารระหว่างประเทศมากเป็นอันดับ 6 ของโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo