COVID-19

‘อินเดีย’ เจอ ‘เชื้อรามรณะ’ ซ้ำเติม ‘ผู้ป่วยโควิด’ ถึงขั้นพิการ

โควิดอินเดีย : “อินเดีย” เจอวิกฤติใหม่ พบผู้ป่วยโควิด หรือผู้ที่เพิ่งหายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด ติดเชื้อ “มิวคอร์ไมโคซิส” หรือ “เชื้อรามรณะ” จนต้องกลายเป็นคนพิการ บางรายอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต 

บีบีซี รายงานว่า ในช่วงเวลาที่ “อินเดีย” กำลังเผชิญกับการระบาดระลอก 2 ของ “เชื้อไวรัสโควิด-19” อย่างรุนแรงนั้น แพทย์อินเดีย ยังต้องรับมือกับปัญหาใหม่ คือ การติดเชื้อ “มิวคอร์ไมโคซิส”  (mucormycosis) ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ยาก แต่มีอันตรายมาก ในกลุ่มคนไข้ โควิดอินเดีย ที่กำลังพักฟื้น หรือเพิ่งหายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19

โควิดอินเดีย

มิวคอร์ไมโคซิส คืออะไร

มิวคอร์ไมโคซิส คือการติดเชื้อที่พบได้ยากมาก เกิดจากการได้รับเชื้อราสกุล “มิวคอร์” (mucor) ซึ่งมักพบอยู่ในดิน ต้นไม้ ปุ๋ยคอก รวมทั้งผลไม้ และผักที่เน่าเสีย

นพ.อักชัย นาอีร์ จักษุแพทย์ ที่เพิ่งทำการรักษาผู้ป่วยหญิง ที่ติดเชื้อนี้ ด้วยการผ่าตัดนำดวงตาของเธอออกมา เพื่อรักษาชีวิตเธอเอาไว้ หลังจากที่เธอติดเชื้อ มิวคอร์ไมโคซิส ที่มักส่งผลต่อจมูก ดวงตา และสมอง ในบางครั้ง กล่าวว่า เชื้อราชนิดนี้ มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง โดยพบในดิน อากาศ หรือแม้แต่ในจมูก และน้ำมูก ของคนสุขภาพดี

เชื้อชนิดนี้ส่งผลกระทบต่อ ไซนัส ซึ่งเป็นโพรงอากาศที่อยู่ภายในกะโหลกศีรษะ บริเวณใบหน้า รวมทั้งสมอง และปอด อีกทั้งยังอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำอย่างรุนแรง เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง หรือผู้ป่วยเอชไอวี/เอดส์

แพทย์เชื่อว่า เชื้อมิวคอร์ไมโคซิส ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมอยู่ที่ 50% อาจถูกกระตุ้น จากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ซึ่งใช้ในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการวิกฤติ

ตามปกติแล้ว ยาสเตียรอยด์จะช่วยลดการอักเสบของปอดผู้ป่วยโควิด และดูเหมือนจะช่วยหยุดยั้งความเสียหาย ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายทำงานหนักเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่ยาชนิดนี้จะไปลดภูมิคุ้มกัน และเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือดของคนไข้โควิด ทั้งที่เป็นเบาหวาน และไม่ได้เป็นเบาหวาน

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เชื่อว่า ภูมิคุ้มกันที่ลดลง อาจกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิสได้

นพ.นาอีร์ อธิบายเรื่องนี้ว่า โรคเบาหวานทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดลง เชื้อไวรัสโคโรนาเร่งให้ภูมิคุ้มกันทำงานหนักขึ้น ส่วนสเตียรอยด์ ซึ่งช่วยต่อสู้กับโควิด-19 เป็นเหมือนน้ำมัน ที่มาเติมเชื้อไฟให้เผาไหม้แรงขึ้น

โควิดอินเดีย

อาการและการรักษา

คนไข้ที่ติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส มักมีอาการคัดจมูก และมีเลือดไหลออกจากจมูก รวมทั้งอาจมีอาการตาบวม และปวด เปลือกตาตก สายตาพร่ามัว และสูญเสียการมองเห็นในที่สุด ทั้งยังอาจมีจุดคล้ำบริเวณรอบจมูกได้ด้วย

แพทย์ในอินเดียระบุว่า คนไข้ส่วนใหญ่มักมารักษาช้าเกินไป คือมา เมื่อพวกเขาได้สูญเสียการมองเห็นไปแล้ว ทำให้แพทย์ต้องผ่าตัดดวงตาออก เพื่อยับยั้งการติดเชื้อไม่ให้ลุกลามขึ้นไปที่สมอง

ในรายที่อาการหนัก คนไข้ได้สูญเสียการมองเห็นทั้ง 2 ข้าง และในบางราย แพทย์ต้องผ่าตัดเอากระดูกขากรรไกรออก เพื่อหยุดการแพร่กระจายของเชื้อ

การรักษาด้วยการฉีดยาต้านเชื้อราเข้าหลอดเลือดดำ ซึ่งมีราคาเข็มละ 3,500 รูปี (ราว 1,500 บาท) และต้องทำทุกวันต่อเนื่องกันถึง 8 สัปดาห์ ถือเป็นยาชนิดเดียวที่สามารถรักษาโรคนี้ได้

ทางด้าน นพ.ราหุล บาซี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเบาหวาน ที่ทำงานในนครมุมไบ บอกบีบีซีว่า ทางเดียวที่จะลดโอกาสการติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส คือ การทำให้แน่ใจว่าคนไข้โควิด-19 ทั้งที่อยู่ระหว่างการรักษา หรือหลังจากหายป่วยแล้ว จะได้รับยาสเตียรอยด์ในปริมาณ และระยะเวลาที่เหมาะสม

ขณะที่ นพ.นาอีร์  ซึ่งทำงานที่โรงพยาบาล 3 แห่งในนครมุมไบ 1 ในเมืองที่เผชิญโควิด-19 ระบาดรุนแรงที่สุดในระลอกที่ 2 นี้ เล่าด้วยว่า เมื่อเดือน เมษายนที่ผ่านมา พบคนไข้ราว 40 ราย เกิดอาการติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส หลายคนเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ที่หายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และพักฟื้นอยู่ที่บ้าน ในจำนวนนี้ 11 คน ต้องเข้ารับการผ่าตัดเอาดวงตาออก

โควิดอินเดีย

ระหว่างเดือน ธันวาคม 2563-กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อนร่วมงาน 6 คนของ นพ.นาอีร์ ที่ทำงานอยู่ในเมืองมุมไบ, บังกาลอร์, ไฮเดอราบัด, ปูเน และนิวเดลี รายงานพบการติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส 58 ราย โดยคนไข้ส่วนใหญ่มักติดเชื้อหลังหายป่วยจากโควิด-19 ไปแล้วประมาณ 12 – 15 วัน

พญ.เรณุกา บราดู หัวหน้าแผนกหู จมูก และคอ ของโรงพยาบาลไซออน ในนครมุมไบ ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส 24 รายในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มจากปกติ ที่จะพบผู้ติดเชื้อชนิดนี้เพียงปีละ 6 ราย

ในจำนวนนี้ 11 คน ต้องสูญเสียดวงตา และอีก 6 คนเสียชีวิต คนไข้ส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มวัยกลางคนที่เป็นโรคเบาหวาน ซึ่งติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส หลังจากหายป่วยจากโควิด-19 ได้ประมาณ 2 สัปดาห์

“เราได้เห็นคนติดเชื้อ 2 – 3 รายใน 1 สัปดาห์ มันคือฝันร้ายในวิกฤติโรคระบาด” พญ.บราดู กล่าว

ที่เมืองบังกาลอร์ นพ.รากุราช เฮดจ์ ศัลยแพทย์ดวงตา เล่าเรื่องราวแบบเดียวกันว่า เขาพบผู้ติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิส 19 รายในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นคนอายุน้อย “บางคนอาการหนักมาก จนเราทำการผ่าตัดให้พวกเขาไม่ได้

แพทย์ในอินเดียหลายคนบอกว่า รู้สึกประหลาดใจกับความรุนแรง และความถี่ของการติดเชื้อชนิดนี้ ในช่วงโควิดระบาดระลอกที่ 2 ของประเทศ เมื่อเทียบกับระลอกแรกเมื่อปีที่แล้ว

นพ.นาอีร์ บอกว่าเขาพบผู้ติดเชื้อไม่ถึง 10 รายในช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ “ปีนี้เป็นอะไรที่แตกต่าง” เขากล่าว  ขณะที่ นพ.เฮดจ์ บอกว่า ตลอดการทำงานกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เขาไม่เคยพบผู้ติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิสเกินปีละ 1-2 รายในเมืองบังกาลอร์

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลอินเดียคนหนึ่งบอกว่า ยังไม่เกิด “การระบาดใหญ่” ของโรคนี้ แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงพบผู้ติดเชื้อมิวคอร์ไมโคซิสพุ่งสูงขึ้นทั่วประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo