COVID-19

ชี้ ‘สหรัฐ’ ตรวจเชื้อโควิดกลายพันธุ์ ล้าหลังชาติอื่น

สื่อสหรัฐ ระบุ สหรัฐล้าหลังชาติอื่น ๆ ในเรื่องการจัดลำดับพันธุกรรม เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ได้อย่างทันท่วงที อันดับโลกด้านนี้ อยู่ในระดับเดียวกับเบอร์กินาฟาโซ และซิมบับเว

หนังสือพิมพ์ยูเอสเอ ทูเดย์ เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า สหรัฐ ตามหลังหลาย ๆ ประเทศ เรื่องการจัดลำดับพันธุกรรมสำคัญ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดกลายพันธุ์ได้ทันท่วงที ซึ่งเพิ่มความเสี่ยง ที่เชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์ อาจแพร่ระบาดโดยไม่สามารถตรวจพบได้

get 25 2

ห้องปฏิบัติการจีโนมิกส์โรคโควิด-19 ซึ่งนำโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ระบุว่า อัตราการจัดลำดับพันธุกรรมตัวอย่างเชื้อของสหรัฐ อยู่ที่อันดับ 33 จากทั่วโลกในปีนี้ ซึ่งเป็นอันดับที่อยู่ระหว่างประเทศเบอร์กินาฟาโซ และซิมบับเว

ประเทศที่มีอัตราการจัดลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ไอซ์แลนด์ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งมีอัตรานี้สูงกว่าสหรัฐ 55-95 เท่า

การจัดลำดับพันธุกรรมจะทำขึ้น หลังการตรวจเชื้อโรคโควิด-19 โดยหากผลตรวจออกมาเป็นบวก ตัวอย่างสิ่งส่งตรวจ จะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการอีกแห่ง เพื่อจัดลำดับพันธุกรรม โดยเฉพาะตัวอย่างจากผู้ที่เคยมีประวัติป่วยโรคโควิด-19 ก่อนหน้านี้ หรือผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว

การจัดลำดับนี้ จะแสดงให้เห็นถึงรหัสทางพันธุกรรมของเชื้อไวรัส และช่วยให้นักวิทยาศาสตร์หาวิธียับยั้งเชื้อไวรัสได้แม่นยำขึ้น

รายงานระบุว่า “ผลการจัดลำดับพันธุกรรมในสหรัฐ จะถูกส่งไปยังนักวิจัยเท่านั้น แต่ไม่ถูกส่งไปยังผู้เข้ารับการตรวจ ด้วยเหตุผลที่ไม่อาจทราบได้”

เมื่อไม่นานนี้ สหรัฐเริ่มจัดลำดับพันธุกรรมจากส่วนหนึ่งของตัวอย่างเชื้อ ของผู้เข้ารับการตรวจโรคโควิด-19 โดยปัจจุบัน ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคสหรัฐ (ซีดีซี) กำลังใช้จ่ายเงินเพิ่มเติมอีก 200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 6,290 ล้านบาท ในด้านการจัดลำดับพันธุกรรม เพื่อเร่งอัตราการตรวจหาเชื้อ ที่เริ่มมาตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์

รายงานระบุว่า แม้ศูนย์จะพยายามจัดลำดับพันธุกรรมตัวอย่าง ที่มีผลตรวจเป็นบวกอย่างน้อย 7,000 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ หรือราวร้อยละ 2 ของยอดผู้ป่วยใหม่ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องบางรายระบุว่า จำเป็นต้องดำเนินการให้มากกว่านี้ เพราะจำนวนดังกล่าว อาจจะไม่รวดเร็วพอ สำหรับการตรวจจับเชื้อไวรัสชนิดกลายพันธุ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo