COVID-19

จับตา ‘บราซิล’ หวั่นแหล่งเพาะเชื้อ ‘โควิดกลายพันธุ์’ กระจายแล้วกว่า 25 ประเทศ

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การปล่อยให้คนที่ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ไม่ครบโดสจำนวนมาก ไปปะปนอยู่กับคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ในขณะที่โรคนี้กำลังระบาดอยู่นั้น อาจทำให้เกิด “แหล่งเพาะพันธุ์ใหญ่” ของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ที่ทนทานต่อวัคซีนได้ 

ความกังวลนี้ มักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีอัตราการติดเชื้อสูง ในขณะที่การให้วัคซีนแก่ประชาชน ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า

shutterstock 1754935670

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เฝ้าระวังการเกิดเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ๆ ระบุว่า การระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 กลายพันธุ์ชนิดใหม่ในบราซิล ที่เรียกว่า P.1 อาจทำให้ประเทศนี้กลายเป็นจุดเสี่ยงสำคัญของการแพร่ระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่

ปัจจุบันเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์บราซิลได้แพร่ระบาดไปในกว่า 25 ประเทศ โดยข้อมูลนับถึงวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่า บราซิลมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการติดเชื้อนี้แล้วเกือบ 278,000 ราย

แม้จะมีอัตราการตายสูง แต่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างผู้ว่าการรัฐต่าง ๆ ของบราซิล กับประธานาธิบดีชาอีร์ โบลโซนาโร ที่มักไม่ยอมรับถึงความร้ายแรงของโควิด-19 ก็ส่งผลกระทบต่อการใช้มาตรการล็อกดาวน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม รวมทั้งเป็นอุปสรรคต่อความพยายาม ให้วัคซีนแก่ประชาชนในประเทศ

โดยพบว่ามีประชากรบราซิลประมาณ 4% (ราว 8.6 ล้านคน) ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโดสแรก ในขณะที่ผู้ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดสมีเพียง 2.9 ล้านคน

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่าปัจจัยทั้งหมดนี้ คือส่วนผสมที่อันตราย

shutterstock 1743113723

หลบเลี่ยงภูมิต้านทาน

ในขณะที่เชื้อไวรัสแพร่ระบาด พวกมันจะมีการเปลี่ยนแปลง และเรียนรู้วิธีการหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ เพื่อให้สามารถโจมตีเซลล์ และทำให้คนติดเชื้อได้

ดร.จูเลียน ถัง นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ ในสหราชอาณาจักร ระบุว่า เมื่อเชื้ไวรัสโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายของคนเรา และต่อสู้กับแอนติบอดี หรือสารภูมิต้านทาน ที่มีอยู่ปริมาณเล็กน้อย เชื้อจะเกิดการกลายพันธุ์เพื่อให้สามารถเพิ่มจำนวนขึ้น และมีความทนทานต่อแอนติบอดีเหล่านั้น

กระบวนการนี้เป็นส่วนหนึ่งในวิวัฒนาการของไวรัส

“หากคุณได้รับวัคซีนวันนี้ คุณจะยังไม่มีภูมิต้านทานโรคในทันที เพราะจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 สัปดาห์ กว่าที่แอนติบอดีจะปรากฏขึ้นในร่างกาย และคุณยังสามารถติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม หรือสายพันธุ์ P.1 ของบราซิลได้อยู่”

“หากแอนติบอดีที่ได้จากวัคซีนปรากฏขึ้นในช่วงเดียวกับที่คุณกำลังติดเชื้อไวรัส และเชื้อกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในร่างกายของคุณ เชื้ออาจเพิ่มจำนวน ด้วยวิธีการหลบเลี่ยงแอนติบอดี ที่ร่างกายกำลังผลิตขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้การกลายพันธุ์ที่เป็นประโยชน์ต่อไวรัสมากที่สุด คงอยู่ต่อไป และเพิ่มจำนวนขึ้นตามกระบวนการคัดเลือกโดยธรรมชาติ”

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว แต่เกิดติดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ก็ยังสามารถแพร่เชื้อเหล่านี้ไปสู่ผู้อื่นได้

เมื่อกรณีเช่นนี้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เช่นในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการให้วัคซีนในระดับปานกลาง ก็อาจทำให้เกิด “แรงกดดัน” ทางชีวภาพ ที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์

ดร.ปีเตอร์ เบเกอร์ รองผู้อำนวยการกลุ่มสุขภาพและการพัฒนาโลก แห่งอิมพิเรียล คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่ากรณีดังกล่าว “จะทำให้เกิดภาวะสมดุลกันระหว่างผู้มีภูมิคุ้มกันโรคกับผู้ติดเชื้อ และเมื่อประชากรสองกลุ่มปะปนกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ทนทานต่อวัคซีนขึ้น”

shutterstock 1908972790

เชื้อกลายพันธุ์ที่ติดได้ง่ายขึ้น

ข้อมูลบ่งชี้ว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์บราซิล (P.1) ซึ่งพบครั้งแรกในเมืองมาเนาส์ ช่วงที่เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในบราซิล อาจติดต่อกันได้ง่ายขึ้น และสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อครั้งก่อน

เชื้อสายพันธุ์นี้มีการกลายพันธุ์ที่เรียกว่า E484k ในส่วนของ “โปรตีนหนาม” (spike protein) ของเชื้อไวรัส ซึ่งช่วยให้ไวรัสสามารถยึดเกาะกับเซลล์ในร่างกายมนุษย์ได้ดีขึ้น และช่วยลดประสิทธิภาพของแอติบอดี

งานวิจัยของสถาบันฟิโอครูซ ในบราซิลพบว่า เชื้อสายพันธุ์ P.1 ได้แพร่ระบาดเข้าไปในอย่างน้อย 10 รัฐ จากทั้งหมด 27 รัฐของบราซิล

การสำรวจในพื้นที่ 8 รัฐ พบว่า กว่า 50% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ใน 6 รัฐ เป็นการติดเชื้อโรคโควิด 1 ใน 3 สายพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังกังวล คือ สายพันธุ์ P.1 ของบราซิล, สายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์แอฟริกาใต้

นายชาร์ลี วิตเทเกอร์ นักวิจัยด้านระบาดวิทยาที่อิมพิเรียล คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า หากไม่มีมาตรการควบคุม เชื้อกลายพันธุ์ P.1 จะกลายเป็นเชื้อสายพันธุ์หลักอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการระบาดระลอกใหญ่

shutterstock 1753399277

วัคซีนกับเชื้อกลายพันธุ์

ในงานวิจัยอีกชิ้น ที่อิมพิเรียล คอลเลจ ลอนดอน ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยเซาเปาโล และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเมินว่า เชื้อ P.1 สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าเชื้อโรคโควิด-19 ดั้งเดิมที่ยังปรากฏในบราซิลถึง 1.4 – 2.2 เท่า

นอกจากนี้ เชื้ออาจสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน และทำให้เกิดการติดเชื้อซ้ำได้ราว 25% – 61% ของการติดเชื้อทั้งหมด

ศาสตราจารย์เบเกอร์กล่าวว่า เมื่อไวรัสกลายพันธุ์สัมผัสกับผู้ที่เคยมีภูมิคุ้มกันหรือเคยติดเชื้อมาแล้ว ก็จะมีแรงกดดันให้เชื้อต้องเปลี่ยนแปลง เพื่อพยายามหาหนทางให้คนเหล่านี้กลับมาติดเชื้อได้อีก

“ดังนั้นการผสมกันระหว่างการระบาดใหญ่ในปัจจุบัน กับครั้งที่ผ่านมา จึงกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ใหญ่ของเชื้อกลายพันธุ์ ซึ่งเราคิดว่าเป็นสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในบราซิล”

shutterstock 1725259495

ห้องแล็บกลางแจ้ง

ยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในบราซิลสูงเป็นประวัติการณ์ โดยผลการประเมินบางชิ้นบ่งชี้ว่า ยอดผู้เสียชีวิตสะสมในประเทศ อาจพุ่งแตะหลักครึ่งล้านราย ภายในสิ้นปี 2564

ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อสะสมของบราซิลอยู่ที่เกือบ 11.5 ล้านคน แซงหน้าอินเดีย และตามหลังเพียงสหรัฐ ที่มียอดผู้ติดเชื้อรวมสูงสุดในโลกคือ 30 ล้านคน

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พบว่าบราซิลมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 24 ชั่วโมงก่อนหน้ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 76,000 คน มากกว่าสหรัฐฯที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 52,000 คน ขณะที่อินเดียมี 26,000 คน

ดร.ถังชี้ว่า นี่ทำให้กิดความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่ทนทานต่อวัคซีน

“หากปล่อยทิ้งไว้ เชื้อกลายพันธุ์ของบราซิล จะเพิ่มจำนวนขึ้นจนคุมไม่อยู่ และแพร่ระบาดไปทั่ว โดยในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อสูง จะมีภัยคุกคามต่อวัคซีน เพราะเชื้อกลายพันธุ์ที่สามารถหลบเลี่ยงวัคซีนได้ อาจอุบัติขึ้นจากการที่เชื้อกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนขึ้น”

shutterstock 1919759843

วัคซีนจะป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่

วัคซีนต้านโควิด-19 ที่บราซิลให้แก่ประชาชนในปัจจุบันคือชนิดที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทซิโนแวคของจีน และของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ร่วมกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า

หลังจากปฏิเสธจะซื้อวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์มานานหลายเดือน ในที่สุดประธานาธิบดีโบลโซนาโร ก็ยอมลงนามในร่างกฎหมาย ที่เอื้อให้ซื้อวัคซีนชนิดนี้ได้รวดเร็วขึ้น

งานวิจัยเบื้องต้นพบหลักฐานบ่งชี้ว่า วัคซีนของออกซ์ฟอร์ด และแอสตร้าเซนเนก้า มีประสิทธิภาพน้อยลง ในการป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งกลายพันธุ์ E484k แบบเดียว กับสายพันธุ์บราซิล แต่ก็ยังถือว่าให้การป้องกันในระดับที่ดีอยู่

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเป็นเครื่องเตือนใจถึงความยากลำบา กที่จะทำให้โครงการให้วัคซีนดำเนินไปด้วยความสำเร็จ

shutterstock 1913370565

อีกทั้งยังชี้ให้เห็นว่า มาตรการควบคุมโรคต่าง ๆ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างทางสังคม และการล็อกดาวน์ ยังคงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ ในระหว่างที่กำลังดำเนินโครงการให้วัคซีนแก่ประชาชน

ศาสตราจารย์เบเกอร์ชี้ว่า มาตรการเหล่านี้ไม่เพียงจะช่วยชะลออัตราการติดเชื้อ และลดความเสี่ยงที่จะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ชนิดใหม่ ๆ แต่ยังช่วยซื้อช่วงเวลาที่สำคัญ เพื่อรับประกันว่าวัคซีนที่ให้แก่ประชาชนจะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ขณะที่ นายเยเซม โอเรลยานา นักวิจัยด้านระบาดวิทยา ของสถาบันฟิโอครูซ ชี้ว่า ในตอนนี้ บราซิลคือภัยคุกคามมนุษยชาติ และเป็น ‘ห้องแล็บกลางแจ้ง’ สิ่งดีที่สุดที่พอทำได้คือ หวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ในการให้วัคซีนครั้งใหญ่แก่ประชาชน หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขึ้น ในทีมบริหารจัดการโรคระบาดครั้งนี้

ส่วนนพ.ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก บอกว่าสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในบราซิล “น่ากังวลอย่างยิ่ง” พร้อมเตือนว่าปัญหานี้อาจลุกลามเข้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค

“หากบราซิลไม่จริงจัง ปัญหานี้จะส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้านในภูมิภาคทั้งหมด ตลอดจนประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอื่น ๆ”

ที่มา : BBC Thai

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo