COVID-19

‘พาสปอร์ตวัคซีน’ ของต้องมี เดินทางยุค ‘โควิด’

ในอนาคตอันใกล้นี้ การเดินทางข้ามประเทศ อาจจะต้องมีเอกสารดิจิทัล เพื่อแสดงให้เห็นว่า นักเดินทางรายนั้น ผ่านการฉีดวัคซีน หรือการทดสอบหาเชื้อไวรัสโควิด-19 มาแล้ว สถานการณ์ที่ทำให้เกิดคำศัพท์ใหม่อย่าง “พาสปอร์ตวัคซีน” ขึ้นมาในหมู่รัฐบาลชาติต่าง ๆ และอุตสาหกรรมการเดินทางท่องเที่ยว

ความท้าทายสำหรับ “พาสปอร์ตวัคซีน” ในขณะนี้ คือ การสร้างเอกสาร หรือ แอปพลิเคชัน ที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ทั้งยังต้องสามารถปกป้องความเป็นส่วนบุคคล และสามารถเข้าถึงทุกคน โดยไม่ขึ้นอยู่กับฐานะ หรือการมีสมาร์ทโฟน

พาสปอร์ตวัคซีน

พาสปอร์ตวัคซีนคืออะไร

พาสปอร์ตวัคซีน เป็นเอกสารที่พิสูจน์ว่า ผู้ถือได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด -19 แล้ว โดยในบางประเทศนั้น ผู้ถือพาสปอร์ตนี้ ยังสามารถใช้แสดงข้อมูลได้ว่า พวกเขาได้ทำการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 และได้ผลออกมาเป็นลบแล้ว ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางสะดวกขึ้น

ในขณะนี้ สายการบิน กลุ่มอุตสาหกรรม องค์กรไม่หวังผลกำไร และบริษัทเทคโนโลยี กำลังดำเนินการพัฒนาพาสปอร์ตวัคซีนแบบต่าง ๆ อยู่  ที่อาจจะช่วยให้สามารถดึงข้อมูลขึ้นมาแสดงบนโทรศัพท์มือถือได้เลย อาจเป็นทั้งรูปแบบแอปพลิเคชัน หรือ กระเป๋าเงินดิจิทัล

นิค คารีน  รองประธานอาวุโส รับผิดชอบงานด้านสนามบิน ผู้โดยสาร ขนส่งสินค้า และความปลอดภัย ของ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาตา : IATA)  ระบุว่า พาสปอร์ตวัคซีน เป็นเรื่องของความพยายาม ที่จะนำกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้มาทำให้เป็นดิจิทัล และทำให้เป็นเรื่องที่มีความสอดคล้องกันมากขึ้น อำนวยความสะดวกให้กับนักเดินทางระหว่างประเทศ ที่จะได้ไม่ต้องใช้เอกสารหลายอย่าง หรือเอกสารที่แตกต่างกันออกไป สำหรับแต่ละประเทศ

ไออาตา เป็นหนึ่งในหลายองค์กร ที่ทำงานเกี่ยวกับโซลูชันดิจิทัล เพื่อปรับปรุงกระบวนการรับรองการเดินทางมานานหลายปี ซึ่งในช่วงที่เกิดการการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น เป้าหมายที่องค์กรต่าง ๆ ให้ความสนใจ รวมถึง สถานะของการฉีดวัคซีน ภายใต้แนวคิดที่ว่า ถ้าหากคุณมีข้อมูลทั้งหมดอยู่บนมือถือแล้ว ก็จะช่วยประหยัดเวลาไปได้มาก

นอกจากไออาตาแล้ว ไอบีเอ็ม ก็อยู่ระหว่างการพัฒนา “Digital Health Pass” หรือบัตรผ่านสุขภาพดิจิทัล ที่จะช่วยให้ผู้คนสามารถแสดงหลักฐานยืนยันการฉีดวัคซีน หรือผลตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เป็นลบ ในการเข้าไปยังสถานที่สาธารณะต่าง ๆ อาทิ สนามกีฬา มหาวิทยาลัย ที่ทำงาน หรือขึ้นเครื่องบิน ได้

บัตรผ่านดังกล่าว ที่พัฒนาขึ้นจากเทคโนโลยีบล็อกเชนของไอบีเอ็ม สามารถเก็บข้อมูลได้หลายประเภท รวมถึง การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย การแจ้งความเสี่ยงเมื่อเข้าใกล้สถานที่ตรวจพบการติดเชื้อไวรัส ผลการตรวจหาเชื้อ และสถานะการฉีดวัคซีน

ขณะที่ เวิลด์ อิโคโนมิค ฟอรัม และ มูลนิธิคอมมอน โปรเจ็คส์ (Commons Project Foundation) องค์กรไม่หวังผลกำไรของสวิตเซอร์แลนด์ ก็ได้ดำเนินการทดสอบพาสปอร์ตสุขภาพดิจิทัล ที่เรียกว่า “คอมมอนพาส” (CommonPass) ซึ่งจะช่วยให้นักเดินทางสามารถเข้าถึงข้อมูลการตรวจหาเชื้อ และการฉีดวัคซีนได้ โดยพาสปอร์ตนี้ จะสร้างคิวอาร์โค้ด (QR code) ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้งานแสดงต่อเจ้าหน้าที่

พาสปอร์ตวัคซีน

ทำไมต้องมีพาสปอร์ตวัคซีน

ปัจจุบัน มีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ทำให้มีแนวโน้มว่า จะมีบางสถานที่ หรือบางกิจกรรม ที่กำหนดให้เฉพาะผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิดแล้ว เข้าร่วมด้วยเท่านั้น

นอกจากนี้ ในการเดินทางระหว่างประเทศนั้น เจ้าหน้าที่รัฐบาล และสาธารณสุข ต่างจำเป็นต้องรู้ว่า คุณได้ฉีดวัคซีน หรือมีผลตรวจหาเชื้อไวรัสเป็นลบหรือไม่ ซึ่งมีหลายประเทศ ที่กำหนดให้มีหลักฐานยืนยันว่า นักเดินทางรายนั้น ๆ มีผลตรวจหาเชื้อไวรัสเป็นลบแล้ว จึงจะสามารถเดินทางเข้าประเทศได้

ซูราบ โปโลลิเคชวิลี เลขาธิการ องค์การท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ระบุว่า พาสปอร์ตวัคซีน เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขึ้นมาอีกครั้ง

“ องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับการฟื้นฟูการท่องเที่ยวขึ้นมาใหม่ คือ การมีกฎข้อบังคับ และระเบียบการดำเนินงาน ที่สอดคล้อง และเป็นไปทิศทางเดียวกัน สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น หลักฐานยืนยันการฉีดวัคซีน ที่จะแสดงผ่านสิ่งที่เรียกว่า พาสปอร์ตสุขภาพ ที่หลายๆ ฝ่าย สามารถร่วมมือกันจัดทำขึ้นมา ซึ่งจะช่วยกำจัดความจำเป็นที่จะต้องมีการกักโรค ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่ขัดขวางการกลับมาของการเดินทางระหว่างประเทศ” 

ทางด้านดาโกตา กรูเนอร์ ผู้อำนวยการบริหาร ไอดี2020 ( ID2020) กลุ่มพันธมิตรด้านการระบุตัวตนดิจิทัลระดับโลก กล่าวว่า การรับรองดิจิทัล เกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 สถานการณ์ด้วยกัน

อย่างแรก คือ การสร้างใบรับรองภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นเอกสารที่จะแสดงให้เห็นว่า ผู้คนมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัส ส่วนสถานการณ์ที่ 2 คือ การพิสูจนให้ได้ว่า มีผลการตรวจหาเชื้อไวรัสเป็นลบ และอย่างที่ 3 คือ การแสดงให้เห็นว่า ฉีดวัคซีนมาแล้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยว่า 2 สถานการณ์หลังสุดนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่สุด ที่จะทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเดินหน้าไปได้อีกครั้งหนึ่ง

พาสปอร์ตวัคซีน

เคยทำมาก่อนหรือไม่ 

การต้องพิสูจน์ว่าคุณได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม หรือเดินทางเข้าบางประเทศ ไม่ใช่แนวคิดใหม่แต่อย่าางใด

นับเป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้ว ที่การเดินทางเข้าไปยังบางประเทศ จะต้องยืนยันได้ว่า ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิดมาแล้ว อาทิ ไข้เหลือง หัดเยอรมัน และอหิวาตกโรค ซึ่งมีอยู่บ่อยครั้ง ที่หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว นักเดินทางจะได้ “ใบเหลือง” ที่ลงนาม และประทับตรา หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ใบรับรองการฉีดวัคซีนสากล”

ไบรอัน เบห์เลนดอร์ฟ ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิสาธารณสุขลินุกซ์ องค์กรที่มุ่งเน้นการนำเทคโนโลยี เข้ามาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก กล่าวว่า ทุกคนที่เคยเดินทางข้ามชาติ ไปยังประเทศต่าง ๆ ที่กำหนดให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย คอตีบ และโรคอื่น ๆ ล้วนแต่มีใบเหลืองทั้งนั้น  ผู้ปกครองที่มีลูกเรียนอยู่ในโรงเรียนรัฐบาล ก็ต้องมีหลักฐานยืนยันว่า เด็ก ๆ ฉีดวัคซีนมาแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด

แต่สิ่งที่แตกต่างไปอย่างมาก ระหว่าง ใบเหลือง ที่ใช้กันมานานหลายปี กับสิ่งที่กำลังทำกันอยู่ในขณะนี้ คือ เรื่องของ “ดิจิทัล” ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความเป็นส่วนตัว และการเข้าถึง

มูลนิธิลินุกซ์ กำลังทำงานร่วมกับ “Covid-19 Credentials Initiative” ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวบรวมผู้คนมากกว่า 300 คน จาก 5 ทวีป มาช่วยกันพัฒนามาตรฐานสากล สำหรับแอปพลิเคชันรับรองการฉีดวัคซีน ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และมีความเท่าเทียมกัน ทั้งมูลนิธินี้ ยังทำงานร่วมกับ ไอบีเอ็ม และคอมมอนพาส ด้วย

เบห์เลนดอร์ฟ ย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนของประเทศต่าง ๆ จะต้องตั้งคำถามกับรัฐบาล และบรรดาสายการบินว่า จะทำให้การรับรองการฉีดวัคซีน เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ ได้อย่างไร เพื่อที่จะได้นำประวัติการฉีดนี้ ไปจองเที่ยวบิน หรือ โรงแรม หรือทำเรื่องอื่น ๆ

“พาสปอร์ตวัคซีนนี้ ควรทำงานเหมือนกับอีเมล ไม่อย่างนั้น ก็จะกลายเป็นเรื่องยุ่งยาก” 

shutterstock 1874066830

เป้าหมายของพาสปอร์ตวัคซีนคืออะไร 

ในโลกที่มีประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน ไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนของตัวเองได้ เพราะไม่มีหนังสือเดินทาง สูติบัตร ใบขับขี่ หรือ บัตรประจำตัวประชาชนนั้น เอกสารดิจิทัล ที่แสดงให้เห็นถึงสถานะการฉีดวัคซีน อาจเน้นให้เห็นถึงความเสี่ยง และความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญในการทำงานของกรูเนอร์ ผู้อำนวยการบริหาร ไอดี2020

นอกจากความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว และการแบ่งปันข้อมูลแล้ว ยังมีเรื่องของประชากรกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ที่อาจจะใช้เอกสารที่เป็นกระดาษยืนยันได้ แต่ก็จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานเช่นเดียวกัน

“มีความเป็นไปได้หลายทางที่เรื่องนี้ อาจดำเนินการไปอย่างถูกต้อง หรือผิดพลาดอย่างร้ายแรง และความผิดพลาดที่อาจเกิดความเลวร้ายด้านเทคโนโลยีขึ้นมา” เจนนี แวงเกอร์ ผู้อำนวยโครงการ มูลนิธิลินุกซ์ ระบุ

แวงเกอร์ บอกด้วยว่า เป็นเรื่องสำคัญ ที่จะทำให้แอปพลิเคชันเหล่านี้ ทำสำเร็จในแบบเปิด และไม่ได้ลงเอยด้วยการอยู่ในการควบคุมของรัฐบาล หรือบริษัท รายใดเพียงรายเดียว โดยเทคโนโลยีที่นำเข้ามาใช้ควรเป็นแบบโอเพนซอร์ส และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี สามารถเข้าถึงได้ ไม่ว่า พวกเขาจะเป็นใคร หรืออยู่ที่ไหน

shutterstock 1898168590

ความท้าทายในการสร้างบัตรผ่านดิจิทัล 

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเดินทาง และนักเทคโนโลยีทั้งหลาย ต่างกล่าวว่า แม้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ ในการเร่งพัฒนาโซลูชัน ที่ข่วยให้ผู้คนใช้แอฟพลิเคชันเพียงตัวเดียวขึ้นมา แต่การสร้างเทคโนโลยี ในแบบที่มีจริยธรรม หรือระบบที่ไม่เก็บข้อมูลบุคคล หรือติดตามจุดที่อยู่ของผู้คน อย่างยาวนานนั้น ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาขึ้นมา

“ขนาดระบบหนังสือเดินทางโลก ยังใช้เวลาในการพัฒนาถึง 50 ปี  และต่อให้พวกเขา จะต้องการเพิ่มไบโอเมตริกซ์เข้าไป เพื่อให้แข็งแกร่งขึ้น ก็ต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี ที่จะทำให้ทุกฝ่ายเห็นด้วย ถึงวิธีการจะเพิ่มลายนิ้วมือ หรือลักษณะใบหน้า เพื่อยืนยันตัวตนบนหนังสือเดินทาง “ ดรัมมอนด์ รีด หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทรัสต์ บริษัทเอเวอร์นิม บริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ สำหรับการระบุอัตลักษณ์บุคคล กล่าว

เขาบอกด้วยว่า ในช่วงเวลาที่สั้นมากอย่างในขณะนี้ จำเป็นที่จะต้องสร้างการรับรองดิจิทัล ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลขึ้นมา และจำเป็นอย่างมากในเรื่องของการปกป้องความเป็นส่วนตัว เพราะพาสปอร์ตวัคซีนที่ออกมา ได้กลายเป็นเรื่องของดิจิทัลไปแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo