COVID-19

คำเกี่ยวกับ ‘โควิดระบาด’ กวาดแชมป์ ‘คำศัพท์แห่งปี 63’

 

เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน ก็จะหมดปี 2563 แล้ว ซึ่งตามปกติแล้ว ช่วงโค้งสุดท้ายของปี มักมีการจัดอันดับสุดยอดของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละปี เช่นเดียวกับ คำศัพท์แห่งปี  2563

ในแต่ละปี ผู้จัดทำพจนานุกรมที่มีชื่อเสียงจำนวนหนึ่ง จะเลือกเฟ้นคำศัพท์ที่สะท้อนถึ งปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นในปีนั้นๆ และด้วยภาวะการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบัน จึงทำให้คำที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ติดอันดับ คำศัพท์แห่งปี ของหลายสำนักไปด้วย

คำศัพท์แห่งปี

พจนานุกรม คอลลินส์ (Collins Dictionary) ยกให้คำว่า “lockdown” เป็นคำศัพท์แห่งปี 2563 สะท้อนสถานการณ์ ที่ผู้คนทั่วทุกมุมโลกต้องอยู่บ้าน และภาคธุรกิจต่างๆต้องหยุดกิจกรรม ตามมาตรการของหลายๆ ชาติ ที่ใช้ควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในปีนี้ คำว่า lockdown ยังถูกนำเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากจำนวน 4,000 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว เป็น 250,000 ครั้งในปีนี้

ผู้จัดทำพจนานุกรมคอลลินส์ ระบุว่า lockdown เป็นคำนาม หมายถึง มาตรการบังคับหรือจำกัดการเดินทาง การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และการจำกัดการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นประสบการณ์ร่วมของผู้คนนับพันล้านชีวิตทั่วโลก ช่วงการระบาดใหญ่ของโคโรนาไวรัส และตอนนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับมาตรการล็อคดาวน์รอบใหม่กันแล้ว

นอกจากคำว่า ล็อคดาวน์ แล้ว การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีนี้ ยังทำให้คำศัพท์ 6 คำจาก 10 คำแห่งปี 22563 ของพจนานุกรมคอลลินส์ ล้วนแต่เป็นคำที่เกี่ยวกับวิกฤตสาธารณสุขโลกทั้งสิ้น อย่างคำว่า coronavirus (โคโรนาไวรัส),  self-isolate (กักตัวเองเมื่อต้องสงสัยติดเชื้อโรคระบาด), social distancing (รักษาระยะห่างทางสังคม), furlough (สั่งพักงานชั่วคราว) และ key worker (ลูกจ้างหรือพนักงานที่มีบทบาทสำคัญ)

ขณะที่ พจนานุกรมเคมบริดจ์ (Cambridge Dictionary) ยกให้คำว่า “quarantine” เป็นคำศัพท์แห่งปี จากการค้นหาคำนี้ ที่พุ่งสูงขึ้นในเดือนมีนาคม ช่วงที่หลายประเทศทั่วโลก เริ่มบังคับใช้มาตรการสกัดกั้นการระบาดของโควิด-19

คำศัพท์แห่งปี

พจนานุกรม เคมบริดจ์ ได้เพิ่มเติมความหมายของคำว่า quarantine ที่เป็นทั้งคำนาม และกริยาในรูปเดียวกันนี้ว่า ช่วงเวลาระยะหนึ่งที่ผู้คนไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านเรือนหรือออกไปสถานที่ต่างๆได้อย่างอิสระ เพื่อที่พวกเขาจะไม่รับเชื้อหรือเป็นผู้แพร่เชื้อโรคได้

แม้จะมีคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะการระบาดของไวรัสโควิด-19 มากมายหลากหลายคำ แต่ 2 ผู้จัดทำ พจนานุกรม อย่าง เมอร์เรียม เว็บสเตอร์ (Merriam-Webster)  และ ดิคชันนารี ดอท คอม (Dictionary.com)  กลับพร้อมใจเลือกคำว่า “pandemic” เป็นคำศัพท์แห่งปีนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่จัดทำพจนานุกรม ที่ทั้ง 2 ค่ายเลือกคำเดียวกัน เป็นคำศัพท์แห่งปี

pandemic เป็นคำนาม และคำคุณศัพท์ในรูปเดียวกัน ให้ความหมายว่า ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก

ผู้จัดทำ พจนานุกรม เมอร์เรียม เว็บสเตอร์ เปิดเผยถึงการเลือก pandemic เป็นคำศัพท์แห่งปีว่า ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจอะไร จากที่คำนี้พัฒนาจากคำศัพท์เชิงเทคนิคมาเป็นคำที่ใช้โดยทั่วไปในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก

ข้อมูลของเมอร์เรียม เว็บสเตอร์ ยังแสดงให้เห็นว่า เฉพาะวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา เพียงวันเดียว ซึ่งเป็นวันที่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้การระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ทั่วโลก และเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกนั้น การค้นหาคำว่า pandemic พุ่งสูงมากถึง 115,806%

ส่วน ดิคชันนารี ดอท คอม พบว่า การค้นหาคำดังกล่าวในวันเดียวกันนั้น พุ่งสูงมากถึง 13,500% ในวันเดียวกัน และการค้นหาคำว่า pandemic ยังพุ่งต่อเนื่องกว่า 1,000% ต่อเดือน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคงติดอันดับการค้นหาใน ดิคชันนารี ดอท คอม ต่อเนื่องถึงตอนนี้

คำศัพท์แห่งปี

อย่างไรก็ตาม คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนี้ ทำให้พจนานุกรม อ็อกซ์ฟอร์ด (Oxford) กลับประสบปัญหา ไม่สามารถเลือกให้คำใดคำหนึ่งเป็นคำศัพท์แห่งปีนี้ได้

ผู้จัดทำพจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ด ใช้ความยาวถึง 16 หน้ากระดาษ อธิบายถึงข้อขัดข้องในปีนี้ว่า และสาเหตุที่ทำให้คำว่า การระบาดใหญ่ ที่ในอดีต เป็นเพียงคำอธิบายแบบเฉพาะทาง กลายมาเป็นคำศัพท์ในกระแสหลัก ช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้

พจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ด อธิบายว่า เดิมทีผู้เขียนพจนานุกรม จะสามารถจับทิศทาง และวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของข้อมูลการเปลี่ยนแปลงด้านภาษาต่างๆ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของการใช้ศัพท์ที่บัญญัติขึ้นมาใหม่ได้

แต่ด้วยภาวะการระบาดของโควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านภาษา ทำให้ปี 2563 เป็นปีแรกที่พจนานุกรมอ็อกซ์ฟอร์ด ไม่สามารถหาคำศัพท์แห่งปีเพียงคำเดียวที่สะท้อนถึงปีนี้ตลอดทั้งปีได้

นอกจากคำที่เกี่ยวกับโควิด-19 แล้ว พจนานุกรมทั้ง 3 ยืนยันว่า มีคำศัพท์ที่เป็นกระแสสังคม ปรากฏในการค้นหาในปีนี้เช่นกัน เช่น กลุ่มคำที่เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางเชื้อชาติสีผิว รวมถึงคำว่า “Karen” ที่เป็นคำแสลง ใช้เรียกสตรีวัยกลางคน ส่วนใหญ่เป็นสตรีผิวขาว ที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ละเมิด หรือล่วงเกินผู้อื่นทั้งทางวาจา และการกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ลักษณะของการเลือกปฏิบัติทางสีผิวร่วมด้วย ดังที่ปรากฏในคลิปไวรัลหญิงผิวขาวกลางคน พยายามล่วงเกินผู้อื่นในสื่อสังคมออนไลน์ตะวันตกนั่นเอง

ที่มา : VOA

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo