COVID-19

อย่าเพิ่งดีใจ! ‘อนามัยโลก’ เตือน วัคซีนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ‘วิกฤติโควิด’

“ทีโดรส อัดฮานอม เกเบรเยซุส” ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า วัคซีนโควิด ที่ใกล้จะพัฒนาสำเร็จในอนาคต ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้วิกฤติโควิดสิ้นสุดลง และคนทั่วโลกยังคงต้องให้ความร่วมมือกันสู้ต่อไป 

คำเตือนของผู้อำนวยการ องค์การอนามัยโลก มีขึ้นหลัง “โมเดอร์นา อิงค์” บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ ประกาศว่า ผลการทดลองเฟส 3 ของ วัคซีนโควิด  ที่บริษัทร่วมมือกับ สถาบันวิจัยโรคภูมิแพ้ และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐ พัฒนาขึ้นมานั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 มากถึง 94.5%

วัคซีนโควิด

เกเบรเยซุส กล่าวด้วยว่า จุดสำคัญในเวลานี้คือ การตระหนักว่า วัคซีนโควิด เป็นองค์ประกอบ ที่มาช่วยรับมือกับการระบาด แต่ไม่ใช่สิ่งที่มาทดแทนอะไรทั้งสิ้น พร้อมระบุว่า ทันทีที่มีการอนุมัติ วัคซีน ออกมาใช้งาน และพร้อมแจกจ่าย สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ วัคซีนที่ผลิตออกมานั้นจะยังคงมีจำนวนที่จำกัดอยู่ และผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่จะได้รับก่อนคือ บุคลากรด้านสาธารณสุข ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งหลาย เพื่อหวังช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และลดความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์นี้ลง

ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ยังย้ำว่า แม้จะมี วัคซีนโควิด ออกมาใช้งานแล้ว แต่การทดสอบการติดเชื้อ การติดตามตัวผู้ที่เคยอยู่ใกล้ผู้ป่วย และการกักตัวเฝ้าระวังอาการ ยังเป็นสิ่งที่ต้องทำต่อไป และทุกฝ่ายจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในกระบวนการต่างๆ เหล่านี้ด้วย

ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัย จอนส์ ฮอปกินส์  นับถึงช่วงบ่ายวานนี้ (16 พ.ย.) ตามเวลาในสหรัฐ ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกแล้วไม่น้อยกว่า 54.7 ล้านคน โดยมีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 1.32 ล้านคน

วัคซีนโควิด โมเดอร์นา ได้ผล 94.5%

ทั้งนี้ โมเดอร์นา ระบุว่า  ในการทดลองทางคลินิกในขั้นตอนสุดท้าย ที่มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 30,000 ราย นั้น มีผู้ติดเชื้อจำนวน 95 คน ที่ได้รับการทดลองทั้ง วัคซีน จริง และ วัคซีน ปลอม จำนวน 2 โดส ในระยะเวลาห่างกัน 28 วัน ในจำนวนนี้ มีผู้ที่รับวัคซีนจริงเพียง 5 คน ที่ติดเชื้อ บ่งชี้ว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงถึง 94.5%

ความสำเร็จนี้ ทำให้โมเดอร์นาเป็นบริษัทผู้ผลิตยาบริษัทที่ 2 ของสหรัฐ ที่ประกาศความสำเร็จของการทดลองวัคซีน หลังจากก่อนหน้านี้ “ไฟเซอร์” ก็ได้ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนต้านโควิดของตัวเองไปแล้ว

หากมีการยืนยันความปลอดภัย สหรัฐอเมริกาจะมีวัคซีนถึง 2 ตัว ที่จะนำมาใช้ตามแผนฉุกเฉินในเดือนธันวาคมนี้ โดยจะมีวัคซีนไว้ใช้งานราว 60 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ ในปีหน้ารัฐบาลสหรัฐ จะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้มากถึงกว่า 1,000 ล้านโดส จาก 2 บริษัทนี้ ซึ่งมากเกินพอกับความต้องการที่จะต้องใช้วัคซีนฉีดให้กับพลเมืองของประเทศราว 330 ล้านคน

วัคซีนโควิด

สำหรับวัคซีนของทั้งสองค่ายนี้ ต่างใช้เทคโนโลยี พันธุวิศวกรรมยึดตาม messenger RNA ซึ่งจะมีส่วนในกระบวนการสร้างโปรตีนของดีเอ็นเอ โดยจะมีการฉีดคำสั่งทางพันธุกรรมผ่านวัคซีนเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ เพื่อให้เซลล์สร้างสิ่งที่มีลักษณะคล้ายกับไวรัสโคโรน่า ซึ่งจะส่งผลกระตุ้นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเตรียมตัวจัดการกับสิ่งแปลกปลอมที่จะมารุกรานเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิดของโมเดอร์นามีจุดแข็งกว่า วัคซีนโควิด ของไฟเซอร์ ตรงที่ไม่จำเป็นต้องเก็บในอุณหภูมิที่ต่ำมาก โดยสามารถเก็บวัคซีนในตู้เย็นที่อุณหภูมิราว 2-8 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลานาน 30 วัน และจะสามารถเก็บรักษาได้นานถึง 20 วันในอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส

ขณะที่วัคซีนของไฟเซอร์ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิระหว่าง-70 ถึง -80 องศาเซลเซียส ซึ่งเทียบเท่ากับอุณหภูมิหน้าหนาวของขั้วโลกใต้เลยทีเดียว ซึ่งโมเดอร์นาคาดว่า จะสามารถรวบรวมข้อมูลความปลอดภัยได้เพียงพอ ที่จะขออนุมัติการใช้งานฉุกเฉินจากทางการสหรัฐ ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า และจะผลิตวัคซีนให้สหรัฐได้ราว 20 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้

ไฟเซอร์เตรียมยื่นจดทะเบียนสัปดาห์นี้ 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไฟเซอร์ บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐ เพิ่งออกมาเปิดเผยว่า วัคซีนโควิดที่พัฒนาร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ในการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

สำหรับวัคซีนดังกล่าวได้มีการทดลองในช่วงเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมทดสอบมากถึง 43,583 รายจากทั่วโลก และมีผู้ทดสอบบางส่วนได้รับวัคซีนชุดที่ 2 ไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา การทดสอบวัคซีนดังกล่าวแม้ว่าจะมีประสิทธิภาพมากถึง 90% แต่การทดสอบก็ยังดำเนินต่อไป

บริษัทได้คาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนตัวนี้ได้ 50 ล้านโดสภายในปีนี้ ขณะที่ปีหน้าคาดว่าจะผลิตได้ 1,300 ล้านโดส โดยมีประเทศต่างๆ ได้สั่งจองวัคซีนไปแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ และบริษัทเตรียมที่จะยื่นจดทะเบียนวัคซีนต่อสำนักงานอาหารและยาของสหรัฐในสัปดาห์นี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo