COVID-19

‘เศรษฐกิจเอเชีย’ อ่วมหนัก ‘ไอเอ็มเอฟ’ หั่นคาดการณ์ ปี 63 ‘ไทย’ ติดลบ 7.1%

ไอเอ็มเอฟ ชี้ เศรษฐกิจเอเชีย หดตัวแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ครั้งก่อน หลังกิจกรรมเศรษฐกิจ ตลาดเกิดใหม่หลายรายในภูมิภาคนี้ ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ในช่วงเวลาที่ต้องรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยรายงานแนวโน้ม เศรษฐกิจเอเชีย แปซิฟิค ฉบับล่าสุด เมื่อวานนี้ (21 ต.ค.) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ ลงมาอยู่ในระดับติดลบ 2.2% จากเดิมที่ประเมินไว้เมื่อเดือนมิถุนายนว่าจะติดลบ 1.6%

เศรษฐกิจเอเชีย

ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าว ยังเป็นแนวโน้มที่ตรงกันข้ามกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ที่ไอเอ็มเอฟระบุไว้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมา ว่า จะหดตัวราว 4.4% ดีขึ้นกว่าการประเมินครั้งก่อนหน้าที่ระบุว่า จะติดลบ 4.9%

สำหรับปี 2564 ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเอเชียจะฟื้นตัวขึ้น และขยายตัวราว 6.9% เพิ่มขึ้นจากการประเมินในเดือนมิถุนายน ที่คาดว่า จะขยายตัว 6.6% แต่เตือนว่า ผลผลิตเศรษฐกิจ มีแนวโน้มที่จะยังอยูในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าการเกิดวิกฤติโควิดต่อเนื่องไปในระยะกลาง และระยะยาว เพราะผลกระทบที่ยังเกาะติดอยู่

ส่วนไทยนั้น ไอเอ็มเอฟประเมินว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะหดตัว 7.1% ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งในปีหน้าที่ 4.0%

ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า การปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจเอเชียในครั้งนี้ เป็นผลมาจากการหดตัวรุนแรงกว่าเดิม ในอินเดีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 ประเทศแรก ที่ทางกองทุนชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ดิ่งลงอย่างหนัก ผลจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการขยายล็อกดาวน์

การคาดการณ์สำหรับอินเดีย ฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย

  • อินเดีย คาดว่า ในปีงบประมาณปัจจุบัน ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มีนาคม 2564 เศรษฐกิจจะหดตัวลง 10.3% รุนแรงกว่าการประเมินในเดือนมิถุนายน ที่คาดว่าจะหดตัว 4.5%
  • ฟิลิปปินส์ เศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัว 8.3% ในปีนี้ มากกว่าที่ประเมินไว้เมื่อเดือนมิถุยนที่ผ่านมา ที่ 3.6% อย่างมาก
  • มาเลเซีย มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะหดตัว 6% ในปี 2563 เทียบกับการประเมินครั้งที่แล้ว ที่ไอเอ็มเอฟชี้ว่า จะหดตัว 3.8%

อย่างไรก็ดี รายงานชี้ว่า กิจกรรมเศรษฐกิจในหลายประเทศเอเชีย กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายใต้การนำของจีน ประเทศแรกที่พบการระบาดของไวรัสโควิด-19

จีน เป็น 1 ในไม่กี่ประเทศเอเชีย ที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้นในปีนี้ โดยปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของจีนในปีนี้ ขึ้นมาอยู่ที่ 1.9% จากเดิมที่ประเมินว่า จะขยายตัว 1% ผลจากการฟื้นตัวที่เร็วเกินคาดในไตรมาส 2 และคาดว่า ในปีหน้า เศรษฐกิจจีนจะเติบโตราว 8.2%

เศรษฐกิจเอเชีย

เศรษฐกิจเอเชีย กำลังฟื้นตัว

ก่อนหน้านี้  ธนาคารโลก เพิ่งเปิดรายงาน “From Containment to Recovery” อัปเดตข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก (EAP) ประจำเดือนตุลาคม 2563 โดยระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางประเทศ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้นั้น กำลังฟื้นตัวขึ้นมา

ธนาคารโลก ประเมินว่า จีนจะเติบโตขึ้น 2.0% อันเนื่องมาจากการเพิ่มการลงทุนของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน จีนยังสามารถควบคุมอัตราการติดเชื้อใหม่ในระดับที่ต่ำได้ตั้งแต่เดือน มีนาคมที่ผ่านมา

สำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ ธนาคารโลกคาดว่า เศรษฐกิจจะหดตัวรวมกัน 3.5% แต่โอกาสการฟื้นตัว ดูสดใสขึ้น ในปี 2564 โดยคาดการณ์การเติบโตในจีน 7.9% ในปีหน้า ขณะที่ประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคโตที่ 5.1%

กระนั้นก็ตาม ในอีก 2 ปีข้างหน้ามีการคาดการณ์ผลผลิตไว้ว่าจะยังคงต่ำกว่าการคาดการณ์ในช่วงก่อนเกิดโรคระบาด โดยแนวโน้มทางเศรษฐกิจจะแย่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าตลอดปี 2564 ผลผลิตจะยังคงต่ำกว่าระดับช่วงก่อนเกิดเหตุวิกฤติ 10% โดยประมาณ

รายงานยังระบุว่า โควิด-19 ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกใน 3 ด้าน ต่อประเทศกำลังพัฒนาของเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก คือ ตัวของโรคระบาดเอง ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ จากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาด และการตกต่ำของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยาวนาน

ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จีนมีผลผลิตที่หดตัวลง 1.8% และประเทศอื่นๆของภูมิภาคนี้หดตัวลง 4% โดยเฉลี่ย

แต่ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในเร็ววัน แม้ว่าเงินทุนระยะสั้น ได้ไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาค แต่ความไม่แน่นอนที่มีอยู่ทั่วโลก กลายมาเป็นปัจจัยสกัดกั้นการลงทุน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่นเดียวกับความสามารถของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เผชิญกับข้อจำกัดมากขึ้น

ความยากจนในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี โดยคาดการณ์ว่า ประชากร 38 ล้านคน จะยังตกอยู่ในความยากจน หรือต้องกลับไปอยู่ในความยากจน ซึ่งเป็นผลมาจากโรคระบาด

นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวว่า โควิด-19 ไม่เพียงแต่ ส่งผลกระทบต่อกลุ่มคนยากจนอย่างหนักหน่วงที่สุด แต่ยังสร้างคนจนกลุ่มใหม่ขึ้นมาด้วย

รายงานเตือนว่า หากไม่มีการดำเนินการเพื่อรับมือในรูปแบบที่หลากหลาย โรคระบาดอาจทำให้การเติบโตของภูมิภาคน้อยลงในช่วงทศวรรษหน้า หรือช่วง 10 ปี คิดเป็น 1% ต่อปี ซึ่งกระทบต่อครัวเรือนยากจนมากที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo