COVID-19

วัคซีนโควิด-19 อีกนาน อนามัยโลกชี้เหลือตัวเดียวที่ได้ผล

วัคซีนโควิด ยังอีกยาวไกล แม้ทั่วโลกเร่งการทดลองทางคลินิก หลังจากองค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุว่าการทดลองวัคซีนที่เป็นความหวัง 4 ตัว แทบไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึง ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)

องค์การอนามัยโลก ระบุว่าผลลัพธ์ล่าสุดจากการทดลองระหว่างประเทศของยารักษาโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) จำนวน 4 ตัว ชี้ให้เห็นว่ายาเหล่านี้มีประสิทธิภาพป้องกันการเสียชีวิตหรือลดระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาล “เพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่มีเลย”

องค์การฯ ได้ประกาศยุติการทดลองยาไฮดรอกซีคลอโรควิน (Hydroxychloroquine) ในเดือนมิถุนายน รวมถึงยาโลพินาเวียร์ (Lopinavir) ที่ทดลองร่วมกับยาริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ในเดือนกรกฎาคม โดยอ้างว่าการรักษาด้วยยาดังกล่าวช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลกระบุว่าผลลัพธ์ระหว่างการทดลองในปัจจุบันยัง ชี้ให้เห็นว่ายาที่เข้าร่วมทดลองอีก 2 ตัว ได้แก่ ยาเรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) และยาอินเตอร์เฟียรอน (Interferon) มีผลในการป้องกันการเสียชีวิตหรือลดเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย

“ผลที่ได้มาจากการทดลองในโครงการโซลิดาริที ไทรอัล (Solidarity Trial) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอนามัยโลก”

นายทีโดรส กล่าวอีกว่าโครงการทดลองดังกล่าวยังคงเปิดรับสมัครผู้ป่วยราว 2,000 รายต่อเดือน และจะประเมินการรักษาด้วยแนวทางอื่นๆ ซึ่งรวมถึงโมโนโคลนอล แอนติบอดี (monoclonal antibody) และยาต้านไวรัสตัวใหม่

“ขณะนี้ยาเดกซาเมธาโซน (Dexamethasone) กลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ยังคงเป็นยารักษาเพียงตัวเดียวที่มีประสิทธิผลต้านโรคโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยอาการรุนแรง”

ทั้งนี้ โครงการโซลิดาริที ไทรอัล ซึ่งเปิดตัวในเดือนมีนาคม เป็นการทดลองรักษาโรคโควิด-19 แบบสุ่มขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีผู้ป่วยเกือบ 13,000 ราย จากโรงพยาบาล 500 แห่งใน 30 ประเทศ เข้าร่วมการทดลอง

ขณะที่โลกกำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อควบคุมการระบาดใหญ่ หลายประเทศทั่วโลก เช่น ฝรั่งเศส อิตาลี จีน รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ต่างกำลังเร่งแสวงหาวัคซีนป้องกัน

ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จำนวน 198 รายการ เมื่อนับถึงวันที่ 15 ต.ค. โดยวัคซีน 42 รายการอยู่ในขั้นการทดลองทางคลินิก

ด้านสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุการเริ่มดำเนินการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 แบบปรับตามผลลัพธ์ที่ได้ เพื่อประเมินความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการใช้ยาปรับภูมิคุ้มกัน 3 ตัว ในผู้ใหญ่ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 บางรายเผชิญกับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มีการปล่อยโปรตีนในปริมาณที่มากเกินไปจนก่อให้เกิดการอักเสบ การทดลองทางคลินิกครั้งนี้จึงมุ่งตรวจสอบว่าการปรับการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจะช่วยลดความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยหายใจและย่นระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้หรือไม่

สถาบันฯ ระบุว่าการทดลองแอคทีฟ-1 อิมมูน โมดูเลเตอร์ (ACTIV-1 Immune Modulators) จะตรวจสอบว่าการรักษาด้วยยาปรับภูมิคุ้มกันดังกล่าวจะสามารถคืนความสมดุลให้กับระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานมากเกินไปได้หรือไม่ โดยจะรับสมัครผู้ใหญ่ที่รักษาตัวด้วยโรคโควิด-19 อาการปานกลางถึงรุนแรง ราว 2,100 ราย จากสถานพยาบาลในสหรัฐฯ และลาตินอเมริกา

สถาบันฯ เผยว่าผู้เข้าร่วมทดลองทุกคนจะได้รับยาเรมซิเดเวียร์ (remdesivir) ซึ่งปัจจุบันถูกกำหนดเป็นมาตรฐานสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาล ส่วนน้ำเลือดหรือพลาสมาที่มีโปรตีนภูมิคุ้มกัน (convalescent plasma) และยาเดกซาเมธาโซน (dexamethasone) จะได้รับอนุญาตให้ใช้ตามดุลยพินิจของสถานพยาบาลแต่ละแห่งและเป็นไปตามแนวปฏิบัติของประเทศ

อ่านเพิ่มเติม Johnson & Johnson ระงับทดลองวัคซีนโควิด-19 หลังผู้เข้าร่วมป่วยไม่รู้สาเหตุ 

Avatar photo