COVID-19

‘ซื้อพาสปอร์ต’ วิถีคนรวย เดินทางข้ามชาติ ช่วง ‘โควิด’ ระบาด

สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกนั้น หมายความถึง ทางเลือกในการเดินทางที่น้อยลง  แต่เรื่องนี้ ไม่ใช่ปัญหาสำหรับครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวยอย่างมาก ที่กำลังใช้จ่ายเงินเพิ่มมากขึ้น เพื่อ “ซื้อหนังสือเดินทาง”  หรือ “พาสปอร์ต” สำหรับการเข้าไปยังประเทศต่างๆ ที่กำลังปิดตายอยู่

เรื่องนี้ คือ โลกแห่งการลงทุนย้ายถิ่นฐานของกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย เป็นโลกที่ หนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ไม่ใช่แค่เพียงเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัญชาติ หรือ ความเป็นพลเมืองเท่านั้น แต่ยัง เป็นการเคลื่อนย้ายความมั่งคั่ง และความต้องการต่างๆ ไปทั่วโลกด้วย

GettyImages 1158399482

วิธีการดังกล่าว เรียกกันว่า “โครงการพลเมืองด้วยการลงทุน” หรือ CIPs ซึ่งปัจจุบัน กำลังเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างมาก เช่นเดียวกับ การลงทุนเพื่อได้สิทธิผู้พักอาศัย หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “วีซ่าทองคำ”

การซื้อพาสปอร์ตไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด รัฐบาลหลายประเทศมีโครงการมอบสัญชาติ หรือวีซ่าให้ชาวต่างชาติ ที่นำเม็ดเงินจำนวนมาก เข้าไปลงทุนในประเทศของตัวเองอยู่แล้ว

ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แรงจูงใจหลักของกลุ่มคนที่ทำ CIPs ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะมีความมั่งคั่งตั้งแต่ 2 ล้านดอลลาร์ ไปถึงมากกว่า 50 ล้านดอลลาร์นั้น คือ การเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ประโยชน์ทางภาษี และปัจจัยต่างๆ ในด้านการใช้ชีวิต อาทิ การศึกษาที่ดีขึ้นกว่าเดิม หรือ เสรีภาพของพลเมือง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ บรรดาครอบครัวมหาเศรษฐี มีเหตุผลที่จะซื้อสัญชาติ หรือวีซ่าเพิ่มขึ้น  คือ การรับบริการด้านสุขภาพ และการหาประเทศอื่นรองรับ เผื่อเกิดเหตุการณ์ระบาดแบบนี้ขึ้นมาอีก ในอนาคต

โดมินิค โวเล็ค หัวหน้าแผนกเอเชีย ของ เฮนลีย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส บริษัทให้คำปรึกษาด้านการถือสัญชาติ และการหาที่พำนัก ระบุว่า บุคคลที่มีฐานะร่ำรวย ไม้ได้วางแผนล่วงหน้ากันแค่ 5-10 ปี แต่พวกเขามักจะวางแผนด้านการเงิน และความเป็นอยู่ล่วงหน้านานถึงกว่าร้อยปี โดยเฉพาะในช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด เนื่องจากนี่อาจไม่ใช่การระบาดครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียวในชั่วชีวิตของพวกเขา

ทางบริษัทยังได้รับคำขอรับบริการจากลูกค้ามากขึ้นถึง 49% ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายนปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งจำนวนของลูกค้าที่เดินเรื่องลงทุน เพื่อขอสัญชาติ และวีซ่า ยังเพิ่มขึ้นถึง 42% ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

GettyImages 1141554720

พาสปอร์ต “มอนเตเนโกร” ขายดีสุด 

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ มอนเตเนโกร เป็นประเทศที่มีผู้ลงทุนเพื่อถือสัญชาติมากที่สุด โดยจำนวนผู้ขอสัญชาติเพิ่มขึ้นถึง 142% เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ตามด้วยไซปรัส ที่เพิ่มขึ้น 75% และมอลตา ก็เป็นอีกประเทศ ที่มีผู้สนใจอยากถือสัญชาติอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ

โวเล็คอธิบายว่า ไซปรัส และมอลตาได้รับความนิยมเพราะผู้ถือสัญชาติสองประเทศนี้จะได้เสรีภาพในการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศอื่นในสหภาพยุโรปด้วยอัตโนมัติ และยังสามารถเข้าถึงการศึกษา และการบริการด้านสุขภาพที่ดีกว่าด้วย

สัญชาติออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นอีกสองสัญชาติที่ได้รับความนิยมสูง เนื่องจากประสิทธิภาพในการรับมือกับภาวะวิกฤติ โดยเฉพาะนิวซีแลนด์ที่รับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ดีเยี่ยม

ซื้อพาสปอร์ต 01

แต่สัญชาติเหล่านี้ก็แลกมาด้วยราคาที่สูง โดยผู้ที่ต้องการถือสัญชาติออสเตรเลียต้องลงทุนด้วยเงิน 1-3.5 ล้านดอลลาร์ ส่วนสัญชาตินิวซีแลนด์มีราคาสูงขึ้นมาที่ 1.9-6.5 ล้านดอลลาร์ โดยโวเล็คกล่าวว่า นักลงทุนหลายคนเลือกวิธีใช้เงินสร้างฟาร์มสัตว์แบบยั่งยืน เพื่อที่พวกเขาจะได้มีสถานที่ให้พักพิง มีอาหารรองรับ หากเกิดวิกฤติขึ้นมา

จำนวนคนร่ำรวย ที่ต้องการซื้อพาสปอร์ตก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีเศรษฐีอเมริกัน  อินเดีย ไนจีเรีย และเลบานอน ที่ลงทุนซื้อสัญชาติ เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ มีชาวอเมริกันเดินเรื่องขอสัญชาติเพิ่มขึ้นถึง 700% เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว

นอกจากนี้ เศรษฐีจากจีน และตะวันออกกลางก็เป็นกลุ่มใหญ่ที่ซื้อสัญชาติเช่นกัน

พาสปอร์ต

หาที่ปลอดภัย ห่างไกลโควิด

คนร่ำรวยบางกลุ่มลงทุนซื้อสัญชาติเ พื่อหาสถานที่หลบภัยให้ครอบครัว หากเกิดเหตุโรคระบาดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

นูริ แคทซ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทให้คำปรึกษาด้านการเงินระหว่างประเทศ Apex Capital Partners ระบุว่า กลุ่มคนที่ซื้อสัญชาติเห็นว่าประเทศที่มีขนาดเล็กกว่า สามารถรับมือกับโรคระบาดได้ดีกว่า เช่น ประเทศในแถบหมู่เกาะแคริบเบียนที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่ำมาก ในขณะที่ประเทศใหญ่อย่างสหรัฐ มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก

ประเทศหมู่เกาะเหล่านี้มีค่าลงทุนซื้อสัญชาติที่ไม่สูงมาก โดยแคทซ์ยกตัวอย่างว่า หากคุณเป็นเศรษฐีชาวบังกลาเทศ ที่พาสปอร์ตต้องขอวีซ่า เพื่อไปแทบทุกประเทศในโลก แต่หากคุณบริจาคเงิน 100,000 ดอลลาร์ พร้อมค่าธรรมเนียมให้รัฐบาลของประเทศแถบแคริบเบียนอย่างแอนติกาและบาร์บูดา ครอบครัวของคุณ 4 คน ก็จะได้รับพาสปอร์ตของประเทศนี้ภายในเวลาราว 4-6 เดือน

แคทซ์ยังกล่าวด้วยว่า การถือพาสปอร์ตของอีกประเทศหนึ่ง ยังช่วยเปิดพรมแดนให้ผู้ถือพาสปอร์ตได้มากขึ้น หากในอนาคตมีเหตุการณ์ให้เกิดการ ปิดพรมแดนประเทศอีก

สำหรับโครงการลงทุนแลกสัญชาติหรือถิ่นพำนักในประเทศต่างๆ นั้น ประเทศแรกที่ทำโครงการนี้คือ ประเทศเซนต์คิตส์และเนวิส ในแถบหมู่เกาะแคริบเบียน เมื่อปี 2527 ก่อนที่ประเทศอื่นๆ จะทยอยเปิดโครงการตามมา

บางประเทศอาจกำหนดให้ผู้ขอรับสัญชาติก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งบริษัทที่สร้างงานให้คนท้องถิ่น หรือต้องอาศัยในประเทศตามระยะเวลาที่กำหนด หรือให้ลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาล อสังหาริมทรัพย์ หรือโครงการพัฒนาต่างๆ

พาสปอร์ต

เงินลงทุนที่แต่ละประเทศกำหนดก็แตกต่างกัน โดยประเทศแอนติกัวและบาร์บูดากำหนดเงินลงทุนที่ 1 แสนดอลลาร์ ประเทศเซนต์คิตส์และเนวิสกำหนดที่ 250,000 ดอลาร์ กรีซกำหนดที่ 280,000 ดอลลาร์ โปรตุเกสกำหนดที่ 380,000 ดอลลาร์ มัลตากำหนดที่ 1.1 ล้านดอลลาร์และไซปรัสกำหนดที่ 2.4 ล้านดอลลาร์

แม้จะไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่แคทซ์ก็คาดการณ์ว่า ในปีนี้มีผู้ได้รับสัญชาติผ่านการลงทุนเกือบ 25,000 คน เพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อสามปีก่อน ที่คาดว่ามีราว 5 พันคน

อย่างไรก็ตาม การใช้เงินลงทุนแลกกับสัญชาตินี้ ก็ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะเป็นเวลาหลายเดือน ถึงหลายปี โดยทั่วไป ผู้ยื่นเรื่องขอสัญชาติจะถูกประเมินด้านการงาน และประวัติอาญาเพื่อตรวจสอบว่า เงินที่นำมาลงทุนนั้น ได้มาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น มอลตา ที่มีขั้นตอนตรวจสอบวิเคราะห์สถานะถึง 4 ขั้นตอน ผู้ยื่นขอสัญชาติต้องระบุทรัพย์สินสุทธิ แหล่งเงินทุน และต้องมีหนังสือรับรองความประพฤติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติของประเทศที่เกิด ประเทศที่ถือสัญชาติ และประเทศใดๆ ก็ตามที่พวกเขาพำนักเกินหกเดือนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ด้านลบขอสัญชาติประเทศอื่น

ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งฝ่ายผู้ที่ต้องการสัญชาติและฝ่ายประเทศที่มอบสัญชาติ แต่ก็มีผู้ออกมาวิจารณ์ถึงช่องโหว่ของโครงการนี้เช่นกัน เช่น เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น Transparency International ที่ระบุว่า โครงการมอบสัญชาติและที่พำนักในมอลตา ไซปรัส โปรตุเกส และสเปน เป็นการขายสัญชาติของประเทศสหภาพยุโรป ให้นักลงทุนต่างชาติ โดยมีการตรวจสอบและความโปร่งใสเพียงเล็กน้อย

พาสปอร์ต

เคท ฮูปเปอร์ ผู้ช่วยนักวิเคราะห์นโยบาย สถาบันนโยบายผู้อพยพ ซึ่งเป็นกลุ่มคลังสมอง กล่าวว่า โครงการขอสัญชาติของหลายประเทศ ไม่มีการเปิดเผยขั้นตอนการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ ทำให้มีคำถามตามมาว่า ขั้นตอนเหล่านี้ คัดกรองคน และสืบหาต้นตอเงินของพวกเขาได้อย่างมีประสิทธิภาพแค่ไหน

จอร์จ ดีมาร์ติโน อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ และจริยธรรมระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ ยังเห็นว่า โครงการมอบสัญชาติเหล่านี้ เป็นการมอบอภิสิทธิ์ให้กับกลุ่มคนที่มีอภิสิทธิ์อยู่แล้ว โดยให้สิทธิ์กลุ่มคนร่ำรวยที่มีความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานน้อยที่สุด

ขณะที่กลุ่มคนที่ต้องการอพยพอย่างแท้จริง เช่น กลุ่มที่มีปัญหาทางการเงิน กลับไม่ได้ประโยชน์อะไรจากโครงการนี้เลย

ที่มา : CNN, VOA

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo