COVID-19

พิษโควิดแรงเกินคาด! ไอเอ็มเอฟหั่นคาดการณ์ศก. โลก ปี 63 หดตัว 4.9% ไทยติดลบ 7.7%

ไอเอ็มเอฟ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2563 ลงมาอยู่ในระดับติดลบ 4.9% ประเมินไทยติดลบ 7.7% ระบุ วิกฤติโควิด-19 สร้างความเสียต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และเป็นวงกว้างมากกว่าที่ประเมินไว้ในครั้งแรก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ประจำเดือนมิถุนายน 2563 ที่ประเมินว่า ในปี 2563 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โลก จะหดตัวราว 4.9% จากเดือนเมษายน ที่คาดว่าจะหดตัวราว 3%

ไอเอ็มเอฟ

“การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบในด้านลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และคาดว่า การฟื้นตัวจะอยู่ในระดับที่ช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ด้วย”

พร้อมกันนี้ ยังปรับตัวเลขคาดการณ์จีดีพี สำหรับปี 2564 ลงมาเช่นกัน โดยคาดว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะขยายตัวราว 5.4% ลดลงจากระดับ 5.8% ที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ยังมองว่า ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าจะได้รับผลกระทบหนักกว่าประเทศในกลุ่มอื่น โดยคาดว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ในปีนี้ จะหดตัวถึง 8.0% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง 5.9% และคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัว 10.2% ในปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวลง 7.5%

อย่างไรก็ดี จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงประเทศเดียว ที่ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวในปีนี้ ที่ระดับ 1.0% แต่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ในเดือนเมษายนว่าจะขยายตัว 1.2%

ในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และกำลังพัฒนาในเอเชียนั้น ไอเอ็มเอฟ คาดว่า อินเดีย จะติดลบ 4.5% ในปีนี้ ก่อนที่จะขยายตัว 6.0% ในปีหน้า และคาดว่า การเติบโตโดยรวมของ 5 ชาติเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของอาเซียน คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม จะอยู่ที่ ติดลบ 2.0% ก่อนที่จะขยายตัว 6.2% ในปี 2564

เฉพาะไทยนั้น คาดว่า เศรษฐกิจในปีนี้จะหดตัวถึง 7.7% ก่อนจะขยายตัว 5.0% ในปีหน้า

ไอเอ็มเอฟอธิบายถึงการปรับลดตัวเลขคาดการณ์ต่างๆ ว่า เป็นเพราะมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะบังคับใช้ไปจนถึงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยที่การผลิต และซัพพลายเชน ก็ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

สถาบันการเงินข้ามชาติแห่งนี้ ย้ำว่า ยังเป็นเรื่องจำเป็นที่ธนาคารกลาง และรัฐบาลต่างๆ จะต้องออกมาตรการสนับสนุนการจ้างงาน และภาคธุรกิจ เพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ไอเอ็มเอฟ

อย่างไรก็ดี รายงานเตือนว่า ในขณะที่รัฐบาลทั่วโลกต่างเร่งออกมาตรการทางการคลังเพื่อพยุงเศรษฐกิจ แต่การหดตัวของจีดีพีโลก และการลดลงของรายได้ภาครัฐจะส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะทั่วโลก เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ไอเอ็มเอฟ คาดว่า ระดับหนี้สาธารณะโลกจะทะยานขึ้นมาอยู่ในสัดส่วนที่สูงถึง 101.5% ของจีดีพี ในปี 2563 และจะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นในปี 2564 ไปอยู่ที่ระดับ 103.2% ต่อจีดีพี  โดยที่อัตราเฉลี่ยของการขาดดุลงบประมาณทั่วโลก จะพุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 13.9 % ต่อจีดีพี หรือ เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2562

กีต้า โกพินาถ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ไอเอ็มเอฟ ระบุว่า โควิด-19 ได้ทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะล็อกดาวน์ครั้งใหญ่ ที่แม้ว่าจะช่วยลดการแพร่ระบาดของโควิดได้ แต่กลับกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ด้วยเช่นกัน

การปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกรอบล่าสุดของไอเอ็มเอฟ นับว่าเลวร้ายกว่าวิกฤติการเงินรอบล่าสุดเมื่อสิบปีก่อน ที่จีดีพีโลกหดตัว 0.1% ภายใต้สถานการณ์ที่ทั่วโลกยังคงต้องรักษาระยะห่างทางสังคมกันต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้

แต่ประมาณการณ์ล่าสุดนี้ ยังถือว่าดูดีกว่าประมาณการณ์เศรษฐกิจโลก จากธนาคารโลก และโออีซีดี ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลก จะหดตัวได้ถึง 5.2% และ 6% ตามลำดับ ก่อนจะเห็นสัญญาณฟื้นตัวได้ในปีหน้า

ไอเอ็มเอฟ ประเมินว่า พิษโควิด-19 สะเทือนเศรษฐกิจโลก คิดเป็นมูลค่า 12 ล้านล้านดอลลาร์ไปแล้ว และว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี กว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับฟื้นคืนมาเหมือนช่วงปลายปี 2562 ได้ พร้อมทั้งแนะรัฐบาลให้ระมัดระวังเรื่องการลดระดับความช่วยเหลือด้านการเงิน เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่เปราะบางจากไวรัสโควิด-19

ที่มา : IMF, VOA

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo