COVID-19

เปิดความหมาย คำเกี่ยวข้อง ‘โควิด-19’ ที่ได้ยินกันบ่อย

การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทำให้คำศัพท์ทางการแพทย์ที่เคยใช้กันแต่ในแวดวงคุณหมอและพยาบาลกลายเป็นคำที่คนทั่วไปคุ้นเคย ซึ่งอาจเป็นข้อดีอย่างหนึ่งที่เกิดจากภาวะวิกฤติครั้งนี้

คำศัพท์เทคนิคหลายคำที่คณะแพทย์และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขใช้ในการแถลงข่าวประจำวันตลอด 3 เดือนที่ผ่านมาเริ่มเข้ามาอยู่ในบทสนทนาประจำวันของผู้คนที่ต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างใกล้ชิด และยังมีอีกหลายคำที่ได้ยินบ่อย แต่บางคนยังไม่ค่อยเข้าใจว่าหมายถึงอะไรกันแน่

GettyImages 1206499104

  • PUI = ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค

ได้ยินกันบ่อยครั้งจากการแถลงว่า “พียูไอ” คำนี้ย่อมาจาก Patient Under Investigation หมายถึงผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ซึ่งก็คือคนที่มีอาการและประวัติเสี่ยงต้องได้รับการตรวจหาเชื้อ โดยตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดถึงวันที่ 21 มีนาคม ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีรายงานล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไทยมี PUI ทั้งหมด 10,343 ราย

  • Super Spreader = ผู้ที่แพร่เชื้อออกเป็นวงกว้าง / Cluster = ผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) อธิบายว่าโดยเฉลี่ยแล้วผู้ติดเชื้อหนึ่งคนจะแพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้ประมาณ 2 คน แต่สำหรับ Super Spreader จะสามารถแพร่เชื้อไปได้หลายเท่า หรือมากกว่า 20 คน

สำหรับในประเทศไทย การแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง (Super Spreading) เกิดขึ้นใน Cluster หรือกลุ่มสนามมวย และ Cluster สถานบันเทิง ซึ่งยังคงพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทาง สธ. ยังไม่สามารถหาต้นตอผู้แพร่เชื้อได้ แต่สันนิษฐานว่าต้นตอการแพร่เชื้อในสถานบันเทิงเป็นชาวฮ่องกงที่มาเที่ยวกับกลุ่มเพื่อคนไทยกว่า 10 คน

อย่างไรก็ตาม นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป คร. ชี้แจงเมื่อวันที่ 22 มีนาคมว่า “การมุ่งหาต้นเหตุการป่วยของแต่ละคนอาจจะสำคัญน้อยแล้ว ที่สำคัญคือต้องป้องกันไม่ให้คนที่กำลังป่วยหรือเพิ่งเริ่มป่วยแพร่เชื้อไปยังคนอื่น”

  • Droplets = ละอองฝอยของสารคัดหลั่ง / Airborne = ทางอากาศ

เนื่องจากโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ ในช่วงแรกจึงยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าสามารถติดต่อกันได้อย่างไร ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม องค์การอนามัยโลก (WHO) ยืนยันว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ติดต่อกันจากการที่ผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือพูด ซึ่งทำให้คนอื่น ๆ ในระยะไม่เกิน 1 เมตร หายใจเอาละอองฝอยของสารคัดหลั่ง (Droplets) เข้าไป

ละอองฝอยมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่จะลอยไปในอากาศได้ จึงไม่ติดต่อกันผ่านทางอากาศหรือ Airborne โดยเชื้อจะตกลงบนพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ราวจับ และหากนำมือไปสัมผัส แล้วนำมาสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ซึ่งก็เสี่ยงติดเชื้อได้ จึงควรล้างมือบ่อย ๆ

111484892 228773

  • Swab = เก็บตัวอย่างส่งตรวจ

แท้จริงแล้วการเก็บตัวอย่างส่งตรวจห้องปฏิบัติการมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Specimen Collection ส่วนสาเหตุที่เรียกกันว่า “Swab” เนื่องจากเป็นการใช้ไม้ป้าย โดยวิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจของโรคโควิด-19 นั้น แพทย์จะนำไม้สอดเข้าไปในจมูกเพื่อเก็บสารคัดหลั่งจากหลังโพรงจมูก (Nasopharyngeal swab) และไม้เก็บตัวอย่างอีกอันหนึ่งสำหรับนำไปป้ายในคอ (Throat swab)

  • Herd Immunity = ภูมิคุ้มกันหมู่

ภูมิคุ้มกันหมู่คือภาวะที่ประชากรส่วนมากของสังคมมีภูมิคุ้มกันโรค ทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อและรักษาหายดีจนร่างกายรับเชื้ออีกไม่ได้ หรือการฉีดวัคซีน ซึ่งเมื่อสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกันโรคมีมากพอ จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้

แพทริก วัลแลนซ์ หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลอังกฤษ เสนอให้ปล่อยให้ประชาชนส่วนใหญ่ติดเชื้อไวรัสไปก่อนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่นักวิทยาศาสตร์วิจารณ์ว่าเป็นวิธีการที่เสี่ยงเกินไปและอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเนื่องจากระบบสาธารณสุขรองรับการรักษาไม่ไหว

  • Social Distancing = เว้นระยะห่างจากสังคม / Quarantine = การกักกันเพื่อสังเกตอาการเริ่มป่วย

การเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยไม่ไปที่มีผู้คนแออัด หรือหากจำเป็นก็ควรเว้นระยะจากผู้อื่น 1-2 เมตร

อีกหนึ่งคำที่มาคู่กันคือ Quarantine หมายถึงการกักกันเพื่อสังเกตอาการเริ่มป่วย คำนี้จะใช้เฉพาะผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงติดโรค เช่น กลับจากต่างประเทศหรือมีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วย แม้ยังไม่มีอาการแต่ควรกักกันตัวเองในระยะฟักตัวของโรคเพื่อดูอาการราว 14 วัน ป้องกันการไปแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว

การ Quarantine มีอยู่ 3 รูปแบบ

  • Home Quarantine คือการให้ผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงกักกันที่บ้าน มาตรการนี้ในไทยบังคับทั้งนักท่องเที่ยวและชาวไทยผู้ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง กักกันตัว 14 วันที่บ้านหรือโรงแรม โดยให้ใช้แอปพลิเคชันของท่าอากาศยานไทย (AOT) ในการติดตามตัว
  • State Quarantine คือการกักกันโรคที่ศูนย์ควบคุมโรคซึ่งหน่วยงานของรัฐจัดตั้งขึ้น เช่น ศูนย์กักกันโรคที่ฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งใช้เป็นที่กักกันโรคคนไทยที่กลับจากอู่ฮั่นและแรงงานไทยที่กลับจากเกาหลี
  • Local Quarantine คือการกักกันโรคในท้องถิ่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ ก่อนหน้านี้เคยมีการตั้งศูนย์กักกันโรคในหลายจังหวัด แต่มีคำวิพากษ์วิจารณ์เรื่องอุปกรณ์และการจัดสถานที่ เช่น ให้ผู้ถูกกักกันโรคนอนในมุ้งหรือเต็นท์ ใช้ห้องน้ำรวม ซึ่งอาจจะยิ่งทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคมากขึ้น สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งยกเลิกศูนย์เหล่านี้ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมเป็นต้นมา

83989768 1290138637839019 7670335914438033408 o 2

  • PPE = อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล

อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ Personal Protective Equipment (PPE) มีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่า “ชุดหมี” เนื่องจากต้องใส่คลุมทั้งตัว มี Face Shield หรือแผ่นพลาสติกป้องกันใบหน้า และหน้ากากอนามัยชนิดป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก N95 รวมไปถึงใส่ถุงมือถุงเท้าอย่างมิดชิด

แพทย์หญิงในโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งเล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า ชุด PPE นี้จะใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ และการเก็บสิ่งส่งตรวจ (Swab) จำเป็นต้องทิ้งหลังจากเข้าไปเก็บตัวอย่างจากคนไข้แต่ละคน แต่เมื่อชุด PPE ขาดแคลน บุคลากรทางการแพทย์บางคนจึงไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตัวขณะปฏิบัติหน้าที่ หรือต้องดัดแปลงอุปกรณ์ที่หาได้มาใช้ทดแทน แม้จะป้องกันไม่ได้เต็มที่ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย

อย่างไรก็ตามปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงวันที่ 30 มี.ค. ระบุว่าเร่งจัดหาอุปกรณ์เหล่านี้ให้เพียงพอ โดยปัจจุบันมีหน้ากากอนามัยชนิด N95 คงคลังอยู่ 172,556 ชิ้นเท่านั้น แต่มีความต้องการใช้จำนวน 17,000 ชิ้นต่อวัน จึงได้สั่งซื้อจากต่างประเทศและจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (G2G) จากประเทศจีน และเตรียมดำเนินการจัดส่งชุด PPE จำนวน 2,000 ชุด ไปยังเขตสุขภาพทั่วประเทศภายในวันที่ 31 มี.ค.

  • Rapid Test = ชุดตรวจเร็ว

ท่ามกลางจำนวนผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จำนวนห้องปฏิบัติการในการตรวจยืนยันอาจมีไม่เพียงพอ และใช้เวลาในการตรวจค่อนข้างนาน จึงมีการพัฒนาชุดตรวจเร็วขึ้น

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ว่าได้อนุมัติชุดตรวจเร็วแล้ว ทั้งหมด 6 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นชุดตรวจหาพันธุกรรมของเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่ง (PCR) และการตรวจจากภูมิคุ้มกัน IgM/IgG

โดย IgM แปลว่าอยู่ในระยะติดเชื้อฉับพลัน และ IgG แปลว่าติดเชื้อจนเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันแล้วหรือเคยสัมผัสเชื้อมาก่อน ทั้งหมดนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แนะนำว่าควรให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นผู้อ่านผล ไม่ควรไปซื้อตรวจเอง เนื่องจากอาจอ่านผลคลาดเคลื่อน

  • Negative Pressure Room = ห้องความดันลบ

ห้องความดันลบคือห้องที่มีความดันอากาศภายในห้องต่ำกว่าภายนอก เมื่อเปิดประตูห้อง อากาศภายนอกจะมีความดันอากาศสูงกว่า ส่งผลให้อากาศภายในห้องหรือเชื้อไวรัสไม่ไหลออกไปนอกห้อง

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ ให้สัมภาษณ์ในรายการตอบโจทย์ของไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ว่าโรงพยาบาลภาครัฐในกรุงเทพฯ มีห้องความดันลบประมาณ 70 ห้อง ขณะที่โรงพยาบาลเอกชนมีอีกจำนวนหนึ่ง

“ส่วนใหญ่แล้วห้องความดันลบจะใช้ในโรคที่ติดทางอากาศ (Airbrone)…แต่เมื่อเรารู้ว่าโรคนี้ไม่ได้ลอยอยู่ในอากาศ แต่ติดทางสัมผัส ความมั่นใจก็เลยเริ่มมากขึ้นว่าผู้ป่วยทั้งหมดไม่มีความจำเป็นต้องอยู่ในห้องความดันลบ” ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ กล่าวในการแถลงข่าว ณ ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 เมื่อวันที่ 20 มีนาคม

medical doctor wuhan

  • Cohort Ward = หอผู้ป่วยรวมแยกโรค / Hospitel = หอผู้ป่วยเฉพาะ

เพื่อเป็นการรองรับผู้ป่วยในระยะที่มีการแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันเริ่มมีการเตรียมหอผู้ป่วยรวมแยกโรค หรือ Cohort Ward ทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลหรือในสถานที่อื่น เช่น มหาวิทยาลัย ศาลากลางจังหวัด และโรงแรม ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด

โดยมีมาตรการให้ผู้ติดเชื้อเมื่ออยู่ในโรงพยาบาลนาน 2-7 วันเพื่อเฝ้าดูอาการ หากมีอาการไม่รุนแรง สามารถย้ายผู้ติดเชื้อไปพักรักษาตัวในโรงพยาบาลสนาม หรือหอผู้ป่วยเฉพาะ  ที่โรงพยาบาลจัดเตรียมไว้จนครบ 14 วันนับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนเตียงในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยรายใหม่ และผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง

ที่มา: BBC Thai

Avatar photo