COVID-19

น่าสงสัย! ผู้เชี่ยวชาญกังขา ‘โควิด-19’ อาเซียน ดูต่ำกว่าจริง

ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขแสดงความสงสัยเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)  ในบางประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งอาจชี้ให้เห็นถึงความสามารถทำการทดสอบผู้ติดเชื้อที่จำกัด และทำให้รัฐบาลที่เกี่ยวข้องเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออกมาตรการควบคุม และป้องกันต่างๆ ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดมากไปกว่าที่เป็นอยู่

GettyImages 1206499104

เมียนมา และลาว ซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน ประเทศแรกที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพิ่งรายงานตัวเลขการพบผู้ติดเชื้อครั้งแรก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากแจ้งว่าไม่มีผู้ติดเชื้อเลยนับตั้งแต่วิกฤติโควิด-19 รุนแรงขึ้นมาเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (29 มี.ค.) ระบุว่า มีผู้ติดเชื้อในเมียนมา และลาว ประเทศละ 8 ราย ขณะที่กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับจีน รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ 103 และ 188 ราย ตามลำดับ

มาร์ค ซิมเมอร์แมน ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ซึ่งทำงานในประเทศไทย และเคยทำงานที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐ (CDC) ในช่วงที่มีการระบาดของโรคซารส์ เมื่อปี 2546 แสดงความเห็นว่า ตัวเลขที่ดูต่ำนี้ น่าจะเป็นผลมาจากความสามารถในการทำการทดสอบผู้ติดเชื้อที่จำกัด และระบบระวังภัยในประเทศเหล่านี้ ที่ยังไม่ทั่วถึง ทำให้ตัวเลขไม่น่าจะสะท้อนความเป็นจริงสักเท่าใด

ขณะเดียวกัน เพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ต่างมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับหลักพัน และผู้เชี่ยวชาญในประเทศเหล่านี้ได้แสดงความเห็นไว้แล้วว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงอาจสูงกว่าที่เห็น เพราะข้อจำกัดด้านการทำการทดสอบเช่นกัน

ทั้งนี้ ลาวแจ้งว่าได้ทำการทดสอบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ไปเพียง 131 ราย ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนเมียนมา ซึ่งมีประชากร 54 ล้านคน ทำการทดสอบไปราว 300 รายเท่านั้น แตกต่างจากกรณีของเกาหลีใต้ ที่ทดสอบไปแล้วหลายแสนคน และยืนยันตัวเลขผู้ติดเชื้อที่กว่า 9,000 รายแล้ว

ซิมเมอร์แมน กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้หลายประเทศจะดำเนินมาตรการรักษาระยะห่าง พร้อมยกเลิกกิจกรรมที่ผู้คนจะมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากไปแล้ว แต่ผลกระทบของข้อจำกัดในการทดสอบผู้ติดเชื้อ อาจทำให้มาตรการทั้งหมดไม่ได้ผลเท่าที่ควร เพราะตัวเลขที่ไม่สูงจนน่าตกใจ อาจทำให้เจ้าหน้าที่เกิดความวางใจและไม่คิดว่าต้องลงมือทำการใดๆ อย่างเร่งด่วน

GettyImages 1208002798

ทางด้าน เจเรมี่ ลิม ผู้ประสานงานร่วมด้านสาธารณสุขโลก ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เห็นด้วยกับประเด็นนี้ และกล่าวว่า ในประเทศใด ๆ ก็ตามที่ผู้คนเกิดความวางใจในสถานการณ์อย่างผิดๆ ประชาชนก็จะไม่ค่อยปฏิบัติตามคำแนะนำเรื่องการรักษาระยะห่างในสังคมเท่าใด และทำให้โอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ดูต่ำกว่าความเป็นจริง

อย่างไรก็ดี แมทธิว กริฟฟิธ นักระบาดวิทยา แห่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำสำนักงานกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ให้ความเห็นว่า ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีประเทศใดที่ทำการทดสอบผู้ติดเชื้อมากเพียงพอ และสอดรับกับสถานการณ์ที่เป็นจริงได้ ดังนั้น ประเด็นข้อจำกัดด้านการทดสอบไม่ใช่ปัญหาของบางประเทศ เช่น ลาว เท่านั้น แต่เป็นปัญหาระดับโลกในเวลานี้

ที่มา : VOA Thai

Avatar photo