ชาวจีนเริ่มเดินทางครั้งใหญ่ ในวันแรกของ “ชุนยุ่น” หรือการคมนาคมขนส่งมวลชนเป็นเวลา 40 วันก่อนวันตรุษจีน ซึ่งถือเป็นการเคลื่อนที่ของประชากรจำนวนมากที่สุดในโลกในแต่ละปี ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 เมื่อสามปีที่แล้ว
วีโอเอ รายงานว่า การเดินทางของประชากรจีนจำนวนมากกลับมาอีกครั้ง หลังรัฐบาลกรุงปักกิ่งเริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มโควิดตลอดสามปีที่ผ่านมา สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความกังวลว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 สอาจแพร่กระจายออกไปในพื้นที่ ที่ยังไม่เกิดการระบาดในประเทศจีนได้
วันตรุษจีนปีนี้จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 21 มกราคม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2563 ที่ทางการไม่มีมาตรการควบคุมจำกัดการเดินทางภายในประเทศ จากการที่รัฐบาลแดนมังกร เริ่มผ่อนคลายนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ตั้งแต่เดือนที่แล้ว หลังเกิดการประท้วงมาตรการกักตัว การตรวจหาเชื้อวงกว้าง และการล็อกดาวน์ที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
บรรดาภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างหวังว่า การที่จีนเปิดประเทศอีกครั้ง จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลถึงปีละ 17 ล้านล้านดอลลาร์ได้ หลังจากที่เผชิญอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ
อย่างไรก็ตาม จีนตรวจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยกำลังสร้างแรงกดดันต่อระบบสาธารณสุข และโรงพยาบาลในหลายเมืองใหญ่ ยาแก้ไข้กำลังขาดตลาด และสถานที่ทำศพมีร่างผู้เสียชีวิตจากโควิดต่อคิวยาวรอทำพิธี
การเดินทางครั้งใหญ่
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (6 ม.ค.) กระทรวงคมนาคมจีนคาดการณ์ว่า จะมีประชาชนมากกว่า 2,000 ล้านคนเดินทางในช่วง “ชุนยุ่น” หรือการคมนาคมขนส่งมวลชน เป็นเวลา 40 วันก่อนวันตรุษจีนปีนี้ เพิ่มขึ้น 99.5% จากปีที่แล้ว และคิดเป็น 70.3% ของการเดินทางในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด
โลกออนไลน์ของจีนต่างท่วมท้นไปด้วยความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้ บางความเห็นยกย่องการเดินทางอย่างเสรี เพื่อกลับไปยังบ้านเกิด และฉลองวันตรุษจีนพร้อมหน้าญาติพี่น้องเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี แต่หลายความเห็นกลับบอกว่า จะไม่เดินทางไปไหนเพราะกลัวว่า จะนำโควิดไปติดผู้สูงวัยที่บ้าน
หนึ่งในความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ เว่ยโป๋ ระบุว่า “ฉันไม่กล้าเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะกลัวว่าจะนำเชื้อโรคร้ายกลับไปด้วย”
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลว่า การเดินทางกลับบ้านของบรรดาคนทำงานในเมืองใหญ่ อาจเป็นการแพร่กระจายเชื้อไวรัสไปยังเมือง หรือหมู่บ้านเล็ก ๆ ตามชนบทที่มีศักยภาพด้านสาธารณสุขต่ำกว่า เช่น มีเตียงพยาบาล และเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ หากมีผู้ป่วยโควิดจำนวนมาก
ทางการจีนยืนยันว่า ขณะนี้กำลังมีการเสริมความสามารถของบริการทางการแพทย์ทั่วประเทศ รวมถึงการเปิดคลินิกตรวจวัดไข้มากขึ้น และจัดตั้ง “ช่องทางสีเขียว” สำหรับผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ให้สามารถถูกส่งตัวจากสถานพยาบาลในหมู่บ้านชนบทไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขึ้นได้อย่างรวดเร็ว
โฆษกคณะกรรมการสาธารณสุขแห่งชาติจีน กล่าวว่า พื้นที่ชนบทของจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาล และมีประชากรมากมาย ทรัพยากรทางการแพทย์ต่อจำนวนประชาชน จึงไม่เพียงพอ และว่า เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจัดหาบริการการแพทย์ที่สะดวกรวดเร็ว และการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุในชนบท เพื่อสร้างแนวป้องกัน (การระบาด) ในระดับรากหญ้า
จีนผ่านวิกฤติสูงสุดหรือยัง
นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า คลื่นการระบาดของโควิดในจีนระลอกล่าสุดไปผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว
เออร์นาน กุ่ย นักวิเคราะห์จาก Gavekal Dragonomics ในกรุงปักกิ่ง อ้างอิงการสำรวจออนไลน์หลายชุด ที่ชี้ว่า ประชาชนในเขตชนบทของจีน ติดเชื้อโควิดกันมากกว่าที่คิดไว้ และจำนวนผู้ติดเชื้อได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในหลายพื้นที่ ไม่แตกต่างจากการระบาดในเขตเมืองใหญ่
เมื่อวานนี้ (8 ม.ค.) เป็นวันแรกในรอบเกือบสามปี ที่จีนเปิดพรมแดนรับนักเดินทางจากฮ่องกง และยุติมาตรการกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รวมทั้งอนุญาตให้ชาวจีนสามารถเดินทางไปยังประเทศอื่น
ส่วนเมื่อวันเสาร์ (7 ม.ค.) ประชาชนจำนวนมากในฮ่องกง ต่างเข้าคิวยาวเพื่อรอตรวจหาเชื้อแบบพีซีอาร์ สำหรับเดินทางไปยังประเทศอื่น รวมทั้งจีนแผ่นดินใหญ่
จิลเลียน ซิน ผู้อาศัยอยู่ในฮ่องกง กล่าวว่า เธอตื่นเต้นที่จะได้เจอหน้าญาติพี่น้องที่กรุงปักกิ่งอีกครั้ง โดยเฉพาะลูก ๆ ของเธอที่จะได้พบกับคุณตาคุณยายเป็นครั้งแรกในรอบสามปี
ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในจีนได้ก่อให้เกิดความกังวลต่อหลายประเทศ และมีมากกว่า 10 ประเทศที่กำหนดให้ผู้ที่เดินทางมาจากจีนต้องตรวจหาเชื้อโควิดเสียก่อน ซึ่งสื่อของทางการจีนและเจ้าหน้าที่จีนต่างออกมาตำหนิข้อกำหนดดังกล่าว รวมทั้งปกป้องมาตรการรับมือโควิดของรัฐบาลปักกิ่ง
ระดมฉีดวัคซีนและรักษาโควิด
ที่ผ่านมา ทางการจีนทุ่มทรัพยากรด้านสาธารณสุขไปกับการตรวจหาเชื้อแบบพีซีอาร์ในวงกว้าง แต่ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนเป้าหมายไปเป็นการระดมฉีดวัคซีนโควิดให้ประชาชน และการรักษาผู้ป่วยโควิด โดยมีแผนสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโควิดราว 60% จนถึงวันที่ 31 มีนาคมนี้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้วยว่า รัฐบาลจีนกำลังเจรจากับ “ไฟเซอร์” ยักษ์ใหญ่เวชภัณฑ์สหรัฐ เพื่อขอใบรับรองที่จะช่วยให้บริษัทผู้ผลิตยาในประเทศจีน สามารถผลิต และแจกจ่ายยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิดในประเทศได้
ขณะที่บริษัท CanSino Biologics Inc. ของจีน ประกาศเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า กำลังเริ่มการผลิตวัคซีนโควิดบูสเตอร์แบบ mRNA ที่มีชื่อว่า CS-2034 ซึ่งคาดว่าจะออกสู่ตลาดได้ในอีกไม่นานนี้
ปัจจุบัน อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศจีนอยู่ที่มากกว่า 90% แต่กลับมีเพียง 57.9% เท่านั้น ที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น และในกลุ่มประชากรอายุมากกว่า 80 ปี ก็ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นคิดเป็นสัดส่วน 42.3% เท่านั้น
ที่ผ่านมา จีนพึ่งพาวัคซีนโควิด-19 สูตรที่ผลิตเองในประเทศ แต่ทั้งหมดนี้ ไม่ได้มุ่งไปที่การป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนที่แพร่ระบาดได้ง่าย และเป็นสายพันธุ์หลัก ที่กำลังระบาดในจีนขณะนี้
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เริ่มวันนี้! จีนเปิดประเทศ เดินทางเข้า-ออกได้แล้ว หลังโดดเดี่ยวตัวเอง คุม ‘โควิด’นาน 3 ปี
- ‘เนเธอร์แลนด์-โปรตุเกส’ ออกกฎ ‘โชว์ผลตรวจโควิด’ นักเดินทางจากจีน
- โควิดจีน: ผู้เชี่ยวชาญชี้ ‘จีน’ ส่อเค้าอยู่ร่วมกับ ‘โควิด’ ได้ภายในสิ้นเดือนมีนาคม