World News

ไขข้อข้องใจ ‘โควิดจีน’ ทำไมถึงกลับมาระบาดอีก

โควิดจีน: แม้ว่าจีนใช้มาตรการควบคุมโควิดอย่างเคร่งครัด แต่ดูเหมือนสถานการณ์จะย่ำแย่ลง มีผู้เสียชีวิตเป็นรายแรก ๆ อีกครั้งในรอบ 6 เดือน และมีคนอีกหลายพันคนที่กำลังติดเชื้ออีกครั้ง

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จีนรายงานผู้ติดเชื้อใหม่รายใหม่มากถึง 26,824 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงระบาดหนักเมื่อเดือน เมษายน 2565 ทั้งยังมีรายงานว่า มีคนเสียชีวิตจากโควิดในกรุงปักกิ่ง 3 รายในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา นอกเหนือจากรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ และที่มณฑลกวางตุ้งที่สถานการณ์แย่ที่สุด

บีบีซี รายงานว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้แม้แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ออกมาบอกว่า จีนควรจะทบทวนมาตรการรับมือโควิดที่ใช้อยู่เสียใหม่

shutterstock 1877369764

มาตรการล็อกดาวน์ สกัดโควิดจีน

แม้ในขณะนี้ จีนจะไม่ได้สั่งล็อกดาวน์ทั่วประเทศ และผ่อนคลายมาตรการที่เคยใช้หลายอย่าง แต่รัฐบาลกลางก็มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ล็อกดาวน์พื้นที่ของตัวเองหากพบกรณีการติดเชื้อ แม้จะเจอแค่ไม่กี่รายเท่านั้น

นอกจากนี้ จะมีการเรียกคนจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับผู้ติดเชื้อมาตรวจโควิด ใครที่ติดเชื้อก็ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน หรือไม่ก็ไปอยู่ในสถานที่กักตัวที่รัฐเป็นผู้ควบคุม ธุรกิจและโรงเรียนในพื้นที่นั้นก็ต้องปิดทำการด้วย ยกเว้นร้านขายอาหาร

ที่ผ่านมา จีนเป็นประเทศที่ใช้มาตรการรับมือโควิด ที่เข้มงวดที่สุดประเทศหนึ่ง โดยจะบังคับใช้กฎดังกล่าวจนกว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ แต่ได้คลายมาตรการบางอย่างแล้ว โดยคนที่ติดเชื้อต้องกักตัวแค่ 8 วัน แทนที่จะเป็น 10 วัน โดยให้กักตัวที่ศูนย์ของรัฐ 5 วัน และที่บ้านตัวเองอีก 3 วัน ทั้งยังอนุญาตให้คนเดินทางมาจากต่างประเทศได้แล้ว แต่ผู้ที่เดินทางมาต้องตรวจโควิด 48 ชั่วโมงก่อนที่จะมาถึง

ทำไมยังพยายามให้โควิดจีนเป็นศูนย์อยู่

จีนบอกว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์ช่วยชีวิตคนได้ เพราะการแพร่ระบาดอย่างไม่สามารถควบคุมได้ จะทำให้กลุ่มคนเปราะบาง อาทิ คนสูงอายุ ตกอยู่ในอันตราย ซึ่งการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตในจีนยังน้อยมาก โดยตัวเลขทางการอยู่แค่ 5,200 ราย

ตัวเลขรายงานนี้เท่ากับว่าใน 1 ล้านคน จีนมีผู้เสียชีวิตจากโควิดแค่ 3 รายเท่านั้น เทียบกับ 3,000 รายต่อหนึ่ง 1 ล้านคนสำหรับสหรัฐ และ 2,400 รายต่อ 1 ล้านคนสำหรับสหราชอาณาจักร

โควิดจีน

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีการล็อกดาวน์ในหลายเมืองของจีนพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเสิ่ยเจิ้น เมืองที่มีประชากร 17.5 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางของภาคเทคโนโลยี หรือนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประชากร 26 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางการเงิน การค้า และอุตสาหกรรมการผลิต ของประเทศ

การล็อกดาวน์ทำให้โรงงาน และท่าเรือต้องปิดตัวลงเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อหลายบริษัท รวมถึงของชาวต่างชาติด้วย ทั้งบริษัท และผู้บริโภคที่อื่นในโลก ซึ่งต้องพึ่งสินค้าจากจีน ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเศรษฐกิจจีนเติบโตแค่ 3.9% ในปีที่แล้ว เทียบกับเป้าที่วางไว้ 5.5% สำหรับปีนี้

อนามัยโลกชี้ เป็นมาตรการที่ผิด

แม้ว่าจีนรับมือกับโควิดได้ค่อนข้างประสบความสำเร็จในช่วงต้น แต่องค์การอนามัยโลก ระบุว่า โควิดมีวิวัฒนาการ และเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเปลี่ยนมาตรการรับมือไปด้วย

กระนั้นก็ตาม ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ยืนยันว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์ เป็นนโนบายที่มีประสิทธิภาพ และอิงหลักวิทยาศาสตร์ ซึ่งการเปลี่ยนนโยบายจะทำให้คนสูงอายุจำนวนมากเสียชีวิต

โควิดจีน

ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเป็นทางออกหรือไม่

ข้อมูลระบุว่า จนถึงขณะนี้ มีแค่ราวครึ่งหนึ่งของชาวจีน ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 80 ปี ได้รับวัคซีนเข็มเบื้องต้น และมีน้อยกว่า 20% ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ส่วนในกลุ่มคนอายุระหว่าง 60-69 ปีนั้น มีเพียง 60% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนครบโดส แม้ว่าทางการจะพยายามชักชวนให้คนสูงอายุออกมาฉีดวัคซีนกันให้มากขึ้นก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคำถามว่าวัคซีนหลัก ๆ ที่ใช้ในจีนอย่างซิโนแวค และซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพจริงหรือเปล่า โดยวัคซีน 2 ชนิดนี้ เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย (inactivated vaccine) เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทาน ซึ่งงานวิจัยชี้ว่าวัคซีน 2 ตัวนี้ป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ที่กำลังแพร่ระบาดในจีนขณะนี้ ได้น้อย แม้ฉีดครบสองเข็มแล้วก็ตาม

สหรัฐ และชาติตะวันตกอื่น ๆ ต่างก็เสนอวัคซีน mRNA ให้จีน ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพมากกว่า แต่คนไม่ได้ฉีดวัคซีนนี้กันแพร่หลายในจีน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo