World News

ทำความเข้าใจใหม่! ‘มลพิษทางอากาศ’ ทำให้เป็น ‘มะเร็งปอด’ ได้ ไม่ใช่แค่สูบบุหรี่

นักวิจัยค้นพบว่า “มลพิษทางอากาศ” ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้เช่นกัน ถือเป็นการค้นพบที่เปลี่ยนความเข้าใจถึงการเกิดขึ้นของเนื้องอก โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่เคยแม้แต่จะสูบบุหรี่เลย

บีบีซี รายงานว่า ทีมวิจัยสถาบันฟรานซิส คริก ในกรุงลอนดอน เปิดเผยผลวิจัยฉบับใหม่ เมื่อเร็ว ๆ  นี้ว่า มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดมะเร็งปอดได้จริง แม้ในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ด้วยการกระตุ้นห รือปลุกเซลล์เก่า ๆ ที่เสียหายขึ้นมา มากกว่าการสร้างความเสียหายให้เซลล์ ตามความเชื่อเดิม

มะเร็งปอด

ศ.ชาร์ลส์ สแวนตัน หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ในเรื่องมะเร็งปอด ระบุว่า การค้นพบดังกล่าวทำให้วงการแพทย์ “เข้าสู่ยุคใหม่” และอาจนำไปสู่การพัฒนาตัวยา เพื่อยับยั้งไม่ให้มะเร็งก่อตัวขึ้นมา

โดยปกติแล้ว การก่อตัวของมะเร็งจะเกิดเป็นลำดับขั้นตอน คือ เริ่มจากเซลล์ที่แข็งแรง แล้วค่อย ๆ เกิดการกลายพันธุ์ในระดับสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ จนถึงจุดที่กลายเป็นเซลล์ผิดปกติ สู่เซลล์มะเร็ง และเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้

แต่แนวคิดการเกิดมะเร็งเช่นนี้ มีปัญหา เพราะการกลายพันธุ์เป็นเซลล์มะเร็ง เกิดขึ้นในเนื้อเยื่อที่แข็งแรง แต่กลับกลายเป็นว่า ต้นตอของมะเร็ง รวมถึงมลพิษทางอากาศ ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อดีเอ็นเอ แต่เป็นการกระตุ้นเซลล์ที่เสียหายให้กลับมาทำงานอีกครั้งมากกว่า

ศ.สแวนตัน ระบุว่า ความเสี่ยงเกิดมะเร็งปอดจากมลพิษทางอากาศ มีน้อยกว่าการสูบบุหรี่ แต่เพราะมนุษย์ควบคุมการหายใจของตนเองไม่ได้ และทั่วโลก ผู้คนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยจากมลพิษทางอากาศมากกว่าการสูดสารเคมีที่เป็นพิษจากควันบุหรี่

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย คอลเลจ ลอนดอน หรือยูซีแอล ได้ค้นพบหลักฐานถึงแนวคิดใหม่ ในเรื่องการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะในบุคคลที่ไม่สูบบุหรี่ โดยระบุว่า อันที่จริงแล้ว ความเสียหายได้ฝังตัวอยู่ในดีเอ็นเอของเซลล์ ระหว่างที่ผู้คนเติบโต และมีอายุมากขึ้น แต่ทั้งนี้ จะต้องมีสิ่งที่มากระตุ้นความเสียหายในดีเอ็นเอของเซลล์ก่อน ถึงจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

การค้นพบดังกล่าว มาจากการตรวจหาสาเหตุว่า ทำไมบุคคลที่ไม่สูบบุหรี่ถึงเป็นโรคมะเร็งปอด แน่นอนว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของผู้ป่วยมะเร็งปอด มาจากการสูบบุหรี่ แต่ก็พบว่า 1 ใน 10 ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในสหราชอาณาจักร มีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ

มะเร็งปอด

ทีมวิจัยของสถาบันฟรานซิส คริก ให้ความสำคัญกับอนุภาคฝุ่นพีเอ็ม 2.5 (PM 2.5) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ ซึ่งเมื่อดำเนินการทดลองในสัตว์ และมนุษย์อย่างละเอียด ก็พบว่า สถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง จะพบผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด ที่ไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ ในสัดส่วนที่มากขึ้น

งานวิจัยพบว่า เมื่อคนสูดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เข้าไป จะกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสาร “อินเทอร์ลิวคิน 1 เบตา” ออกมา เป็นการตอบสนองทางเคมี นำไปสู่อาการอักเสบ จนร่างกายต้องกระตุ้นเซลล์ในปอดให้เข้ามาซ่อมแซม

แต่เซลล์ปอดนั้น ทุก ๆ 600,000 เซลล์ ในบุคคลอายุราว 50 ปี จะมีอย่างน้อยหนึ่งเซลล์ ที่สุ่มเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ เป็นเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งปกติแล้ว ร่างกายจะเกิดเซลล์ที่สุ่มเสี่ยงนี้ เมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น แต่เซลล์จะยังดูแข็งแรงอยู่ จนกว่าจะถูกกระตุ้นให้กลายพันธุ์

การค้นพบที่สำคัญยิ่งกว่า คือ นักวิจัยสามารถยับยั้งการก่อมะเร็งในหนู ที่ปล่อยให้เผชิญอยู่ในสภาวะมลพิษทางอากาศ ด้วยการใช้ตัวยาเพื่อยับยั้งการตอบสนองทางเคมีดังกล่าว ผลลัพธ์จึงถือเป็นการค้นพบครั้งใหญ่ 2 ครั้งซ้อน คือ เพิ่มความเข้าใจถึงผลกระทบของมลพิษทางอากาศ และหลักการเกิดมะเร็งในร่างกาย

ดร. เอมิเลีย ลิม หนึ่งในผู้วิจัย ซึ่งประจำอยู่ที่คริก และยูซีแอล ระบุว่า โดยปกติแล้ว บุคคลที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย แต่กลับเป็นโรคมะเร็งปอด มักจะไม่ทราบถึงสาเหตุ

ดังนั้น การให้เบาะแสผู้ป่วยเหล่านี้ ถึงสาเหตุการเกิดมะเร็ง จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และจะยิ่งสำคัญมากขึ้น เมื่อประชากร 99% ในโลก ล้วนอาศัยอยู่ในสถานที่ที่ระดับมลพิษทางอากาศ สูงเกิดกว่าข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก

ผลลัพธ์ของการทดลองนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า การกลายพันธุ์ในเซลล์เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ปัจจัยนำไปสู่การเกิดมะเร็งเสมอไป แต่อาจมีปัจจัยอื่นเสริมด้วย

ศ.สแวนตัน ระบุว่า การค้นพบที่น่าตื่นเต้นที่สุดในห้องทดลอง คือ แนวคิดการเกิดเนื้องอกที่ต้องหันกลับมาทบทวนเสียใหม่ และนี่อาจนำไปสู่ “ยุคใหม่” ของการป้องกันมะเร็งในระดับโมเลกุล อาทิ แนวคิดที่ว่า ถ้าอยู่ในสถานที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง ก็อาจทานยาต้านมะเร็งได้ เพื่อลดความเสี่ยง

มะเร็งปอด

นอกจากนี้ ยังอาจต้องพิจารณาถึงหลักการที่ว่า การสูบบุหรี่ก่อให้เกิดมะเร็ง ด้วยซ้ำ และอันที่จริง แนวคิดที่ว่า ดีเอ็นเอกลายพันธุ์นั้น ไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง เพราะต้องมีปัจจัยอื่นกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งเติบโต

อย่างไรก็ดี มิเชลล์ มิตเชลล์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยมะเร็งแห่งสหราชอาณาจักร ย้ำว่า ปัจจุบัน “บุหรี่ยังเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปอด แต่“วิทยาศาสตร์ อาศัยการทำงานอย่างหนักหลายปี และกำลังเปลี่ยนแนวคิดว่ามะเร็งเกิดขึ้นได้อย่างไร และตอนนี้ มีความเข้าใจถึงสิ่งกระตุ้นให้เกิดมะเร็งได้มากขึ้นแล้ว”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo