World News

‘น้ำท่วมเกาหลีใต้’ สะท้อน ‘ชนชั้นปรสิต’ ในชีวิตจริง

ฝนตกครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี หรือนับแต่ปี 2485 ในกรุงโซล ของเกาหลีใต้ ที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูงถึงระดับเอว สถานีรถไฟใต้ดินจมอยู่ใต้น้ำ เช่นเดียวกับรถยนต์บนท้องถนน โดยเฉพาะในเขตกังนัม ซึ่งเป็นย่านธุรกิจสำคัญของเกาหลีใต้ และทำให้ให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9 ราย สูญหาย 6 ราย 

ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ คือ ผู้เสียชีวิตบางส่วนเป็นคนยากจน ที่อาศัยอยู่ในอาคารที่พักอาศัยแออัด ที่เหมือนในภาพยนตร์ที่ชนะรางวัลออสการ์ เรื่อง “ชนชั้นปรสิต” (Parasite)

ในจำนวนผู้เสียชีวิตนั้น มีอย่างน้อย 3 คน รวมถึงเด็กหญิงอายุ 13 ปี ที่เสียชีวิตเพราะจมน้ำ ใน “พันจีฮา” บ้านแบบกึ่งใต้ดิน ซึ่งเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากภาพยนตร์เรื่อง “ชนชั้นปรสิต” ของผู้กำกับ โบ จุง-โฮ ที่ชนะรางวัลออสการ์เมื่อปี 2563

น้ำท่วมเกาหลีใต้

ภาพน้ำท่วมในกรุงโซล ทำให้ผู้ใช้สังคมออนไลน์จำนวนมาก เปรียบเทียบว่าเหมือนกับฉากในภาพยนตร์ ที่น้ำท่วมหนัก จนทำให้บ้านแบบพันจีฮา จมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งถือเป็นฉากในภาพยนตร์ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำของชนชั้นกลาง และคนรวยที่อาศัยอยู่ในอาคารบนที่สูง ส่วนคนยากจนอยู่ในอาคารชั้นต่ำ และเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติมากที่สุด

อันที่จริง แม้กระทั่งพื้นที่ชุมชนใกล้ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ก็ได้รับผลกระทบ โดยมีการเผยแพร่ภาพน้ำท่วมสูงในสังคมออนไลน์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะภาพชายคนหนึ่งนั่งอยู่บนรถยนต์ที่จมอยู่ใต้น้ำ

ผลจากอุทกภัยในเมืองหลวงเกาหลีใต้ ยังทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ระบบคมนาคม รวมถึงรถไฟใต้ดินในบางเส้นทางต้องหยุดชะงัก ขณะที่สถานีรถโดยสารในเขตกังนัม จมอยู่ใต้น้ำ ธุรกิจหลายแห่งได้รับความเสียหาย

น้ำท่วมเกาหลีใต้ เปิดภาพจริง “ชนชั้นปรสิต”

การเปรียบเทียบอุทกภัยครั้งใหญ่ในเกาหลีใต้ครั้งนี้ กับฉากในภาพยนตร์ “ชนชั้นปรสิต” สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง เพราะแม้ว่าเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเพียงนิยายที่แต่งขึ้น ทว่าห้องพักที่ใช้เป็นฉากถ่ายทำกลับเป็นสถานที่จริง ซึ่งคนเกาหลีเรียกห้องพักที่ชั้นกึ่งใต้ดินแบบนี้ว่า “พันจีฮา” และมีผู้คนนับพันในกรุงโซลที่พักอาศัยอยู่ในห้องลักษณะนี้

บีบีซี แผนกภาษาเกาหลี เคยได้พูดคุยกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพันจีฮา เพื่อค้นหาว่า ชีวิตในห้องเช่าเล็กเท่ารูหนูเป็นอย่างไร โดยอธิบายว่า “แทบไม่มีแสงสว่างส่องถึงเลย”

“ที่นี่มีแสงแดดเล็ดลอดเข้าไปน้อยมาก แม้แต่ต้นกุหลาบหิน ที่ต้องการแสงไม่มาก ก็ยังไม่สามารถมีชีวิตอยู่ในห้องนี้ได้”

ห้องน้ำขนาดเล็กที่ไร้อ่างล้างหน้า มีพื้นที่ถูกยกสูงเหนือพื้นห้องราวครึ่งเมตร เพดานห้องน้ำทอดตัวต่ำเสียจนต้องยืนกางขาออกจากกันเพื่อไม่ให้หัวชนเข้ากับเพดาน

น้ำท่วมเกาหลีใต้

ชนชั้นปรสิต ผลงานของผู้กำกับชื่อดัง บอง จุน โฮ บอกเล่าเรื่องราวที่หักมุมระหว่างคนรวยและคนจนในสังคมเกาหลีใต้ หนังนำเสนอภาพความแตกต่างสุดขั้วระหว่าง 2 ครอบครัว คือ ครอบครัวปัก ที่มีฐานะมั่งคั่ง กับครอบครัวคิม ที่ยากจน ผ่านสภาพบ้านของพวกเขา คือคฤหาสน์หรูบนภูเขา กับห้องชั้นกึ่งใต้ดินที่แสนซอมซ่อ

ในชีวิตจริง พันจีฮา เป็นบ้านที่คนหนุ่มสาวนับพันเลือกใช้พักอาศัย ในระหว่างที่พวกเขาทำงาน และหวังสร้างอนาคตที่ดีขึ้นในเมืองหลวงของเกาหลีใต้

พันจีฮา ไม่เพียงจะเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความแปลกเฉพาะตัวของกรุงโซล แต่ยังเป็นผลผลิตจากประวัติศาสตร์ด้วย ที่จริงห้องพักขนาดจิ๋วเหล่านี้ มีความเป็นมาย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งของสองเกาหลีเมื่อหลายสิบปีก่อน

ในปี 2511 หน่วยคอมมานโดเกาหลีเหนือ แทรกซึมเข้าไปในกรุงโซลเพื่อปฏิบัติภารกิจลอบสังหารประธานาธิบดีปัก จอง ฮี ของเกาหลีใต้ แม้ภารกิจดังกล่าว จะถูกสกัดไว้ได้ แต่ความตึงเครียดระหว่างสองเกาหลี ทวีความรุนแรงขึ้น

ในปีเดียวกัน เกาหลีเหนือได้โจมตี และยึดเรือสอดแนมของกองทัพเรือสหรัฐ ที่ชื่อ ยูเอสเอส พูเอโบล ทั้งสายลับติดอาวุธของเกาหลีเหนือได้แทรกซึมเข้าไปในเกาหลีใต้ และเกิดเหตุก่อการร้ายขึ้นหลายครั้ง

ด้วยความกลัวว่าสถานการณ์จะทวีความรุนแรงขึ้น ในปี 2513 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับอาคาร โดยกำหนดให้อาคารสร้างใหม่ที่มีความสูงไม่มาก จะต้องมีชั้นใต้ดิน เพื่อใช้เป็นหลุมหลบภัยในกรณีที่เกิดภาวะฉุกเฉินด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งหลุมหลบภัยเหล่านี้ ก็ได้กลายมาเป็นพันจีฮา ในทุกวันนี้

น้ำท่วมเกาหลีใต้

ในตอนแรก การปล่อยเช่าพันจีฮาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ในช่วงที่เกิดวิกฤติที่พักอาศัยในทศวรรษ 80 กรุงโซลมีที่พักอาศัยไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จึงทำให้รัฐบาลต้องยอมให้ประชาชนใช้พื้นที่ชั้นใต้ดิน เป็นที่พักอาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ค่าเช่ารายเดือนของห้องพักลักษณะนี้อยู่ที่ประมาณ 540,000 วอน ขณะที่เงินเดือนเฉลี่ยของคนในวัย 20 ปีเศษ อยู่ที่ประมาณ 2 ล้านวอน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo