World News

ชี้ ไทยรายงาน ‘ติดเชื้อโควิด’ ต่ำกว่าจริง ส่อแวว ‘เปิดประเทศ’ ไม่สดใส

นิกเคอิ เอเชีย ระบุ ไทยรายงานตัวเลขผู้ติดเชือโควิด ที่สร้างความเข้าใจผิดถึงสถานการณ์ การระบาดในประเทศ กลายเป็นเงามืดที่พาดทับแผนการเปิดประเทศ ระบุ แพทย์ยังคงออกมาเตือนถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น และว่า การรายงานตัวเลขที่ต่ำกว่าความเป็นจริง มีสาเหตุมาจากแผนการเปิดประเทศอันทะเยอทะยาน ของรัฐบาล

รายงานระบุว่า วันนี้ (13 ก.ค.) เป็นวันเริ่มต้นของวันหยุดยาว 5 วันในไทย ซึ่งจะเป็นวันหยุดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานที่สุดครั้งแรก นับแต่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งวันหยุดยาวในครั้งนั้น ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในแต่ละวัน พุ่งขึ้นมาสูงกว่า 28,000 คน

เปิดประเทศ

นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่รัฐบาลไทย ยกเลิกข้อจำกัดการเข้าประเทศเกือบทั้งหมด และผ่อนคลายมาตรการภายในประเทศเพิ่มเติม ทางการไทยรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ โดยเฉลี่ยวันละ 2,176 คน

แต่จำนวนผู้ป่วยที่รายงานออกมาอย่างเป็นทางการนั้น เป็นเพียงเศษเสี้ยวของการติดเชื้อที่เกิดขึ้นจริง โดยเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในด้านโควิด บอกว่า ไทยมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 29,000 รายต่อวัน

“มีการประมาณการว่า แต่ละวันจะมีผู้ติดเชื้อราว 30,000 คน” นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงสาธารณสุข ระบุ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 ก.ค.) ขณะตอบคำถามในสภา

ทั้งนี้ จำนวนผู้ป่วยใหม่ที่รายงานอย่างเป็นทางการในทุกวันนี้ นับจากผู้ป่วยใหม่ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่ได้รวมผลตรวจที่เป็นบวกเอาไว้ด้วย

เปิดประเทศ

ส่วนกรณีที่ตรวจพบเชื้อเองที่บ้านนั้น จะมีการแยกข้อมูลเก็บไว้ต่างหาก ซึ่งบางครั้งตัวเลขกลุ่มนี้ก็สูงกว่าตัวเลขอย่างเป็นทางการถึง 2 เท่า และยังต้องอาศัย ให้ผู้ป่วยที่พักอยู่กับบ้าน รายงานเข้ามาด้วยตัวเองตัวอย่างเช่น เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ประกาศว่ามีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใหม่ 2,084 ราย และผลตรวจแอนติเจนเป็นบวก 3,323 ราย

แม้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโควิดในแต่ละวัน จะยังอยู่ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานของ ศบค. ที่ 40 ราย แต่จำนวนการรักษาในโรงพยาบาลทั้งหมด ก็ไม่ลดลงต่ำกว่า 24,000 รายนับตั้งแต่ต้นเดือน

“เป้าหมายในการเก็บรวบรวมข้อมูลของศบค. ได้เปลี่ยนไปเป็นการติดตามเฉพาะกรณีร้ายแรง และผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล ตราบใดที่เรามีความสามารถในการดูแลผู้ที่มีอาการรุนแรง ประเทศก็ยังอยู่ในเส้นทาง ที่จะมุ่งหน้าไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น” ศบค. แถลง หลังการประชุมประจำสัปดาห์เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

การที่โรคใดโรคหนึ่ง จะถูกจัดให้เป็นโรคประจำถิ่นได้นั้น จะต้องมีอัตราการเกิดโรคที่อยู่ในระดับค่อนข้างคงที่ในประชากรหรือภูมิภาค จนถึงขณะนี้ บรรดาแพทย์ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยยอดรวมการติดเชื้อทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะตัวเลขผู้เข้ารักษาอาการในโรงพยาบาล เพื่อให้ประชาชนได้เฝ้าระวังโรคกันต่อไป

ในเดือนกรกฎาคมนี้ รัฐบาลไทย ยังได้ยกเลิกข้อบังคับการสวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่โล่งแจ้ง และยกเลิกข้อห้ามการรวมตัวกันมากกว่า 2,000 คน ทั้งยังขยายเวลาที่ให้ผับบาร์ และร้านอาหาร เปิดดำเนินการด้วย

เปิดประเทศ

กระนั้นก็ตาม ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้างสรรพสินค้า และสถานีขนส่งที่มีผู้คนหนาแน่น ในขณะที่ร้านอาหารและบาร์ในกรุงเทพฯ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ

เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้ง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ต่างกล่าวว่า ยอดติดเชื้อรายวันที่สูงขึ้น จะเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น ผลจากการยกเลิกมาตรการควบคุมต่าง ๆ

ขณะที่ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์. ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดว่า การรักษาในโรงพยาบาลจะสูงสุดในเดือนกันยายน พร้อมประเมินว่า การติดเชื้อจะเริ่มลดลงในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ในปีนี้ ที่กรุงเทพมหานคร

กระนั้นก็ตาม ตัวเลขผู้ที่รายงานการติดเชื้อ จากการตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง ตามจังหวัดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยว อย่าง กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต พระนครศรีอยุธยา และอีก 20 จังหวัด กำลังเพิ่มสูงขึ้น

นับแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ไทยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศแล้ว 2.2 ล้านคน นำโดยนักท่องเที่ยวจากอินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

เปิดประเทศ

กระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา คาดการณ์ว่า ในช่วง 3 เดือนข้างหน้าไทยจะมีนักเดินทางเข้าประเทศราว 2.7 ล้านคน และอีก 4.5 ​​ล้านคนในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งเมื่อรวมกันแล้ว คาดว่า จะอัดฉีดเม็ดเงินให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ราว 1.27 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ การเปิดประเทศอีกครั้งของไทย กำลังดำเนินไปอย่างเต็มกำลัง นับตั้งแต่รัฐบาลยุติข้อกำหนดการเข้าประเทศที่เกี่ยวข้องกับโควิด ที่เรียกว่า Thailand Pass โดยการเปิดประเทศครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยมีอันดับในดัชนีการฟื้นตัวโควิด-19 ของนิกเคอิ เพิ่มขึ้นมา 36 อันดับ มาอยู่ในลำดับที่ 53

ดัชนีดังกล่าว เป็นการจัดอันดับ 121 ประเทศและภูมิภาค โดยพิจารณาจากการบริหารจัดการการติดเชื้อ การเปิดตัววัคซีน และการขับเคลื่อน โดยปัจจุบัน เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรไทย ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว และราว 76.6% ของประชากรทั้งหมด ได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้ว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo