World News

หวั่น ‘เนื้อหาสร้างความเกลียดชัง’ ว่อนเน็ต หลัง ‘อีลอน มัสก์’ ผงาดเจ้าของใหม่ ‘ทวิตเตอร์’

กลุ่มสิทธิมนุษยชน กังวล “ทวิตเตอร์” อาจกลายเป็นช่องทางเผยแพร่ “เนื้อหาสร้างความเกลียดชัง” หลัง “อีลอน มัสก์” เข้าควบคุมกิจการ เหตุเจ้าตัวเคยพูดหลายครั้งแล้วว่า ไม่เห็นด้วยกับนโยบายควบคุมเนื้อหาของทวิตเตอร์

วันนี้ (26 เม.ย.) บรรดากลุ่มสิทธิมนุษยชน ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า แพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ยอดนิยม “ทวิตเตอร์” จะกลายเป็นช่องทางเผยแพร่ “เนื้อหาสร้างความเกลียดชัง” หรือ “เฮท สปีช” (Hate Speech) หลังจากที่ นายอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการมูลค่าราว 44,000 ล้านดอลลาร์

shutterstock 1938393535

ความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากนายมัสก์ เคยแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผยว่า เขาไม่สนับสนุนแนวทางการควบคุม หรือกลั่นกรองเนื้อหาของทวิตเตอร์ และเขาเชื่อมั่นในเรื่องเสรีภาพในการพูดอย่างสุดโต่ง และเสรีภาพในการพูด หรือ Free Speech คือรากฐานอันแข็งแกร่งของประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม นางเดบอราห์ บราวน์ นักวิจัยด้านสิทธิดิจิทัล และเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ แสดงความเป็นห่วงว่า ไม่สำคัญว่าใครจะเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ แต่ทวิตเตอร์มีความรับผิดชอบในการให้ความเคารพผู้ใช้งานที่มีอยู่ทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ระบบการใช้งาน หรืออัลกอริธึม จะส่งผลกระทบร้ายแรง ซึ่งรวมถึงการใช้ความรุนแรงในชีวิตจริง

ดังนั้น เสรีภาพในการพูดจึงต้องมีการควบคุม และนี่คือสาเหตุที่ทวิตเตอร์ต้องลงทุน และพยายามกลั่นกรองเนื้อหา เพื่อปกป้องกลุ่มผู้ใช้งานที่มีความเปราะบางจากการเป็นเหยื่อของเนื้อหา หรือข้อความที่สร้างความเกลียดชัง

ขณะที่ นิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็กังวลว่า นายมัสก์ จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงนโยบายการกลั่นกรองเนื้อหาสร้างความเกลียดชังของทวิตเตอร์  ซึ่งอาจจะทำให้ทวิตเตอร์แกล้งทำเป็นมองไม่เห็น เวลามีคนทวีตข้อความที่สร้างความเกลียดชังต่อกลุ่มคนชายขอบ เช่น กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งทวิตเตอร์ยังไม่แสดงความคิดเห็นใด ๆ ต่อความกังวลเรื่องนี้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo