World News

‘ราคาน้ำมัน’ ดีดไม่หยุด เฉียด 114 ดอลล์ กังวลจัดหาตึงตัว เหตุ ‘ลิเบีย’ ระงับผลิต ซ้ำเติม ‘คว่ำบาตรรัสเซีย’

ราคาน้ำมัน ซื้อขายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในตลาดเอเชียช่วงเช้าวันนี้ (19 เม.ย.) ทะยานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง “เบรนท์” เกือบถึง 114 ดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลถึงการจัดหาที่ตึงตัว หลังมีรายงานว่า บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียประกาศระงับการผลิตเนื่องจากการประท้วงของคนงาน

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ กำหนดส่งมอบเดือนมิถุนายน ปรับขึ้น 61 เซนต์ หรือ 0.5% มาอยู่ที่ 113.77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส อินเตอร์มีเดียท กำหนดส่งมอบเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้น 33 เซนต์ หรือ 0.3% ที่ 108.54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันกลั่นสำเร็จรูป ที่ตลาดสิงคโปร์ ช่วงเช้าวันนี้ เพิ่มขึ้น 4.72 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 147.76 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

LINE ALBUM ทองคำน้ำมัน หุ้น ๒๒๐๔๑๙

อย่างไรก็ดี ขาขึ้นของราคาน้ำมัน ยังอยู่ในวงจำกัด จากการที่เงินดอลลาร์แข็งค่าสุดในรอบ 2 ปี ซึ่งค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อน้ำมัน ที่ถือครองเงินสกุลอื่น ๆ

ทั้งนี้ บริษัทเนชั่นแนล ออยล์ คอร์ปอเรชั่น (เอ็นโอซี) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของรัฐบาลลิเบีย ได้ระงับการกลั่นน้ำมัน เนื่องจากการประท้วงของคนงาน ทั้งบริษัทยังได้ประกาศภาวะสุดวิสัย (Force Majeure) ด้านการส่งมอบน้ำมันดิบจากแหล่งอัล-ชารารา (Al-Sharara) และท่าส่งออกน้ำมัน Zueitina

ภาวะสุดวิสัยเป็นส่วนหนึ่งที่ระบุในสัญญา ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อช่วยให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นอิสระจากข้อบังคับทางกฎหมายเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ข้อพิพาทด้านแรงงาน การก่อการร้าย และภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ข่าวการระงับผลิตน้ำมันในลิเบีย ถือเป็นการซ้ำเติมการจัดหาน้ำมันในตลาดโลก ที่ประสบภาวะตึงตัวอยู่แล้วจากจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยสงครามที่ยังไม่มีแนวโน้มยุติลงนี้ได้ส่งผลให้การผลิตน้ำมันของรัสเซียทรุดตัวลง 7.5% ในช่วงกลางเดือนเมษายน เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันมีแนวโน้มดีดตัวขึ้นต่อไป แรงหนุนจากการที่จีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้ และจากคำเตือนของนายโมฮัมหมัด บาร์คินโด เลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ที่ระบุว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่บังคับใช้ในปัจจุบัน และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันอย่างรุนแรง และไม่มีทางที่จะทดแทนปริมาณน้ำมันที่ขาดหายไป

ทั้งนี้ สหภาพยุโรป (อียู) มีมติคว่ำบาตรการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซีย และมีแนวโน้มว่าจะคว่ำบาตรน้ำมันจากรัสเซียในไม่ช้า ตามการดำเนินการของสหรัฐ แคนาดา และออสเตรเลีย เพื่อตอบโต้ต่อการที่รัสเซียโจมตียูเครน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo