World News

ธนาคารโลกคาด ‘เศรษฐกิจยูเครน’ หดตัว 45% เซ่นความขัดแย้ง

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจยูเครนจะหดตัว 45.1% ในปี 2022 โดยขนาดของการหดตัวจะขึ้นอยู่กับระยะเวลา และความรุนแรงของความขัดแย้ง ขณะเศรษฐกิจรัสเซียได้ตกต่ำสู่ “ภาวะถดถอยรุนแรง” ด้วยผลกระทบจากการคว่ำบาตรอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คาดว่าจะหดตัว 11.2% ในปีนี้

รายงานความคืบหน้าทางเศรษฐกิจประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางของธนาคารโลก ระบุว่าความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน และการคว่ำบาตรรัสเซีย กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยคาดว่ากลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging market) และประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคดังกล่าวจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

ธนาคารโลกคาด เศรษฐกิจยูเครน หดตัว 45 เซ่นพิษความขัดแย้ง1

เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคข้างต้นอาจหดตัว 4.1% ในปีนี้ สวนทางกับการคาดการณ์ก่อนเกิดความขัดแย้งที่คาดว่าจะเติบโต 3% ซึ่งเป็นผลจากความขัดแย้งผสมโรงกับผลกระทบต่อเนื่องจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยการหดตัวนี้ใหญ่กว่าการหดตัวจากโรคระบาดใหญ่ในปี 2020 ถึงสองเท่า

นอกจากนั้น เบลารุส คีร์กีซสถาน มอลโดวา และทาจิกิสถาน อาจเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ โดยตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจเติบโตของทุกประเทศดังกล่าว ถูกปรับลดลงเพราะผลกระทบจากความขัดแย้ง การเติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ในพื้นที่ยุโรป รวมถึงผลกระทบของสินค้าโภคภัณฑ์ การค้า และการเงิน

อัสลี เดมีร์กุก-คุนต์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางของธนาคารโลก กล่าวว่าวิกฤตยูเครนและโรคระบาดใหญ่ ได้แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าวิกฤตต่างๆ สามารถก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจในวงกว้าง และทำให้รายได้ต่อหัวและกำไรจากการพัฒนาลดลง

คุนต์ เรียกร้องรัฐบาลประเทศต่างๆ ในภูมิภาคดังกล่าวกระชับมาตรการป้องกันทางเศรษฐกิจระดับมหภาค และความน่าเชื่อถือของนโยบาย เพื่อควบคุมความเสี่ยงและจัดการกับการกระจายตัวของช่องทางการค้าและการลงทุนที่อาจเกิดขึ้น เสริมสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม เพื่อปกป้องกลุ่มคนเปราะบางที่สุดอย่างผู้ลี้ภัย และเดินหน้าปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก ประกาศว่ากำลังทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนยูเครนในด้านการเงินและนโยบายอย่างเร่งด่วน

คริสตาลินา จอร์จิเอวา กรรมการผู้จัดการกองทุนฯ และ เดวิด มัลพาสส์ ประธานกลุ่มธนาคารโลก กล่าวในแถลงการณ์ร่วมว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์กำลังพุ่งสูงขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิด “ภาวะเงินเฟ้อ” ซึ่งจะกระทบต่อประชากรกลุ่มยากจนหนักหน่วงที่สุด

get 21

“การหยุดชะงักในตลาดการเงินจะเลวร้ายลงต่อเนื่องหากความขัดแย้งยังดำเนินต่อไป” พวกเขากล่าว พร้อมเสริมว่าการประกาศคว่ำบาตรเมื่อช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ดีพวกเขากำลังประเมินสถานการณ์และหารือกับพันธมิตรนานาชาติเกี่ยวกับการตอบดำเนินการด้านนโยบายที่เหมาะสม

ขณะเดียวกันกองทุนฯ กำลังขานรับคำร้องขอจากยูเครนในการจัดหาเงินทุนฉุกเฉินผ่านเครื่องมือทางการเงินเร่งด่วนหรืออาร์เอฟไอ (RFI) ซึ่งคณะกรรมการบริหารของกองทุนฯ จะสามารถพิจารณาได้อย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์หน้า

ส่วนกลุ่มธนาคารโลกกำลังเตรียมเงินสนับสนุนมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.7 หมื่นล้านบาท) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยจะเริ่มจากการสนับสนุนงบประมาณที่เบิกจ่ายอย่างรวดเร็วอย่างน้อย 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 หมื่นล้านบาท) ซึ่งจะถูกยื่นเสนอต่อคณะกรรมการฯ เพื่อขออนุมัติในสัปดาห์นี้ ตามด้วยงบเบิกจ่ายเร่งด่วน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.5 พันล้านบาท) ในการสนับสนุนด้านสุขภาพและการศึกษา

ที่มา:สำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight