World News

‘วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน’ จ่อทำ ‘ราคาอาหารโลก’ พุ่งสูงในรอบ 10 ปี

นักวิเคราะห์มอง “ราคาอาหารโลก” จ่อพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง และแอฟริกา แหล่งใหญ่ส่งออกข้าวสาลีจากรัสเซีย ท่ามกลางความกังวลถึง “วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน” ที่ส่อเค้าตึงเครียดมากขึ้น

วีโอเอ รายงานว่า ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งล้วนเป็นผู้ปลูกพืชผลการเกษตรรายใหญ่ของโลก อาจส่งผลต่อราคาสินค้าทางการเกษตร และอาหาร รวมทั้งข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน และพืชผลทางเลือกอื่น ๆ ในตลาดโลก พุ่งสูงขึ้นจากระดับที่สูงสุดในรอบหลายปีอยู่แล้วในปัจจุบัน

รัสเซีย-ยูเครน

‘วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน’ จ่อทำ ‘ราคาอาหารโลก’ พุ่งสูง

ทั้งนี้ รัสเซียและยูเครนมีปริมาณการส่งออกข้าวสาลีรวมกันประมาณ 29% ของปริมาณการส่งออกทั่วโลก รวมทั้งข้าวโพด 19% และน้ำมันดอกทานตะวัน 80% ของตลาดโลก

เวลานี้ทางบริษัทซื้อขายพืชผลดังกล่าว กำลังกังวลว่า ปฏิบัติการทางทหารบริเวณพรมแดนของ 2 ประเทศอาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิต และทำให้ต้องสั่งซื้อสินค้าจากพื้นที่อื่น หรือเปลี่ยนไปสั่งซื้อพืชผลทางเลือก เพื่อนำมาทดแทนมากขึ้น

ราคาข้าวสาลีในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% เมื่อวานนี้ (22 ก.พ.) ส่วนราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน เช่นเดียวกับราคาถั่วเหลือง โดยผลผลิตสำคัญ 3 ประเภทนี้มีราคาเพิ่มขึ้นไปแล้ว 40% จากปีที่แล้ว

นายฟิน ซีเบลล์ นักเศรษฐศาสตร์การเกษตรแห่งธนาคาร National Australia Bank แสดงความเห็นว่า ความกังวลต่อปริมาณการส่งออกของประเทศในแถบทะเลดำ ได้ส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิต และอาหารโดยรวมในตลาดโลก โดยเฉพาะผู้ซื้อในตะวันออกกลาง และแอฟริกาที่อาจหันไปหาทางเลือกอื่น

ขณะที่ข้อมูลของ รีฟินิทีฟ บริษัทด้านการวิจัย แสดงให้เห็นว่า ราว 70% ของข้าวสาลีที่รัสเซียส่งออกไปนั้น มีปลายทางอยู่ที่ตะวันออกกลางและแอฟริกา แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่า ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ทำให้ลูกค้าหลายรายหันไปซื้อผลผลิตจากภูมิภาคอื่นแทน รวมทั้งเปลี่ยนไปซื้อผลผลิตประเภทอื่น ที่สามารถทดแทนกันได้จากแคนาดาและสหรัฐ

ก่อนหน้านี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ราคาอาหารโลกในขณะนี้ สูงขึ้นเฉียดระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

รัสเซีย-ยูเครน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo