World News

เลือกตั้ง ‘ไทย-อินโดฯ’ ตัววัดอนาคตประชาธิปไตยอาเซียน

ในปี 2561 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผชิญกับโอกาสทางประชาธิปไตยที่มีความหลากหลาย หลังเกิดการเลือกตั้ง 2 ครั้งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ครั้งแรกในมาเลเซีย ที่ทำให้รัฐบาลที่เต็มไปด้วยข่าวคอร์รัปชันต้องเก็บกระเป๋าออกไปจากทำเนียบ และครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในกัมพูชา ที่ผู้นำซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จสามารถควบคุมอำนาจการบริหารประเทศเอาไว้ได้

5 มันสมองเบื้องหลัง 'มหาธีร์โนมิคส์'

การเลือกตั้งมาเลเซีย ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลก ด้วยการหวนกลับมาสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้งของ “มหาธีร์ โมฮัมเหม็ด” วัย 92 ปี แม้ “นาจิบ ราซัก” ผู้นำประเทศคนก่อน จะพยายามสร้างความได้เปรียบของตัวเอง และดำเนินการกวาดล้าง “ข่าวปลอม” ในความพยายามที่จะปิดเสียงวิจารณ์ต่างๆ ก็ตาม

อีก 2 เดือนต่อมา ในการเลือกตั้งที่กัมพูชา นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ก็สามารถรักษาอำนาจที่ครอบครองมานานกว่า 30 ปีไว้ได้อีกครั้ง หลังพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) ของเขา สามารถกวาดที่นั่งในรัฐสภามาได้ทั้งหมด จากการที่ศาลฎีกากัมพูชา ตัดสินยุบพรรคกู้ชาติกัมพูชา พรรคฝ่ายค้านหลักของประเทศไปเมื่อปี 2560 จากข้อกล่าวหาที่ว่า พรรคกู้ชาติกัมพูชาวางแผนที่จะยึดอำนาจรัฐบาลโดยอาศัยความช่วยเหลือจากสหรัฐ

การเลือกตั้งครั้งก่อนของทั้ง 2 ประเทศเมื่อปี 2556 พรรคฝ่ายค้านต่างทำผลงานได้โดดเด่นมีความก้าวหน้าทางการเมืองอย่างมาก แต่ 5 ปีให้หลัง กับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ เส้นทางของทั้ง 2 ประเทศกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ในขณะที่มาเลเซียมีความก้าวหน้าในเส้นทางประชาธิปไตย จากการที่สามารถปิดฉากยุคพรรคการเมืองพรรคเดียวครองประเทศ นับตั้งแต่ที่ได้รับเอกราชเมื่อปี 2500 ได้นั้น ประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับมีแนวโน้มที่มืดหม่นกว่ามาก

ในการจัดอันดับประชาธิปไตยของธนาคารโลก เมื่อปี 2560 พบว่า ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น อินโดนีเซีย และเมียนมา เป็นแค่ 2 ชาติในภูมิภาคนี้ ที่มีอันดับดีขึ้นจากปี 2539 มาอยู่ที่ 101 และ 156 ตามลำดับ

ส่วนอีก 8 ประเทศที่เหลือในภูมิภาคนี้ ล้วนแต่มีอันดับลดลง โดยฟิลิปปินส์ร่วงไปอยู่ที่ลำดับ 105 และไทยตกไปอยู่ที่อันดับ 161

thai1 2

ช่วงกลางทศวรรษ 80 ฟิลิปปินส์ และไทย ล้วนแต่เป็นหัวหอกขับเคลื่อนประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ ส่วนอินโดนีเซียเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย หลังการล่มสลายของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ในปี 2541 ส่วนเมียนมาเพิ่งจะมีการปฏิรูปประชาธิปไตยในปี 2554

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ประชาธิปไตยของเมียนมา ก็ดูจะถดถอยลงไปอีกในปีนี้ หลังจากมีการตัดสินจำคุกนักข่าว ที่ทำข่าวเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา โดยอ้างว่า ทำความลับประเทศรั่วไหล

นักวิเคราะห์ชี้ว่า ภาวะประชาธิปไตยไร้เสถียรภาพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่อิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคนี้ลดน้อยลง โดยมีจีนผงาดขึ้นมาแทนที่

จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ด้วยการปราบปรามการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างเด็ดขาด ซึ่งวิธีนี้อาจมีอิทธิพลต่อผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ต้องการประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ

China President Xi Jinping 960x576

บททดสอบของประชาธิปไตยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเริ่มขึ้นอีกครั้งในปี 2562 จากการที่ไทยมีกำหนดเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่มีรัฐบาลทหารปกครองประเทศมานานกว่า 4 ปี

จากนั้นในเดือนเมษายน ก็จะเป็นการกลับมาชิงชัยกันอีกครั้งระหว่างประธานาธิบดีโจโก วิโดโด และปราโบโว ซูเบียนโต นักการเมือง นักธุรกิจ และอดีตนายทหาร ในการเลือกตั้งทั่วไปของอินโดนีเซีย

การที่ไทยมีอันดับร่วงลงมาอย่างมากในการจัดอันดับประชาธิปไตยรอบกว่า 2 ทศวรรษของธนาคารโลก ขณะที่อินโดนีเซียมีอันดับที่ดีขึ้นนั้น ทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 2 ประเทศนี้ อาจจะเป็นการนำเสนอให้เห็นถึงข้อมูลเชิงลึกในอนาคตของประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อไป

ที่มา: Nikkei Asian Review

Avatar photo