World News

นักวิเคราะห์มอง ‘จีน’ ลดดอกเบี้ย เพิ่มอัดฉีดการเงิน หวังหนุนเศรษฐกิจ

จีนเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน ในความพยายามที่จะกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ด้วยการประกาศลดดอกเบี้ยจำนวนหนึ่ง ขณะตลาดเชื่อ จะผ่อนคลายมากกว่านี้ ก่อนที่การเติบโตของเศรษฐกิจ จะร่วงแตะระดับต่ำสุด

ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ประกาศหั่นดอกเบี้ยเงินกู้รอบล่าสุด โดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ loan prime rate (LPR) ระยะเวลา 1 ปี ลงมา 0.10% จาก 3.80% มาอยู่ที่ 3.70% และ LPR ระยะเวลา 5 ปี ลดลง 0.05% จาก 4.65% มาอยู่ที่ 4.60% ซึ่งการลด LPR ระยะเวลา 5 ปีนี้ เป็นการลดลงครั้งแรก นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่จีนเจอกับการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 รุนแรงสุด

ลดดอกเบี้ย

เชียนา หยู นักเศรษศาสตร์จีน จากแคปิตัล อิโคโนมิคส์ แสดความเห็นว่า การลดอัตราดอกเบี้ยข้างต้น สะท้อนถึงความพยายามของธนาคารกลางจีน ที่จะกดต้นทุนการกู้ยืมลงมา โดยการเคลื่อนไหวนี้ จะทำให้เงินกู้ที่มีสินทรัพย์จดจำนอง มีราคาถูกลงเล็กน้อย ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นความต้องการซื้อบ้านได้

นักวิเคราะห์รายนี้ คาดการณ์ด้วยว่า แบงก์ชาติจีน จะลดอัตราดอกเบี้ย LPR ระยะ 1 ปี ลงอีก 0.2% ภายในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้

อย่างไรก็ดี ติง ลู่ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีน ของโนมูระ ชี้ว่า ผลกระทบที่เกิดจากการลด LPR ค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากลดลงน้อยเกินกว่าที่จะทำให้เกิดผลใด ๆ ได้

โนมูระ คาดการณ์ด้วยว่า ในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้ ธนาคารกลางจีน จะลดอัตราดอกเบี้ย LPR ระยะ 1 ปี และ 5 ปี ลงอีก รวมถึง การลดสัดส่วนเงินทุนสำรองของภาคธนาคาร นอกเหนือจากการเข้าซื้อในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และสกัดการแข็งค่าของเงินหยวน

ขณะที่ มาร์โก ซัน หัวหน้านักวิเคราะห์กาารเงิน จากเอ็มยูเอฟจี แสดงความเห็นว่า การที่จีนตัดสินใจลดดอกเบี้ย LPR ระยะ 5 ปีลงมา สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของเจ้าหน้าที่แดนมังกร ที่ต้องการลดต้นทุนการกู้ยืมลงมา ดังนั้น จึงคาดว่า หลังจากเทศกาลฤดูใบผลิไปแล้ว ยอดการปล่อยสินเชื่ออาจฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะช่วบลดแรงกดดันต่อเศรษฐกิจมหภาค

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo