World News

มาได้ไง?? อินโดฯ งง เร่งหาสาเหตุ ‘สึนามิ ช่องแคบซุนดา’

ข้อสงสัยต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ถึงสาเหตุของการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ที่พัดเข้าถล่มชายหาดต่างๆ ในเมืองลัมปุง และบันเตน ของอินโดนีเซีย กลางดึกวันเสาร์ที่ผ่านมา (22 ธ.ค.) ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 168 ราย และบาดเจ็บอีกไม่ต่ำกว่า 750 คน

640 SundaStrait 2018 12 23 10 27 28

การที่ไม่มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ หรือการปะทุอย่างรุนแรงของภูเขาไฟเกิดขึ้นมา ทำให้ในตอนแรกนั้น  สำนักงานอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศ และธรณีฟิสิกส์อินโดนีเซีย (บีเอ็มเคจี) ประกาศว่า คลื่นที่พัดเข้าถล่มนั้น ไม่ใช่สึนามิ แต่เป็นคลื่นที่มีความสูงมาก

“บีเอ็มเคจี ตรวจไม่พบว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อคืนนี้แต่อย่างใด เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในบันเตน และพื้นที่ใกล้เคียงนั้น ไม่ใช่สึนามิ แต่เป็นคลื่นยักษ์​ ทั้งเมื่อคืนยังเป็นคืนที่พระจันทร์เต็มดวงด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นยักษ์ที่มีความสูง กรุณาอยู่ในความสงบ” ข้อความที่บีเอ็มเคจี ทวีตขึ้นบนทวิตเตอร์เมื่อคืนนี้ ก่อนที่จะลบไป

ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น พบว่า คลื่นที่เกิดขึ้นมีความสูงราว 3 เมตร และมีความเป็นไปได้ว่ามีสาเหตุมาจากการปะทุของภูเขาไฟอานัค กรากาตัว ที่ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของช่องแคบซุนดา ที่แยกเกาะชวา และสุมาตราออกจากกัน

ดวิโกริตา การ์นาวาตี ผู้อำนวยการบีเอ็มเคจี ออกมายืนยันถึงการเกิดสึนามิ แต่ระบุว่า ไม่ได้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว และต้องสงสัยว่า คลื่นสึนามึนี้ มีสาเหตุมาจากการปะทุของภูเขาไฟ

“เมื่อเวลา 21.30 น. ของคืนวันเสาร์ กรากาตัวเกิดการปะทุขึ้นอีกครั้ง และสร้างความเสียหายให้กับตัวตรวจวัดในบริเวณใกล้เครื่อง แต่สถานีตรวจวัดเซอร์ตุง สามารถบันทึกแรงสั่นสะเทือนอย่างต่อเนื่องไว้ได้ ”

การ์นาวาตี บอกด้วยว่าเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว ในซิกิวลิส บันเตน สามารถบรรทุกการสั่นไหวที่เกิดขึ้นราว 24 วินาทีไว้ได้เช่นกัน

fb4846ea2b4648a8ac5bb13bef6d5d30 8
ภาพมุมสูงจากนาซา แสดงให้เห็นภูเขาไฟกรากาตัว ที่กำลังงปะทุอยู่

ขณะศูนย์บรรเทาความเสียหายภูเขาไฟ และธรณีวิทยา (พีวีเอ็มบีจี) อินโดนีเซีย ระบุว่า ยังคงตรวจหาความเชื่อมโยงระหว่างการปะทุของภูเขาไฟกรากาตัว กับสึนามิอยู่ ทั้งยังระบุว่า กรากาตัวเกิดการปะทุขึ้นมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน และการปะทุขนาดใหญ่จากภูเขาไฟ ก็ไม่ได้ทำให้เกิดสึนามิ

“การทำให้เกิดสึนามึใหญ่ขนาดนั้นได้นั้น จำเป็นต้องเกิดดินถล่มขนาดมหึมา ที่ร่วงลงไปทะเล และยังต้องมีพลังงานจำนวนมหาศาลเกิดขึ้น ซึ่งเครื่องตรวจจับแรงสั่นสะเทือน ในจุดสังเกตการณ์ภูเขาไฟ จับสัญญาณใดๆ ไม่ได้เลย”

สถานีตรวจจับความเคลื่อนไหวภูเขาไฟในปาเซารัน หาดอันเยอร์ ที่อยู่ห่างจากภูเขาไฟกรากาตัวราว 40 กิโลเมตร ตรวจพบลาวาไหลออกมาทางทิศใต้ของภูเขาไฟ เมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา แต่การปะทุที่เกิดขึ้น เป็นการปะทุขนาดเล็กเกินกว่าที่จะทำให้เกิดสึนามิได้

อาห์หมัด มูฮาริ ผู้เชี่ยวชาญด้านสึนามิ กล่าวว่า มีสาเหตุที่เป็นไปได้ 2 ประการที่จะทำให้เกิดสึนามิ คือ ดินถล่มที่เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟกรากาตัว หรือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านสภาพอากาศอย่างกระทันหัน แต่ทั้ง 2 ทฤษฎีนี้ก็มีข้อจำกัดในตัวเองอยู่

“ในขณะนี้ ยังเป็นเรื่องที่มืดมนอยู่ เพราะเรามีข้อมูลจำกัด มีแต่ข้อมูลของคลื่นจากสถานีตรวจจับ 4  แห่งเท่านั้น ”

10664974 3x2 700x467

เขาบอกด้วยว่า ถ้าหากดินถล่ม เพราะการปะทุของภูเขาไฟ เป็นสาเหตุทำให้เกิดดินถล่ม สถานีตรวจจับทั้ง 4 แห่งก็น่าจะจับสัญญาณคลื่นได้ในเวลาเดียวกัน แต่สถานีตรวจจับที่ท่าเรือปันจัง ในเมืองลัมปัง ตรวจจับคลื่นได้ช้ากว่าสถานีอื่นอย่างมาก ทั้งเกาะอีก 3 แห่งที่อยู่รายล้อมภูเขาไฟกรากาตัว ก็จะเป็นตัวขวางคลื่นใดๆ ก็ตาม ที่เป็นผลมาจากการปะทุของภูเขาไฟ

ปัจจัยต่างๆ ในด้านสภาพอากาศก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดสึนามิได้เช่นกัน แต่ข้อมูลของบีเอ็มเคจี ไม่ได้แสดงให้เห็นสัญญาณใดๆ ของการเปลี่ยนแปลงในแรงกดอากาศอย่างกระทันทัน ที่อาจจุดชนวนให้เกิด “สึนามิสภาพอากาศ” ขึ้นมาได้

“ข้อมูลไม่ได้แสดงให้เห็นถึงลมความเร็วสูงมาก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เกิดร่วมกับดินถล่ม จนทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิได้”

อย่างไรก็ดี ซุกมันดารู ประธานสมาคมนักธรณีวิทยาอินโดนีเซีย กล่าวว่า เมื่อพิจารณาจากข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบัน เขารู้สึกว่า “ดินถล่มใต้ทะเล” น่าจะเป็นคำอธิบายที่ดีที่สุดสำหรับการเกิดสึนามิในครั้งนี้

“การปะทุของภูเขาไฟกรากาตัว อาจทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือน ที่ส่งผลให้เกิดดินถล่ม ในพื้นที่ลาดเอียงใต้ทะเล และจุดชนวนให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นมา”  ซุกมันดารู กล่าว พร้อมเสริมว่า แม้ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ภูเขาไฟไม่ได้เกิดการปะทุขนาดใหญ่ใดๆ ขึ้นมา แต่แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นซ้ำๆ อาจทำให้พื้นที่ลาดเอียงใต้ทะเลแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ในสภาพที่ไม่มั่นคง และถล่มลงมาในที่สุด

“เรื่องนี้ยังต้องหาคำอธิบายกันต่อไป เราต้องการข้อมูลมากกว่านี้ เพื่อยืนยันถึงสาเหตุที่แท้จริง”

ที่มา :  Jakarta Post

Avatar photo