World News

‘เฟด’ ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งปี 65 หยุดทำ ‘คิวอี’ เดือนมี.ค.

“เฟด” ประกาศยุติการทำ “คิวอี” ในเดือนมีนาคม ปีหน้า พร้อมปูทางสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยรวม 0.75% ภายในสิ้นปี 2565 หลังมองว่า เศรษฐกิจเกิดการจ้างงานใกล้เต็มที่แล้ว และธนาคารกลางรับมือกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้

นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แถลงหลังการประชุมคณะเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายทางการเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ว่า เศรษฐกิจสหรัฐ ไม่จำเป็นต้องมีการสนับสนุนด้านนโยบายเพิ่มเติมอีกต่อไป พร้อมเปรียบเทียบสภาพเศรษฐกิจที่เกือบอยู่ในภาวะถดถอย ในช่วงปี 2563 จากการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 กับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ราคา และค่าจ้าง เพิ่มสูงขึ้น และตลาดแรงงานที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมยังมีมติเป็นเอกฉันท์ คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ขณะเดียวกัน เฟดจะเพิ่มการปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็นเดือนละ 30,000 ล้านดอลลาร์ เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 โดยการปรับลดวงเงิน คิวอี ของเฟดจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากเดิมเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลให้เฟดยุติการทำคิวอี ในเดือนมีนาคม 2565

shutterstock 111482507

นอกจากนี้ ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2565 และจำนวน 2 ครั้งในปี 2566 และอีก 2 ครั้งในปี 2567

แถลงการณ์ของเฟด ระบุว่า เฟดมีความมุ่งมั่นที่จะใช้เครื่องมือทั้งหมดที่มีอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสหรัฐ ในช่วงเวลาที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในขณะนี้ โดยเฟดเชื่อว่าการดำเนินการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการจ้างงานให้ขยายตัวอย่างเต็มศักยภาพ และบรรลุเป้าหมายในการรักษาเสถียรภาพด้านราคา

ท่ามกลางความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและการใช้นโยบายสนับสนุนที่แข็งแกร่งนั้น สัญญาณบ่งชี้ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการจ้างงานยังคงมีความแข็งแกร่งอย่างมาก อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่การระบาดของโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อภาคส่วนเหล่านี้

ตัวเลขการจ้างงานปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และอัตราว่างงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาวะไร้สมดุลระหว่างอุปทาน และอุปสงค์ซึ่งเป็นผลมาจากโรคระบาด รวมทั้งการเปิดเศรษฐกิจนั้น ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ส่วนภาวะการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงมาตรการด้านนโยบายต่าง ๆ ที่สนับสนุนเศรษฐกิจ และการจัดสรรสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของสหรัฐ

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจในวันข้างหน้านั้น ยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยคณะกรรมการคาดว่าความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและภาวะติดขัดด้านอุปทานที่เริ่มบรรเทาลงนั้น จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน อีกทั้งช่วยลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี แนวโน้มเศรษฐกิจก็ยังคงเผชิญกับความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่

คณะกรรมการกำหนดนโยบายเฟด  พยายามหาแนวทางที่จะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ในระยะยาว

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว คณะกรรมการได้ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และจากการที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2% ในบางช่วงเวลา ทางคณะกรรมการจึงคาดว่าน่าจะเป็นเรื่องเหมาะสมที่จะคงกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวต่อไปจนกว่าภาวะตลาดแรงงานจะบรรลุเป้าหมายการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพตามที่เฟดประเมินไว้

shutterstock 376440118

เมื่อพิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการจึงตัดสินใจปรับลดวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และปรับลดวงเงินซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) เดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ นับตั้งแต่เดือนมกราคม  2565 เป็นต้นไป คณะกรรมการจะเพิ่มการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอย่างน้อยเดือนละ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ และถือครองตราสารหนี้ MBS อย่างน้อยเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์

คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่าการปรับลดวงเงินซื้อสินทรัพย์สุทธิในอัตราที่เท่ากันเช่นนี้ จะเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมในแต่ละเดือน อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีความพร้อมที่จะปรับอัตราการซื้อสินทรัพย์ หากพบว่าแนวโน้มเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ คณะกรรมการคาดว่าการซื้อและการถือครองสินทรัพย์เหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้ตลาดต่าง ๆ ดำเนินการต่อไปได้อย่างราบรื่น และช่วยสนับสนุนภาวะด้านการเงินให้เป็นไปในลักษณะที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้จะช่วยให้สินเชื่อไหลเวียนไปสู่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

ส่วนในการประเมินแนวทางที่เหมาะสมของนโยบายการเงินนั้น คณะกรรมการจะยังคงจับตาข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะได้รับในวันข้างหน้า ขณะเดียวกันคณะกรรมการจะเตรียมความพร้อมเพื่อปรับแนวทางนโยบายการเงินตามความเหมาะสม หากพบว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เฟดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ของคณะกรรมการ

โดยคณะกรรมการจะประเมินข้อมูลในวงกว้าง ซึ่งรวมถึงข้อมูลด้านสาธารณสุข ภาวะตลาดแรงงาน แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการคาดการณ์เงินเฟ้อ รวมถึงการพิจารณาสถานการณ์ทางการเงิน และสถานการณ์ในต่างประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo