World News

เอกชนมอง เส้นทางใหม่ ‘รถไฟจีน-ลาว’ พลิกโฉม ‘ขนส่ง’ คน-สินค้า

ภาคเอกชนมอง เส้นทางสายใหม่ “รถไฟจีน-ลาว”  ที่จะเปิดให้บริการปลายปีนี้ จะพลิกโฉมการขนส่งคน-สินค้า ในภูมิภาค พร้อมอำนวยประโยชน์ให้อาเซียน ในการเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก 

นายมงคล วิศิษฎ์สตัมภ์ กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง จีน กล่าวเปิดงานเสวนา รถไฟจีน-สปป.ลาว ประเมินโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการไทย ว่า โครงการนี้เป็นเส้นทางคมนาคมใหม่ ที่จะพลิกโฉมการขนส่งทั้งคนและสินค้า ก่อนที่โครงการรถไฟไทย-จีน จะแล้วเสร็จในอีก 5-7 ปีข้างหน้า

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นไม่เพียงแค่เฉพาะลาวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกประเทศในภูมิภาคนี้ ที่จะเชื่อมต่อไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และระยะเวลาได้ดีกว่าการขนส่งรูปแบบเดิม ได้แก่ การขนส่งทางบกเส้นทาง R3A การขนส่งทางเรือจากท่าเรือเชียงแสน ไปตามแม่น้ำโขง และการ ขนส่งทางเรือจากท่าเรือแหลมฉบัง

รถไฟจีน-ลาว

โครงการรถไฟจีน-ลาว จะเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว หลังวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากจีนเป็นตลาดใหญ่ ที่มีผู้บริโภคมากถึง 1,412 ล้านคน โดยมีความต้องการสินค้าด้านสุขภาพมากขึ้น จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่มีสัดส่วนราว 20% รวมถึงการเดินทางท่องเที่ยว โดยระบบรางของจีนมีเส้นทางเครือข่ายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ รวมระยะทาง 3.6 หมื่นกิโลเมตร

นายมงคล บอกด้วยว่า ที่ผ่านมาการขนส่งระบบรางยังไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากไม่มีเทคโนโลยีที่ดี ทำให้มีการตัดถนนเพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจุบันการพัฒนาการขนส่งระบบรางให้ทันสมัย ทำให้เกิดการใช้งานกันมากขึ้น และในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การขนส่งระบบราง กลับไม่ได้รับผลกระทบเลย เพราะเป็นการขนส่งระบบปิดและไม่สร้างมลภาวะ

เส้นทางรถไฟจีน-ลาว จะช่วยให้การส่งออกสินค้าที่มีความอ่อนไหว ได้แก่ ผักและผลไม้ ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีการส่งสินค้าเกษตรกลับเข้ามาขายในไทยเช่นกัน

กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง ย้ำว่า ผู้ส่งออกต้องพิจารณาความคุ้มค่า ในการใช้เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เพื่อส่งออก ซึ่งหากไม่ได้ส่งออกไปยังจุดหมายปลายทาง ที่คุนหมิง ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการส่งออก

ทางด้านนายอู๋ เจี้ยนเลี่ย ประธานบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัทยูนนาน อินเตอร์คอนติเนนตัล มัลติ-โมเดล เรลเวย์ โลจิสติกส์  กล่าวว่า รถไฟเส้นทางนี้จะเปิดให้บริการในช่วงปลายปีนี้ หลังจากเริ่มทดลองใช้งานเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา

รถไฟจีน-ลาว

ในอนาคต จะมีการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสายนี้มาถึงกรุงเทพมหานคร โดยคุนหมิงจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคม เชื่อมต่อไปยังเอเชียใต้ และเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งช่วยให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประหยัดต้นทุนในการขนส่ง

ขณะที่ นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดี กรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า การเปิดเส้นทางดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ด้านการค้าอย่างมาก ส่วนด้านการท่องเที่ยวนั้นยังพอมีเวลาในการจัดเตรียมความพร้อมรองรับ เนื่องจากจีนยังไม่อนุญาตให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศ

ผู้ประกอบการต้องพิจารณาว่า จะใช้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าวได้อย่างไรบ้าง โดยหลังจากโครงการนี้เปิดให้บริการแล้ว จะเกิดผลกระทบต่อการขนส่งรูปแบบเดิมอย่างแน่นอน เป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งเชื่อว่าภาคเอกชนจะมองเห็นช่องทาง และปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้ไม่ยาก

ส่วนสาเหตุที่การก่อสร้างโครงการในส่วนของประเทศไทยยังมีล่าช้านั้น เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องขั้นตอนตามกฎหมาย และเสถียรภาพทางการเมือง

รถไฟจีน-ลาว

นางวัลภา สถิรชวาล ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณการค้าผ่านแดนไปลาว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอยู่แล้ว แม้จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้นมา ดังนั้นเมื่อมีการเปิดบริการรถไฟจีน-ลาว ก็จะช่วยเพิ่มปริมาณการค้ามากขึ้น

โดยอยากเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมากำกับดูแลเหมือนโครงการอีอีซี เพราะมีขอบเขตที่กว้างขวางกว่าการค้าผ่านแดน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการพัฒนาบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ด้วยการยกระดับความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อลดความสูญเสียที่เกิดจากการขนส่งที่มากถึง 40%

ทำความรู้จัก เส้นทางรถไฟจีน-ลาว

รถไฟจีน-ลาว จะเริ่มใช้งานอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 โดยรถไฟสายนี้ เชื่อมเมืองคุนหมิง ในมณฑลยูนนาน ของจีน เข้ากับนครหลวงเวียงจันทน์ ของลาว และอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ Belt and Road Initiative (BRI) มีระยะทาง 1,020 กิโลเมตร

แบ่งเป็นระยะทาง 598 กิโลเมตรในจีน และ 422 กิโลเมตรในลาว สามารถวิ่งทำความเร็วขนส่งผู้โดยสารได้ถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสำหรับการบรรทุกสินค้าสามารถวิ่งได้ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก สะท้อนจากจำนวนขบวนขนส่งสินค้าต่อวันที่สูงกว่าขบวนขนส่งผู้โดยสาร

ที่ผ่านมา การค้าระหว่างไทยกับจีน เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกของไทย ไปยังจีนผ่านทางถนน ซึ่งมีสัดส่วนราว 20% ของการส่งออกไปยังจีนทั้งหมด และปริมาณการส่งออกในส่วนนี้ ขยายตัวขึ้นอย่างน่าจับตา ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา

รถไฟจีน-ลาว

มิติใหม่ของการขนส่งด้วยรถไฟไปจีน ผ่านช่องทาง จังหวัดหนองคาย จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับสินค้าไทย ด้วยความสามารถในการช่วยลดระยะเวลา และต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง  จึงนับว่ารถไฟที่เกิดขึ้นสาย นี้เป็นเสมือนช่องทางขนส่งใหม่อีกทางที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ เส้นทางรถไฟสายดังกล่าว ยังบรรจบกับเส้นทางหลักของไทย ที่ใช้ขนส่งสินค้าไปยังนครคุนหมิง  ซึ่งก็คือ เส้นทาง R3A ผ่านทาง จังหวัดเชียงราย ที่เมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ลาว ซึ่งรถไฟสายใหม่นี้ น่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการขนส่งสินค้าไทยผ่านช่องทางดังกล่าวขึ้นไปอีก

ในระยะเวลาอันใกล้ รถไฟจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการส่งออกของไทยไปยังจีน ด้วยรูปแบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) ซึ่งจะขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศไทย และจีน ให้เร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo