World News

แนะ ‘อาเซียน’ อย่าเน้นพึ่ง ‘จีน’ ต้องมองหาพันธมิตรลงทุนรายอื่น

ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกยังย่ำแย่เพราะการระบาดของโควิด-19 ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังคงหวังพึ่งเม็ดเงินการลงทุนจากจีน ภายใต้ข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” (BRI) ของจีนอยู่ แต่นักวิเคราะห์หลายรายชี้ว่า รัฐบาลอาเซียนควรเริ่มหันไปมองหาโอกาสการลงทุนจากที่อื่นได้แล้ว

VOA รายงานว่า ภายใต้ข้อริเริ่ม BRI ของรัฐบาลจีนนั้น หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างคาดหวังที่จะมีได้ส่วนแบ่งจากผลประโยชน์ของการลงทุน จากกรุงปักกิ่งอย่างเต็มที่ แต่นักวิเคราะห์มองว่า ในเวลานี้ จีนน่าจะมุ่งเน้นความสนใจ ไปยังการผลักดันเศรษฐกิจของตนมากกว่า และทำให้การหวังพึ่งโครงการนี้ เพียงแหล่งเดียวอาจนำมาซึ่งความผิดหวังได้

คาโฮ ยู นักวิเคราะห์อาวุโสด้านการเมือง และประเด็นพลังงานของเอเชีย จาก Verisk Maplecroft ในสิงคโปร์ แสดงความเห็นว่า ทุกฝ่ายควรตระหนักว่า อย่างไรเสีย ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และแผนการลงทุนในต่างประเทศของจีน ย่อมมีขีดจำกัด

รัฐบาลกรุงปักกิ่งเอง ก็กังวลเกี่ยวกับการพยุงสภาพเศรษฐกิจของตัวเอง มากกว่าที่จะหันไปดำเนินแผนงานใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของประเทศอื่น ๆ หลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปแล้ว

shutterstock 522516928

ยู กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเดินหน้าผลักดันโครงการต่าง ๆ ภายใต้ข้อริเริ่ม BRI ไม่ว่าจะเป็นด้านการค้า หรือการลงทุนเริ่มชะลอตัวลง และไม่ดูคึกคัก เหมือนอย่างเช่น เมื่อราว 5 ปีก่อน

ขณะที่ การดำเนินมาตรการล็อกดาวน์ เพราะการระบาดของไวรัสโควิด ยิ่งทำให้ปัญหาการล่าช้าในแผนงานก่อสร้างโครงการพื้นฐานต่าง ๆ ยิ่งย่ำแย่ลงไปอีก และประเด็นความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ และกระแสต่อต้านจีนในหลายพื้นที่ ก็มีผลกระทบต่อแผนการลงทุนทั้งหลายด้วย

ข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง

รัฐบาลของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เปิดตัวข้อริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ในปี 2556 ให้เป็นแผนงานหลักของนโยบายด้านการต่างประเทศ ที่ตั้งเป้าลงทุนใน 70 ประเทศ และร่วมมือด้านการลงทุน กับองค์กรระหว่างประเทศต่าง ๆ ด้วย

ข้อมูลจากสถาบัน American Enterprise Institute ระบุว่า มูลค่าสัญญาภายใต้ BRI ที่มีการลงนามไปแล้วนั้นอยู่ที่ 46,540 ล้านดอลลาร์ ณ ปลายปีที่แล้ว โดยประเทศในกลุ่มอาเซียน เป็นผู้ถือส่วนแบ่งก้อนใหญ่ที่สุด ด้วยสัดส่วน 36% ที่จะเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย ตั้งแต่ ถนนทางหลวง ไปจนถึง ท่าเรือ การขนส่งระบบราง และเขื่อน

แต่ทิศทางการเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ที่ดำเนินติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ กลับต้องสะดุดลง เพราะการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และทุกประเทศต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจหดตัวอย่างหนักในปีที่ผ่านมา ขณะที่ ความหวังของหลายฝ่ายที่จะเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ก็ต้องล้มครืน เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา

shutterstock 1102907783
หวัง อี้

สัญญาณบวกที่พอจะเป็นความหวัง ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คือ การที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีน หวัง อี้ กลับมาออกเดินทางเยือนประเทศต่าง ๆ ในแถบอินโดจีนอีกครั้งเมื่อเดือนที่แล้ว หลังรัฐมนตรีอาเซียนจัดการประชุม BRI แบบออนไลน์ เพื่อหารือความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ที่จะมาช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19

ยู นักวิเคราะห์อาวุโส จาก Verisk Maplecroft กล่าวว่า BRI ยังจะเป็นหลักสำคัญของนโยบายต่างประเทศจีน อย่างน้อยในช่วงอนาคตอันใกล้นี้ และอาเซียน ซึ่งอยู่ใกล้กับจีนมาก น่าจะได้เปรียบกว่าประเทศอื่น ๆ ในการดึงเม็ดเงินการลงทุนจากจีนได้มากกว่า

อย่างไรก็ดี ยู ชี้ว่า ในเวลานี้ ยังไม่น่าจะมีโครงการประเภท เมกะโปรเจกต์ เปิดตัวออกมาในเร็วๆ นี้อยู่ดี

ปัญหาภายใน

จีนเองมีปัญหาภายในประเทศ ที่ต้องเร่งจัดการอยู่ไม่น้อย อย่างเช่น กรณีของบริษัท เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) ที่ประสบภาวะหนี้พุ่งถึง 305,000 ล้านดอลลาร์ และหน่วยงานกำกับดูแลกิจการ ออกมาเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงจากปัญหาของบริษัทสัญชาติจีนแห่งนี้ ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ หากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน ไม่สามารถจัดการปัญหาภาระหนี้สินได้

เดวิด ท็อตเทน ผู้บริหารจากบริษัท Emerging Markets Consulting กล่าวว่า ภาวะระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด ทำให้บริษัทจีนหลายแห่ง ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากปัญหาการล่าช้า ในการดำเนินแผนงานธุรกิจของตน ซึ่งส่งผลไปยังฐานะการเงินของแต่ละแห่งด้วย

ท็อตเทน แนะว่า ช่วงนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทต่าง ๆ จะสะสางโครงการต่าง ๆ ในมือ และดำเนินการส่วนที่ทำได้ และทำให้สำเร็จ ขณะที่ชะลอแผนการขยายธุรกิจไปอีกสักพักก่อน

เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกรุงปักกิ่งเพิ่งประกาศว่า จะยกเลิกแผนลงทุนสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหินในต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อโรงงานถึง 44 แห่งที่รัฐบาลจีนวางแผนจะลงทุนเป็นมูลค่าราว 50,000 ล้านดอลลาร์

shutterstock 416042392

เร่งกระจายความเสี่ยง

ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อาเซียนประกาศมอบสถานะ หุ้นส่วนคู่เจรจา ซึ่งหมายถึง สิทธิ์ในการเข้าร่วมประชุมกับทางกลุ่มที่สูงขึ้น ให้กับอังกฤษ ซึ่งกำลังปรับเปลี่ยนตัวเอง หลังถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า เบร็กซิต ทำให้อังกฤษกลายมาเป็นประเทศแรกในรอบ 25 ปีที่ได้รับสถานะดังกล่าว และเข้าร่วมกลุ่มประเทศที่ได้รับสิทธิ์นี้ไปแล้ว อันได้แก่ ออสเตรเลีย จีน รัสเซีย อียู และสหรัฐ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็กำลังเร่งความพยายามสานความสัมพันธ์กับอาเซียน เพื่อต้านอิทธิพลจีน และน่าจะพยายามผลักดันข้อริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นระหว่างสหรัฐ และอาเซียน หรือ US-ASEAN Expanded Economic Engagement Initiative เพื่อส่งเสริมการค้า การลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้มีมากขึ้น

เดวิด ท็อตเทน ผู้บริหารจากบริษัท Emerging Markets Consulting แสดงความเห็นว่า สิ่งที่ดูสมเหตุสมผลสำหรับอาเซียนก็คือ การหันไปผูกมิตรกับประเทศอื่น ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสหรัฐ หลังการเลือกตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว เปิดโอกาสให้ทางกลุ่ม สามารถริเริ่มความเป็นหุ้นส่วนกับกรุงวอชิงตันได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม อาเซียนควรตระหนักถึงความท้าทายจากการก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรใหม่ ๆ ในภาวะที่สภาพภูมิรัฐศาสตร์โลกมีความตึงเครียดมากขึ้น อาทิ กลุ่มจตุภาคี หรือ Quad ที่ประกอบด้วย อินเดีย สหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ภายใต้นโยบายอินโด-แปซิฟิก ที่ได้รับการปรับปรุงขึ้นมาใหม่

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความไม่พอใจของจีนต่อการถือกำเนิดของกลุ่ม Quad  และความหวังของจีนที่ว่า กัมพูชา ที่เป็นพันธมิตรหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานหมุนเวียนกลุ่มอาเซียนในปีหน้า จะออกโรงต่อต้านแทนจีนนั้น ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เพราะต้องหาทางสร้างสมดุลด้านผลประโยชน์จากทั้งฝั่งจีน และฝั่งตะวันตกไว้ให้ได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo