World News

‘เอดีบี’ หั่นคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 64 โตแค่ 0.8% ชี้ปัจจัยเสี่ยง ‘โควิดระบาดรอบใหม่-ฉีดวัคซีนช้า’

“เอดีบี” หั่นคาดการณ์ เศรษฐกิจไทย ปี 64 เหลือเพียง 0.8% ระบุ การแพร่ระบาดของ “โควิด” ระลอกใหม่ ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ยังเดินหน้าไม่ได้เต็มที่ และยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทย 

ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เปิดเผยรายงาน แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชีย ปี 2564 ฉบับล่าสุด ซึ่งมีการประเมินถึงสถานการณ์ของ เศรษฐกิจไทย ปี 64 โดยคาดว่า จะขยายตัว 0.8% ลดลงจากระดับ 3.0% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

พร้อมกันนี้ ยังปรับลดแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2565 ลงมาอยู่ที่ระดับ 3.9% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดว่า จะยังอยู่ในระดับเดิมที่ 1.1% ในปีนี้ และ 1.0%  ในปีหน้า เนื่องจากอุปสงค์รวมยังคงซบเซา

เศรษฐกิจไทยปี 64

เศรษฐกิจไทยปี 64 ฟื้นตัวไม่เต็มที่ 

เอดีบี ระบุว่า การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้การฟื้นตัวของ เศรษฐกิจไทยปี 64 ยังเดินหน้าไม่ได้เต็มที่ แม้การเติบโตของการส่งออกสินค้า และสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวย จะช่วยลดผลกระทบทางลบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อการเติบโตได้

แต่การระบาดระลอกใหม่ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และความล่าช้าของแผนวัคซีนของประเทศ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้ม เศรษฐกิจไทยปี 64

การคาดการณ์สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ถูกปรับลดลงเช่นกัน เนื่องจากเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค ยังคงต้องสู้กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ การล็อกดาวน์และการควบคุมต่าง ๆ ที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้า

เอดีบี คาดว่า การเติบโตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับปี 2564 และปี 2565 จะลดต่ำลงเหลือ 3.1% และ 5.0% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับที่เคยคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่  4.4% และ 5.1%

สำหรับเศรษฐกิจของแปซิฟิกคาดว่าจะหดตัวที่ 0.6% ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.4% เมื่อเดือนเมษายน ก่อนจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.8% ในปี 2565

ในส่วนของภาพรวมของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ในปี 2564 นั้น เอดีบี คาดการณ์ว่า จะขยายตัว 7.1% ลดลงจากระดับ 7.3% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา สำหรับปี 2565 คาดว่าการเติบโตจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 5.4% จาก 5.3%

เอดีบี มองว่า ไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ ประกอบกับ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ในประเทศต่าง ๆ  การกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมที่หลากหลาย และการล็อกดาวน์ในระดับต่างๆ รวมถึงการบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้า และไม่สม่ำเสมอนั้น กำลังทำให้โอกาสการฟื้นตัวของภูมิภาคนี้ลดน้อยลง

ส่วนอัตราเงินเฟ้อของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย คาดว่าจะยังคงอยู่ที่ 2.2% ในปีนี้ และ 2.7% ในปี 2565 ซึ่งแนวโน้มของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศ และราคาอาหารในปัจจุบันที่สูงขึ้น อาจกระตุ้นอัตราเงินเฟ้อของบางประเทศในภูมิภาค

เศรษฐกิจไทยปี 64

นายโจเซฟ ซเวกลิช จูเนียร์ รักษาการหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเอดีบี ระบุว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ยังคงเสี่ยงต่อการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด เนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ ก่อให้เกิดการระบาดไปในวงกว้าง จนนำไปสู่ข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในบางประเทศอีกครั้ง

“มาตรการเชิงนโยบายไม่ควรเน้นที่การกักกันตัว และการฉีดวัคซีนเท่านั้น แต่ควรเน้นการช่วยเหลือบริษัท และครัวเรือนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับทิศทางของภาคเศรษฐกิจให้เข้ากับ ความปกติใหม่ เมื่อการระบาดใหญ่ลดน้อยลง และการฟื้นตัวเริ่มต้นขึ้น”

ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด ในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตา เริ่มแพร่ระบาดเมื่อเดือนเมษายน ซึ่งมีผู้ป่วยใหม่รายวันสูงสุดอยู่ที่ 430,000 ราย ในเดือนพฤษภาคม และมีผู้ป่วยใหม่มากกว่า 163,000 ราย นับถึงวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ยังมีความไม่เท่าเทียมกัน และล่าช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยข้อมูลนับถึงวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ประชากรของภูมิภาคที่ได้รับวัคซีนป้องกันครบตามกำหนดแล้ว มีประมาณ 28.7% เมื่อเทียบกับ 51.8% ในสหรัฐ และ 58.0% ในสหภาพยุโรป

เอดีบี บอกด้วยว่า การฟื้นตัวภายในภูมิภาคยังไม่มั่นคง โดยคาดว่า การเติบโตของเอเชียตะวันออกในปีนี้ จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่  7.6%  จากระดับ 7.4% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน เนื่องจากอุปสงค์การส่งออกเชื้อเพลิงจากภูมิภาคปรับตัวเพิ่มมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มการเติบโตในปี 2565 ยังคงเดิมที่ 5.1% โดยคาดว่าจีน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ยังคงเติบโตอยู่ที่ 8.1% ในปี 2564 และ 5.5% ในปี 2565

การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียกลางในปีนี้คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ 4.1% จาก 3.4% ที่คาดการณ์ไว้ในเดือนเมษายน อันเป็นผลจากแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นสำหรับอาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน จอร์เจีย คาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน สำหรับปี 2565 คาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคนี้จะเติบโตดีขึ้นจาก 4.0% เป็น 4.2%

ขณะที่ในเอเชียใต้ จะเติบโตที่ 8.8% ในปีนี้ ซึ่งปรับลดจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 9.5% ในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2565 คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 7.0%  จาก 6.6%

สำหรับอินเดีย ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของอนุภูมิภาคนั้น คาดว่าจะเติบโตลดลงเหลือ 10.0% จาก 11.0% ในปี 2564 ในขณะที่แนวโน้มสำหรับปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 7.5% จาก 7.0%

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo