World News

ศาลอังกฤษ สั่งปิด ‘พินัยกรรมเจ้าชายฟิลิป’ เป็นความลับนาน 90 ปี ห่วงกระทบราชวงศ์

ศาลฎีกาแผนกคดีครอบครัวของสหราชอาณาจักร มีคำสั่งให้ปกปิดเนื้อหาในพินัยกรรมของเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระไว้เป็นความลับอย่างน้อย 90 ปี เพื่อปกป้อง “พระเกียรติและพระราชฐานะ” ของสมเด็จพระราชินีนาถ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์

บีบีซี รายงานว่า การที่ศาลสั่งปิดเนื้อหาพินัยกรรมของพระราชวงศ์อังกฤษเป็นความลับตลอดไป ถือเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมานานกว่าหนึ่งศตวรรษแล้ว แต่ในคราวนี้นับเป็นครั้งแรกที่ศาลกำหนดระยะเวลาปกปิดเนื้อหาพินัยกรรมไว้ที่ 90 ปี ซึ่งหากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว สามารถจะเปิดเผยเนื้อหาของพินัยกรรมเป็นการส่วนตัว แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องได้ แต่จะไม่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะอย่างเด็ดขาด

มีการเผยแพร่คำสั่งศาลในกรณีของเจ้าชายฟิลิปเมื่อวานนี้ (17 ก.ย.) หลังศาลได้รับคำร้องจากอัยการสูงสุด และทนายความ จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระองค์ เมื่อเดือน กรกฎาคม ที่ผ่านมา

pp

เซอร์ แอนดรูว์ แม็กฟาร์เลน ประธานศาลฎีกาแผนกคดีครอบครัวบอกว่า คำสั่งศาลนี้มีขึ้น โดยคำนึงถึงพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลจึงเห็นสมควรที่จะให้มีการปฏิบัติเป็นพิเศษ ต่อพินัยกรรมของบรรดาพระราชวงศ์ เพื่อยกระดับการปกป้องแง่มุมที่เป็นส่วนตัวอย่างแท้จริง ในชีวิตของบุคคลเหล่านี้ เพื่อรักษาพระเกียรติของสมเด็จพระราชินีนาถ และสมาชิกของพระราชวงศ์ที่ใกล้ชิดกับพระองค์

เซอร์แม็กฟาร์เลน ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาพินัยกรรมของพระราชวงศ์อังกฤษที่ล่วงลับไปแล้วถึงกว่า 30 พระองค์ ชี้แจงว่า ไม่ได้เปิดให้สาธารณชนเข้าฟังการพิจารณาคำร้องกรณีพินัยกรรมของเจ้าชายฟิลิป เนื่องจากมีแนวโน้มว่า จะทำให้เกิดการคาดเดาเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ จนกลายเป็นข่าวเล่าลือที่ปราศจากมูลความจริงขึ้นมาได้ ทั้งที่เนื้อหาของพินัยกรรมนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องต่อผลประโยชน์สาธารณะ และล้วนแต่เป็นเรื่องส่วนตัวทั้งสิ้น

สำหรับธรรมเนียมการปกปิดพินัยกรรมของราชวงศ์อังกฤษนั้น เริ่มจากเจ้าชายฟรานซิส แห่งเท็ก (Prince Francis of Teck) พระอนุชาของสมเด็จพระราชินีแมรี ในพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปเมื่อปี 2453 โดยเจ้าชายฟรานซิสได้ยกมรกตล้ำค่า ที่สมเด็จพระราชินีแมรีพระราชทานไว้ ให้เป็นมรดกแก่เคาน์เตสแห่งคิลมอรีย์ หญิงชู้รักนอกสมรส

เมื่อปี 2550 นายโรเบิร์ต แอนดรูว์ บราวน์ ซึ่งอ้างว่า เป็นบุตรนอกสมรสของเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ได้ยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้เปิดเผยเนื้อหาพินัยกรรมของควีนมัม และเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต ที่ถูกปิดเป็นความลับอยู่ แต่ศาลปฏิเสธไม่รับคำร้องดังกล่าว เนื่องจาก “เป็นการก่อกวนและใช้สิทธิดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีโดยไม่สุจริต”

EzH76l7WUAUIL5y

อย่างไรก็ตาม เซอร์แม็กฟาร์เลน ระบุว่า เนื้อหาพินัยกรรมของพระราชวงศ์อังกฤษ สามารถจะเปิดเผยต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นการส่วนตัวได้ หลังศาลมีคำสั่งให้แจกจ่ายทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมไปแล้ว 90 ปี  ซึ่งบุคคลเหล่านี้รวมถึงอัยการสูงสุด บรรณารักษ์ของหอจดหมายเหตุหลวง ทนายความส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ และผู้แทนส่วนพระองค์ของผู้ทำพินัยกรรมที่อาจยังมีชีวิตอยู่

กระบวนการเพื่อเปิดเผยเนื้อหาของพินัยกรรมดังกล่าว จะต้องผ่านการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีครอบครัวเช่นกัน แต่เซอร์แม็กฟาร์เลนบอกว่า พินัยกรรมของพระราชวงศ์บางพระองค์ อาจไม่มีการเปิดเผยตลอดไป แม้แต่การเปิดเผยเป็นบางส่วน ก็ทำไม่ได้

เซอร์แม็กฟาร์เลนมีแผนจะตีพิมพ์รายชื่อพระราชวงศ์เจ้าของพินัยกรรมกว่า 30 ฉบับ ที่เขาเก็บรักษาไว้ในตู้เซฟพิเศษ แต่จะยังไม่ทำเช่นนั้น หากมีผู้ร้องคัดค้าน และเขาจะรอจนกว่าศาลจะพิจารณาคำร้องคัดค้านนั้น เสร็จสิ้นเสียก่อน

ชื่อของไดอานา เจ้าหญิงแห่งเวลส์ จะไม่รวมอยู่ในรายชื่อข้างต้น เนื่องจากมีการเปิดเผยพินัยกรรมของพระองค์ไปแล้ว หลังการสิ้นพระชนม์เมื่อปี 2540 โดยทรัพย์สินส่วนใหญ่นั้น ถูกเก็บไว้ในรูปแบบของกองทุน เพื่อรอส่งมอบแก่พระโอรสทั้งสองเมื่อทรงเจริญวัยครบ 25 พรรษา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo