World News

กลืนไม่เข้าคายไม่ออก! ‘ธุรกิจแดนมังกร’ ระดมทุนต่างประเทศ เจอบีบ 2 ด้าน ‘จีน-สหรัฐ’

บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ของจีน ที่ต้องการระดมเงินทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะด้วยการนำหุ้นออกขายในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ  กำลังประสบปัญหาน่าลำบากใจ ทั้งจากการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดมากขึ้นโดยรัฐบาลจีน ขณะที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เรื่องการสอบบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสของสหรัฐ ด้วย

เฉพาะในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ มีบริษัทจีน 34 ราย ที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียน เพื่อซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ ซึ่งสามารถระดมทุนได้ถึงราว 12,400 ล้านดอลลาร์ และสร้างรายได้ให้กับบริษัทการเงินย่านวอลสตรีทได้หลายร้อยล้านดอลลาร์เช่นกัน

ทั้งยังมีอีกราว 20 บริษัท ซึ่งวางแผนจะนำหุ้นออกขายต่อสาธารณะชนเป็นครั้งแรกหรือ IPO ในช่วงหลังของปีนี้ด้วย

shutterstock 1514025260

ข้อมูลของคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและหลักทรัพย์สหรัฐ-จีน นับถึงวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีบริษัทจีนรวม 248 แห่ง ที่นำหุ้นออกขายในตลาดหุ้นสหรัฐ โดยมีมูลค่าตลาดรวมกันถึงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์

แต่กฎเกณฑ์ใหม่ทั้งในสหรัฐ และจีน กำลังจะทำให้การระดมทุนของบริษัทจากแดนมังกร ในตลาดต่างประเทศเป็นไปได้ยากขึ้น โดยรัฐบาลปักกิ่ง ได้ส่งสัญญาณว่า จะมีการตรวจสอบบริษัทท้องถิ่น ที่ต้องการนำหุ้นออกซื้อขายในตลาดต่างประเทศอย่างเข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลจากผู้บริโภค และผู้ใช้บริการชาวจีน

ทางการจีนพยายามชี้ว่า ตลาดหุ้นจีนเอง ก็เป็นทางเลือกที่ดีเพื่อการระดมทุนเช่นกัน เช่น เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลด้านหลักทรัพย์ของจีนได้อนุมัติแผนของบริษัทไชน่า เทเลคอม ซึ่งถูกรัฐบาลสหรัฐสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอดหุ้นออกจากตลาดสหรัฐ ให้สามารถนำหุ้นมูลค่า 8,400 ล้านดอลลาร์ออกขายในตลาดหลักทรัพย์นครเซี่ยงไฮ้ได้ นับเป็นการขายหุ้นใหม่ซึ่งมีมูลค่าสูงที่สุดของจีนในรอบกว่า 10 ปีด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เพิ่มแรงกดดันที่จะบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งกำหนดให้บริษัทต่างชาติ ที่นำหุ้นออกขายในตลาดหุ้นสหรัฐ ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เรื่องการสอบบัญชี และเปิดเผยข้อมูลทางการเงินต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของสหรัฐ อย่างน้อยทุก ๆ 3 ปี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการให้บริษัทของตนปฏิบัติตาม

นักวิเคราะห์ชี้ว่า บริษัทขนาดใหญ่ของจีน ตกอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออก จากข้อกำหนดเรื่องความโปร่งใสทางการเงินของตลาดหุ้นในประเทศตะวันตก กับข้อกำหนดของรัฐบาลจีน ที่ต้องการปกป้องข้อมูลซึ่งละเอียดอ่อน

เพราะโดยปกติแล้ว บริษัทขนาดใหญ่ของจีน มีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดอยู่กับรัฐบาล และกองทัพ ทำให้ข้อกำหนดเรื่องการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่ต้องการ ส่วนบริษัทมหาชนในสหรัฐนั้น มักดำเนินงานโดยแยกขาดจากรัฐบาล ทำให้การเปิดเผยข้อมูลใด ๆ ไม่มีผลในแง่ความมั่นคง

ผู้ที่อยู่ในวงการธุรกิจระหว่างประเทศ อย่าง ดั๊ก แบร์รี  โฆษกสภาธุรกิจสหรัฐ-จีน ชี้ว่า คงจะมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างสหรัฐ กับจีน และว่า ขณะที่ธุรกิจอเมริกัน ในจีน ยังคงมีผลประกอบการที่ดีอยู่นั้น ก็เริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคต ซึ่งอาจส่งผลให้การลงทุนลดลงได้ นอกจากเรื่องนี้จะชัดเจนขึ้น

นักวิเคราะห์อีกจำนวนหนึ่ง ยังมองว่า การคลี่คลายความขัดแย้งเรื่องนี้ จะเป็นตัวกำหนดว่าธุรกิจของจีน จะยังสามารถเข้าถึงตลาดระดมทุน ซึ่งมีสภาพคล่องมากที่สุดในโลก อย่าง ตลาดสหรัฐ ได้ต่อไปหรือไม่ ในเวลาที่ธุรกิจของจีนกำลังมีบทบาทมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo