COVID-19

วิจัยชี้ ‘ซิโนฟาร์ม-จอห์นสันฯ’ ป้องกันโควิด-19 ‘สายพันธุ์เดลตา’ ได้น้อยลง

ผลวิจัยล่าสุดชี้ วัคซีนป้องกันโควิดของ “ซิโนฟาร์ม” และ “จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน” อาจมีประสิทธิภาพ ในการป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา ได้น้อยลง 

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยศรีชยวรรธนปุระ ของศรีลังกา และ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด แห่งอังกฤษ เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน ป้องกันไวรัสโควิด-19 ของบริษัทซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย โดยพบว่า  ผู้ที่ได้รับวัคซีนของซิโนฟาร์ม มีระดับค่าภูมิคุ้มกันที่ลดลง 1.38 เท่า ในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ สายพันธุ์เดลตา เมื่อเทียบกับการรับมือกับเชื้อไวรัสโควิด ที่พบในเมืองอู่ฮั่น ของจีน

สายพันธุ์เดลตา

กลุ่มนักวิจัย ยังพบว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อย โดยจากผลการตรวจเลือดพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนชนิดนี้ กับผู้ที่เคยติดโควิด โดยที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนใด ๆ กลับมีค่าระดับภูมิคุ้มกันที่ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

ผลการศึกษา แสดงให้เห็นด้วยว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม มีประสิทธิภาพลดลงไปถึง 10 เท่า ในการป้องกันเชื้อเบตา ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่า เชื้อกลายพันธุ์เบตานี้ สามารถหลบหลีกวัคซีนได้ดีกว่าเชื้อสายพันธุ์อื่น ๆ

สายพันธุ์เดลตา

ประสิทธิภาพเหลือ 38 % เจอสายพันธุ์เดลตา

ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ของสหรัฐ พบว่า วัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน  ที่ผลิตโดย “แจนเซน” บริษัทในเครือ ก็มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อเดลตาลดลง เหลือแค่ 33% เมื่อต้องรับมือกับเชื้อเดลตา เมื่อเปรียบเทียบกับเชื้ออู่ฮั่น

งานวิจัยนี้  สวนทางกับรายงานของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน  ที่พวกเขาระบุว่า วัคซีนชนิดโดสเดียวของพวกเขา สามารถป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้นานหลังฉีดถึง 8 เดือน

ทั้งนี้ วัคซีนของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ถูกพัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีไวรัสเวกเตอร์ คล้ายกันกับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งเป็น 1 ใน 2 วัคซีนหลัก ที่ใช้อยู่ในไทย

สายพันธุ์เดลตา

ผลวิจัยที่ออกมานี้ ทำให้  นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

“เป็นห่วงว่า แผนการจัดหาวัคซีนของไทย อาจต้องพิจารณา J&J vaccine ใหม่อีกที เพราะวัคซีนเข็มเดียวอาจไม่พอ”

จากผลการทดลอง ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์กทำให้เห็นว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อาจจะต้องการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบ mix-and-match กับ mRNA vaccine เช่นเดียวกับ AstraZeneca ในอนาคต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo