World News

17 กรกฎาคม ร่วมฉลอง ‘วันอิโมจิโลก’

อีโมจิ ที่มีหลายพันรูปแบบ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการสื่อสารในปัจจุบันไปแล้ว โดยตัวสัญลักษณ์เหล่านี้ ถูกคิดค้นขึ้นครั้งแรกในปี 2542 โดยนักออกแบบชาวญี่ปุ่น แต่ไม่มีรายงานแน่ชัดว่าวันที่เท่าไหร่

อย่างไรก็ดี เพราะวันที่ ที่แสดงอยู่บน อิโมจิรูปปฏิทิน ของแอปเปิ้ล ลงวันที่ 17 กรกฎาคม เอาไว้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ เมือปี 2557  “เจเรมี เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Emojipedia กำหนดให้เป็น “วันอิโมจิโลก” ของทุกปี โดยมีจุดประสงค์เพื่อเฉลิมฉลองการใช้งานอีโมติคอน ผ่านทางการส่งข้อความออนไลน์ ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

อิโมจิ

ต้นกำเนิด “อิโมจิ” 

ชิเกทากะ คุริตะ เป็นนักออกแบบอินเทอร์เฟซ ของโทรศัพท์ของ “เอ็นทีที โดโคโม” บริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่น เขาได้ออกแบบอิโมจิมา 176 แบบด้วยกัน โดยออกแบบอิโมจิในตารางสี่เหลี่ยมขนาด 12 x 12 พิกเซล ซึ่งตัวแรกที่ออกมาประกอบด้วยจุด 144 จุด มีขนาดข้อมูล 18 ไบต์

จุดประสงค์ของการสร้างอิโมจิขึ้น ก็เพื่อให้การสื่อสารด้วยอีเมลทางโทรศัพท์มือถือง่ายขึ้น เพราะว่าระบบอีเมลในโทรศัพท์มือถือเริ่มแรกนั้น อนุญาตให้เขียนข้อความได้เพียงแค่ 250 ตัวอักษรเท่านั้น และอิโมจิก็ให้สื่อสารได้ใจความมากขึ้นในพื้นที่จำกัดนั้น

คุริตะ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เขาไม่ชอบหน้าตาของอีโมจิพวกนี้เลย เพราะมีลักษณะเป็นเหลี่ยม ๆ  แต่ในปัจจุบัน อิโมจิมีหลากหลายรูปแบบ  และมีหน้าตาเปลี่ยนไปมาก โดยการใช้กราฟิกแบบเวคเตอร์เข้ามาช่วย ทำให้มีรูปทรงที่สวยงามกว่าเดิม

อิโมจิ

การใช้อิโมจิ ก้ถือว่าเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องสอนกัน เพราะเป็นภาษาที่บ่งบอกถึงอารมณ์ของมนุษย์ ที่เป็นสากลอยู่แล้ว ผู้ที่เห็นก็จะเดาได้ว่าคนส่งต้องการสื่อสารอะไร

ประเทศต่าง ๆ มีการใช้อิโมจิแตกต่างกันไปตามพื้นฐานวัฒนธรรมของตนเอง ชาวแคนาดาใช้อิโมจิรูปอึมากที่สุด ขณะที่ชาวออสเตรเลีย มักจะใช้อิโมจิเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการพักร้อน

นอกจากนี้ ชาวรัสเซียมีแนวโน้มจะใช้อิโมจิ เกี่ยวกับความโรแมนติกมากกว่าชาติอื่น ส่วนชาติที่พูดภาษาอาราบิก มักจะใช้อิโมจิเป็นรูปดอกไม้ ชาวอังกฤษใช้อิโมจิเป็นรูปเบียร์

วิฟเวียน อีแวนส์  นักจิตวิทยาการสื่อสารที่สนใจในบทบาทของอิโมจิต่อมนุษย์ บอกว่า อิโมจิไม่ใช่แค่กระแสชั่วคราว แต่เป็นรูปแบบการสื่อสารดิจิทัล ที่ไม่มีอะไรมาทดแทนได้ และอิโมจิสามารถแสดงอารมณ์ของผู้ส่งสารได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องอธิบายกันมาก

เขาเชื่อว่า ยังมีช่องว่างที่ให้พัฒนาไปอีกมากในอนาคต เช่น บริษัทสตาร์ทอัพรายหนึ่งในซิลิคอน แวลเลย์ในสหรัฐ ก็กำลังพยายามพัฒนาแอป ที่ทำให้รูปตัวแทนของผู้ใช้หรือที่เรียกว่า อวาทาร์ นั้นสามารถแสดงอารมณ์เจ้าของไปได้ต่าง ๆ กันอีกด้วย

อิโมจิ

ฉลอง “วันอิโมจิโลก”

ผู้จัดงานวันอิโมจิโลก จัดให้มีการลงคะแนนในการแข่งขันอิโมจิโลก โดยมีการแข่งขันทั้งในหมวดอิโมจิใหม่ที่ได้รับความนิยม อิโมจิแห่งปี และรางวัลอิโมจิตลอดกาล

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ สามารถลงคะแนนให้อิโมจิที่ชื่นชอบได้ ผ่านทางโพลของบัญชีทวิตเตอร์ @EmojiAwards โดยขณะนี้มีการเปิดให้ลงคะแนนสำหรับอีโมจิแห่งปี 2564  ซึ่งมีอิโมจิรูปเข็มฉีดยา 💉 และอิโมจิรูปเชื้อโรค 🦠​  แข่งกันนำอยู่อย่างสูสี

เมื่อปีที่แล้ว อิโมจิ ที่ชนะรางวัลได้แก่ อีโมจิรูปหัวใจสีขาว 🤍 ที่คว้ารางวัลอิโมจิใหม่ยอดนิยม อีโมจิรูปหน้ายิ้มทั้งน้ำตา 😂 ได้รางวัลอิโมจิใหม่ที่ถูกคาดการณ์มากที่สุด และอีโมจิรูปกำปั้นสีผิวเข้ม ✊🏿 เป็นอิโมจิแห่งปี

ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยรางวัลแรกสำหรับปีนี้ ออกมาแล้ว เป็นรางวัลใหม่ ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นมาในปีนี้ คือ “Lifetime Achievement” หรือรางวัลสำหรับอิโมจิที่ได้รับความนิยมมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นอิโมจิแบบเดิม หรือแบบใหม่ ๆ  ซึ่งรางวัลชนะเลิศในกลุ่มนี้  ตกเป็นของอิโมจิหน้าร้องไห้หนักมาก 😭 

อิโมจิ

กลุ่มไม่แสวงหาผลกำไร Unicode Consortium เป็นผู้อนุมัติอีโมจิใหม่ ๆ โดยเมื่อปี 2553  มีการรับอีโมจิเข้ามาตรฐานยูนิโคด ทำให้สามารถใช้งานข้ามอุปกรณ์ และพื้นที่บนโลกออนไลน์ได้อย่างราบรื่น

ขณะนี้ มีอิโมจิให้ใช้งานแล้วกว่า 3,500 แลล โดย คีธ บริโอนิ แห่ง Emojipedia ระบุว่า การให้ Unicode Consortium เป็นผู้ดูแลอีโมจิ ทำให้ผู้ออกแบบ และนักเคลื่อนไหว สามารถเสนอแบบอีโมจิใหม่ ๆ ได้สะดวก เป็นการส่งเสริมความหลากหลาย และการนำเสนอทางวัฒนธรรม ผ่านทางอิโมจิมากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับอิโมจิรุ่นแรก ๆ

องค์กรต่าง ๆ เช่น Emojination ตั้งเป้าเพิ่มความครอบคลุมในอิโมจิมากขึ้น โดยทางกลุ่มระบุว่า Unicode Standard รับรองข้อเสนอให้มีอิโมจิใส่ฮิจาบเมื่อปี 2560 และอิโมจิดังกล่าว ถูกเก็บในชุดสะสมถาวร ของพิพิธภัณฑ์ออกแบบสมิธโซเนียน ในนิวยอร์ก สหรัฐ เมื่อปีที่แล้ว

รายงานของอโดบี (Adobe) ยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์ ยังระบุด้วยว่า 83% ของผู้ใช้งานทั่วโลก ต้องการเห็นอิโมจิที่ครอบคลุมมากขึ้น

ข้อมูล : BBC, VOA

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo