COVID-19

เปิดบทเรียนจาก ‘เยอรมนี’ แก้ปัญหา ‘ขาดเตียง’ ยังไง

“ขาดเตียง” ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับไทย ในการรับมือกับผู้ติดเชื้อโควิด ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพจดัง “พ่อบ้านเยอรมัน” เล่าให้ฟังอย่างละเอียด ถึงวิธีการที่ “เยอรมนี” ใช้รับมือกับปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างดี ถึงขนาดที่ในบางครั้ง สามารถรับผู้ป่วยหนักจากประเทศข้างเคียง ที่เจอปัญหาขาดเตียงเข้ามาช่วยรักษาได้ด้วย 

ขาดเตียง เยอรมนีแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

อย่างที่เราทราบกันว่า หลายประเทศในยุโรป และแม้แต่เยอรมนีเองก็ตาม ที่ถือว่าเป็นประเทศที่มี Intensive Bed เยอะเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ก็เคยประสบปัญหาการขาดแคลนเตียงที่ใช้ในต่อสู้กับไวรัสเช่นเดียวกัน

แต่!! ณ ตอนนี้ที่เรียกได้ว่าสถานการณ์ดีขึ้นมามาก ทั้งในแง่ของผู้ติดเชื้อที่น้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ และจำนวนผู้รักษาหาย จนในหลายครั้งที่เยอรมนีนั้น รับผู้ป่วยอาการหนักจากประเทศข้างเคียง ที่ขาดแคลนเตียงเข้ามาช่วยรักษาเป็นระยะ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ว่า

ขาดเตียง

“เขาผ่านปัญหา ขาดเตียง ณ ตอนนั้นมาได้อย่างไร” มาครับ พ่อบ้านจะเล่าให้ฟัง

  • จัดลำดับความสำคัญ และกักตัวที่บ้าน

สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อที่แข็งแรง ไม่มีอาการใด ๆ หรืออาการน้อย ทางการเยอรมนี จะให้ทำการกักตัวที่บ้าน และเมื่ออาการหนัก ก็สามารถเรียกรถพยาบาล หรือโทรปรึกษาหมอได้ หรือเรียกได้ว่า ทางคุณหมอจะทำการจัดลำดับความสำคัญ ของผู้ที่จะได้รับเตียงหรือเข้าพักในโรงพยาบาล

ระบบนี้ ก็จะช่วยทำให้โรงพยาบาลของเยอรมนีนั้น จะได้ใช้เตียงสำหรับคนที่มีความต้องการใช้จริงๆ เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามการที่จะใช้ระบบนี้จะต้อง

  • มีบทลงโทษที่หนักสำหรับคนฝ่าฝืน
  • มีการสุ่มตรวจ และตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ (ที่เยอรมนีจะมีการสุ่มโทรเข้าเบอร์บ้าน หรือโผล่มาดูที่หน้าบ้านเลย ถ้าคุณไม่อยู่บ้านชีวิตเปลี่ยนแน่ครับ)
  • ผู้ที่กักตัวจะต้องมีวินัยในระดับนึง

ถ้าถามว่า ถ้าถูกกักตัวในบ้านแล้วจะซื้อของกินของใช้อย่างไร คำตอบก็คือให้ญาติ หรือคนรู้จักช่วย แต่ถ้าเกิดไม่มี ทางเยอรมนีจะมีการรวมตัวกันของอาสาสมัคร เพื่อสังคม หรือเจ้าหน้าที่มาช่วยซื้อของให้นั่นเอง

  • สำรองเตียงทำหรับผู้ป่วยติดเชื้ออาการหนักโดยเฉพาะ

อัตราการสำรองเตียง และเครื่องช่วยหายใจ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ ที่อาการหนักของโรงพยาบาล ที่เยอรมนีนั้น จะอยู่ที่ ประมาณ 25-30% โดยจะขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลบริหาร

แต่ก็มีหลายช่วงที่อัตราการสำรองเตียงนั้นลดลงมาอยู่ที่ 10% หรือบางครั้งก็ต่ำกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ทางเยอรมนีก็พยายามที่จะรักษาระดับให้พอมีจำนวนเตียงรับมือให้ได้อยู่เสมอ

  • เร่งสั่งผลิตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สถานการณ์ยังไม่หนัก

ถึงแม้ว่าทางเยอรมนีนั้น จะเป็นประเทศที่มีจำนวน Intensive Bed เมื่อเทียบกับจำนวนประชากร 100,000 รายแล้ว จะมีจำนวนสูงสูงมากด้วยจำนวนประมาณ 28,000 เตียง หรือ 33.9 เตียงต่อประชากร 100,000 ราย

แต่ทางการเยอรมนี ได้คาดการณ์ไว้ในเบื้องต้นว่า ด้วยจำนวนนั้น อาจจะไม่สามารถรับมือจำนวนผู้ป่วยได้ไหว จึงทำการสั่งผลิต และสั่งซื้อ จนทำให้ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน เยอรมนีสามารถเพิ่มจำนวนเตียงจาก 28,000 เตียงกลายเป็น มากกว่า 40,000 เตียง

เรียกได้เลยว่า ผลิตเกินความต้องการไว้ก่อนเลย เพราะถือว่าเกินดีกว่าขาด  (ขนาดผลิตมาเยอะ แต่ก็มีบางช่วงขาดแคลนนะครับ) จึงทำให้พอมีจำนวนเตียงในการรับมือในช่วงของการแพร่ระบาดหนัก ๆ ได้

ขาดเตียง

  • ใช้ Technology ให้เป็นประโยชน์

จากการแพร่ระบาดนั้น ส่งผลให้คนต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น ซึ่งเยอรมนีเองก็เข้าใจในจุดนี้ จึงมีการประชาสัมพันธ์สายด่วน และเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ให้มากขึ้น ซึ่งสายด่วนเหล่านั้น ไม่ได้มีแค่เรื่องของการติดเชื้อเท่านั้น หากแต่ว่ายังมีในเรื่องของปัญหาในครอบครัว หรือปัญหาสุขภาพจิต และอื่น ๆ ที่จะเกิดปัญหาขึ้นได้ จากการที่ต้องอยู่กับบ้าน

นอกจากนี้ทางการเยอรมนี ยังมีการจัดทำ App หรือ Website อย่างเช่น CovApp เพื่อให้ตอบแบบสอบถาม และคัดกรองเบื้องต้นว่า อาการแบบนี้ควรไปหาหมอหรือไม่ และรวมไปถึง Telemedicine ที่ทำให้คุณสามารถพบคุณหมอทางออนไลน์ได้

  • ตรวจให้หนัก ตรวจให้เยอะ เพื่อจำกัดวงการระบาด

อัตราการตรวจเชื้อของเยอรมนีต่อวัน ต่อประชากร 1,000 คนนั้น ถือว่าค่อนข้างสูงเลยทีเดียว โดยบางวันนั้นสูงถึง 700 กว่าครั้ง ต่อประชากร 1,000 คนเลยทีเดียว และมีหลายครั้ง ที่ยอดการตรวจต่อวันที่เยอรมนีนั้น สูงกว่าหนึ่งล้านครั้ง

การตรวจเชื้อที่เยอรมนีนี้ ถือว่า มีสถานที่ตรวจเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นในศูนย์การตรวจ ที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ คลีนิกคุณหมอ หรือในปัจจุบัน ก็มีบริการตรวจให้ในบริเวณต่าง ๆ อาทิ หน้าซุปเปอร์มาร์เก็ต ใจกลางเมือง หรือจุดที่มีคนพลุกพล่าน

พ่อบ้านมองว่าการที่ตรวจเยอะ เราก็จะเจอเยอะ ซึ่งจะช่วยเราจำกัดวงการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น และอาจจะช่วยให้ไม่ไปติดคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ที่ถ้าเค้าติดแล้วมีโอกาสที่จะต้องใช้เตียงสูงได้ครับ

“สำหรับเยอรมนีนั้นเรื่องเตียงหรือเรื่องอุปกรณ์อาจจะเป็นปัญหาค่อนข้างน้อย เพราะยังถือว่ามีจำนวนมาก และค่อนข้างทันสมัย แต่ปัญหาที่หนักจริงๆ ของเยอรมนีก็คือการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ที่หลายคนทำงานหนักเกินขีดจำกัดของตัวเอง บางคนสู้จนแทบไม่มีเวลาให้ครอบครัว หรือบางคนก็ล้มป่วยก็มีไม่น้อย”

“ถึงในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเยอรมนี จะมีโบนัสพิเศษให้บุคลากรทางการแพทย์บ้าง แต่ถ้าเทียบกับสิ่งที่พวกคุณทำนั้น อาจจะดูน้อยไปเลย พ่อบ้านต้องขอขอบคุณจริงๆ ที่ยืนหยัด และช่วยพวกเราฝ่าวิกฤตในครั้งนี้”

ขอแสดงความเคารพจากใจจริง

พ่อบ้านเยอรมัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo