COVID-19

อาการแบบไหน ต้องรีบไปหาหมอ!! หลังฉีดวัคซีนโควิด ‘แอสตร้าเซนเนก้า’

“แอสตร้าเซนเนก้า” เป็นหนึ่งในวัคซีนป้องกันโควิด  ที่ไทยเลือกมาฉีดให้กับประชาชนในประเทศ ซึ่งกระบวนการทำงานของวัคซีน ที่ต้องกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดผลข้างเคียง ที่มีตั้งแต่ผลข้างเคียงอย่างรุนแรง ที่พบได้น้อย และไม่รุนแรงที่พบได้มาก

นอกจากนี้ ผลข้างเคียงยังมีโอกาสพบได้มากขึ้นสำหรับผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี

ฉีดวัคซีนโควิด แอสตร้าเซนเนก้า ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่

วัคซีนป้องกันโควิด ที่พัฒนาขึ้นมาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทเวชภัณฑ์ แอสตร้าเซนเนก้า ทำมาจากไวรัสไข้หวัดทั่วไป หรือที่รู้จักกันในชื่อ อะดีโนไวรัส (adenovirus) ที่อ่อนแอ โดยนำเชื้อนี้มาจากลิงชิมแปนซี ไปดัดแปลงพันธุกรรม เพื่อที่เชื้อไวรัสจะไม่สามารถขยายตัวในมนุษย์ได้

จากนั้นจะนำยีนที่ได้มาจากปุ่มโปรตีนของเชื้อไวรัสโคโรนา ไปใส่ในไวรัสไข้หวัดที่อ่อนแอ และไม่เป็นอันตรายต่อคนดังกล่าว

วัคซีนที่ได้ จะถูกนำไปฉีดให้กับคนไข้ เซลล์ในร่างกายมนุษย์ จะสร้างปุ่มโปรตีนไวรัสโคโรนาขึ้น เป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกัน สร้างแอนติบอดี หรือภูมิคุ้มกันขึ้น และกระตุ้นให้ “ที-เซลล์” ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ

เมื่อคนไข้ได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายจริง ๆ ภูมิคุ้มกัน และ ทีเซลล์ก็จะถูกกระตุ้นให้ต่อสู้กับเชื้อไวรัส

ฉีดวัคซีนโควิด

โจนาธาน แวน แทม รองหัวหน้าเจ้าหน้าที่การแพทย์ของรัฐบาลอังกฤษ ระบุ ไว้เมื่อเดือนเมษายนว่า มี “หลักฐานมากมาย” ที่บ่งชี้ว่าวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ)

งานวิจัยของ สำนักงานสาธารณสุขของอังกฤษ (พีเอชอี) ที่เผยแพร่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนแต่ละยี่ห้อในการสู้กับแต่ละสายพันธุ์ ระบุว่า 3 สัปดาห์หลังรับวัคซีนเข็มแรกจากแอสตร้าเซนเนก้า หรือ จากไฟเซอร์ จะได้ประสิทธิผล 33% ในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) และ 50% ในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์อัลฟา

และ 2 สัปดาห์หลังได้รับเข็มสอง แอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผล 60% ในการสกัดความรุนแรงของโรคจากสายพันธุ์อินเดีย เทียบกับ ประสิทธิผล 88% ของไฟเซอร์ ส่วนสายพันธุ์อังกฤษนั้นแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิผล 66% เทียบกับไฟเซอร์ที่มีประสิทธิผลถึง 93%

ฉีดวัคซีนโควิด

ผลข้างเคียงไม่รุนแรง จากการฉีด วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ผลข้างเคียง จากการวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่พบได้บ่อย ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้รับวัคซีน คือ

  • มีอาการปวดบวมแดงหรือคันบริเวณที่ฉีดวัคซีน
  • เกิดความอ่อนเพลีย
  • มีไข้ คลื่นไส้ ปวดศีรษะ
  • อาจปวดกล้ามเนื้อ จนถึงปวดข้อ

ผลข้างเคียงที่พบได้ประมาณ 1 ใน 100 ของผู้รับวัคซีน คือ  เป็นไข้หวัดใหญ่ ร่วมกับอาเจียน

ผลข้างเคียงวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่พบได้น้อย ประมาณ 1 ใน 1000 ของผู้รับวัคซีน

  • ปวดท้อง
  • เกิดผื่นคัน
  • เวียนศีรษะ

ฉีดวัคซีนโควิด

อาการแบบไหนที่ต้องระวัง

ผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ภายหลังจากได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 4 วัน หรือมากกว่านี้ จะต้องรีบขอรับคำแนะนำจากแพทย์

  • ปวดศีรษะรุนแรงต่อเนื่อง
  • ตาพร่ามัว
  • เจ็บหน้าอก
  • หายใจลำบาก
  • ขาบวม
  • ปวดท้องอย่างต่อเนื่อง
  • ผิวหนังมีรอยช้ำผิดปกติ
  • มีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง (ไม่รวมจุดที่ได้รับการฉีดวัคซีน)

ทั้งนี้ มีรายงานว่า มีผู้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันแบบหาได้ยากในหลายประเทศ หลังจากที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว  โดยกรณีผลข้างเคียงนี้ มักจะพบอาการได้หลังรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไปประมาณ 4 วัน ถึง 4 สัปดาห์ ถือเป็นอาการที่อันตรายต้องเข้าพบแพทย์โดยด่วน

เมื่อนำมาเทียบสัดส่วนจำนวนการเกิดภาวะดังกล่าว หลังรับวัคซีนโดสแรกจะอยู่ที่ 13.6 คนต่อ 1 ล้านคน และเมื่อพิจารณาถึงกลุ่มอายุของผู้ที่เกิดภาวะดังกล่าว จากข้อมูลพบว่า มีโอกาสเกิดขึ้นในกลุ่มคนอายุน้อยมากกว่าคนอายุมาก

เมื่อพิจารณาการเกิดภาวะดังกล่าวหลังรับวัคซีนโดสที่ 2 จะอยู่ที่สัดส่วน 1.3 คนต่อ 1 ล้านคน

ฉีดวัคซีนโควิด

เพิ่มคำเตือน “อาการข้างเคียง” ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้มีกลุ่มอาการของโรคเส้นเลือดฝอยรั่ว (capillary leak syndrome) ซึ่งเป็นอาการที่เลือดรั่ว ออกจากเส้นเลือดฝอยเข้าสู่ร่างกาย หลังมีการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้ว 37 ล้านโดสทั่วโลก

การพบอาการข้างเคียงดังกล่าว ทำให้  คณะกรรมการความปลอดภัย สำนักงานยายุโรป (อีเอ็มเอ) กำหนดให้ ใส่กลุ่มอาการ “เส้นเลือดฝอยรั่ว” ซึ่งเป็นโรคเลือดหายากชนิดหนึ่ง ไว้ในอาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น จากการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้า ที่บริษัทจะต้องระบุลงไปในฉลาก เกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนด้วย

อีเอ็มเอ ยังเตือนว่า บุคคลที่เคยมีป่วยด้วยโรคเส้นเลือดฝอยรั่ว ที่ทำให้เกิดอาการตัวบวม และความดันเลือดต่ำ ไม่ควรฉีดวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้า หลังจากผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบกรณีผู้ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาที่มีอาการนี้ 6 คน พบว่า 3 ใน 6 เคยมีประวัติพบอาการนี้มาก่อน

นอกจากนี้ หน่วยงานกำลังดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง ถึงรายงานการเกิดอาการหัวใจอักเสบ ทั้งในส่วนของเยื่อหุ้มหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจ โดยในตอนแรกนั้น ตรวจพบอาการเหล่านี้ จากผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิดของไบเซอร์-ไบโอเอนเทค และโมเดอร์นา ก่อนที่จะพบในผู้ที่ฉีดวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์น จอห์นสัน และแอสตร้าเซนเนก้า ด้วย

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงเป็นสัญญาณของการสร้างภูมิคุ้มกัน ส่วนมากจะพบอาการที่ไม่รุนแรง อย่างไรก็ตามหลังฉีดวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว ควรเฝ้าดูอาการตนเองหรือผู้ที่ใกล้เคียงอย่างใกล้ชิดประมาณ 30 วัน

ที่มา : BBC, EMA, WHO

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo