World News

ครั้งประวัติศาสตร์! จี7 เห็นพ้อง ‘ยกเครื่อง’ ระบบเก็บภาษี ‘บริษัทข้ามชาติ’

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี 7) เห็นพ้องในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ ปฏิรูประบบการเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ เพื่อแก้ปัญหาการใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายหลบเลี่ยงภาษี และเพื่อเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลชาติต่าง  ๆ

บีบีซี รายงานว่า การบรรลุข้อตกลงครั้งนี้มีขึ้นระหว่างการประชุมของรัฐมนตรีคลัง กลุ่มประเทศจี 7 ในกรุงลอนดอน ของอังกฤษ  เมื่อวานนี้ (5 มิ.ย.) โดยมีจุดประสงค์สำคัญ 2 ประการ คือ เพื่อกำหนดให้บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ จ่ายภาษีในประเทศที่ดำเนินธุรกิจอยู่ ไม่ใช่เฉพาะประเทศที่จดทะเบียนธุรกิจ

ที่ประชุมยังเห็นพ้องในหลักการ กำหนดอัตราการเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำไว้ที่ 15% ป้องกันประเทศต่าง ๆ ตัดราคาภาษี เพื่อดึงดูดนักลงทุน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหา การแข่งขันไปสู่จุดเสื่อม หรือจุดต่ำสุด (race to the bottom) ที่นำไปสู่การลดค่าแรงคนงาน เพื่อประหยัดรายจ่ายของผู้ประกอบการ

บริษัทที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวข้างต้น คือ บรรดายักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลก อย่าง อเมซอน เฟซบุ๊ก และกูเกิล

จี7
ภาพ : Twitter@hmtreasury

ข้อตกลงมีอะไรบ้าง

จี7 แถลงว่า ข้อกำหนดที่ให้บริษัทข้ามชาติต้องเสียภาษีในประเทศที่ดำเนินธุรกิจนั้นเรียกว่า “หลักการที่ 1” ของข้อตกลงนี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้กับ บริษัทข้ามชาติที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 10%

ส่วนบริษัทที่มีกำไรเกิน 20% จากอัตรากำไรขั้นต้น 10% ก็จะถูกเฉลี่ย และเสียภาษีในประเทศที่บริษัทนั้น ๆ ดำเนินธุรกิจอยู่

ปัจจุบัน บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่ง มักใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น การตั้งบริษัทสาขาในประเทศที่มีการเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราต่ำ แล้วยื่นเสียภาษีที่นั่น แม้ว่าบริษัทจะมีผลกำไรส่วนใหญ่ มาจากยอดขายในประเทศอื่นก็ตาม

ในสัปดาห์นี้ มีรายงานว่า บริษัทย่อยของไมโครซอฟท์ ในประเทศไอร์แลนด์ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเลยเมื่อปีที่แล้ว แม้จะมีกำไรถึง 315,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 9.76 ล้านล้านบาท) เนื่องจาก จดทะเบียนบริษัทในเบอร์มิวดา ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักร ในมหาสมุทรแอตแลนติก ที่ไม่เรียกเก็บภาษีนิติบุคคล หรือภาษีเงินได้

ข้อตกลงนี้ส่งผลดีอย่างไร

ข้อตกลงของจี7 ซึ่งประกอบไปด้วย สหรัฐ แคนาดา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น จะช่วยนำรายได้จากการเรียกเก็บภาษีเข้ารัฐจำนวนมหาศาล และช่วยให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ สามารถปลดหนี้ที่เกิดขึ้นในวิกฤติโควิด-19 ได้

หลังจากการเจรจามานานหลายปี กลุ่มจี 7 จะเดินหน้าผลักดันให้ประเทศอื่น ๆ นำมาตรการเหล่านี้ไปใช้ด้วย รวมถึง การผลักดันในที่ประชุมกลุ่มจี20 ที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า

นายริชี สุนัค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สหราชอาณาจักร ระบุว่า ข้อตกลงนี้ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความเสมอภาคในการแข่งขันของบริษัทข้ามชาติ

“หลังจากหารือมานานหลายปี รัฐมนตรีคลังกลุ่มจี 7 ได้บรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในการปฏิรูประบบภาษีโลกเพื่อให้เหมาะสมกับโลกในยุคดิจิทัล”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo