COVID-19

ทำความรู้จัก ‘ซิโนแวค’ วัคซีนโควิดตัวล่าสุด ที่ ‘WHO’ อนุมัติใช้ฉุกเฉิน

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศอนุมัติ วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 “ซิโนแวค” เป็นการฉุกเฉินแล้ว เมื่อวานนี้ (1 มิ.ย.) ถือเป็นวัคซีนตัวที่ 2 ของจีน ที่ผ่านการรับรองเช่นนี้ 

บีบีซี รายงานว่า “ซิโนแวค” หรือชื่อเต็มว่า “ซิโนแวค ไบโอเทค” เป็นบริษัทผู้ผลิตยา และชีวเภสัชภัณฑ์สัญชาติจีน ตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง เชี่ยวชาญการวิจัย พัฒนา ผลิต และจำหน่ายวัคซีนป้องกันโรคระบาด ก่อตั้งในปี 1999

ซิโนแวค

หยิน เว่ยตง อดีตเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของจีน ก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาเมื่อปี 2542 ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของบริษัท โดยมี สำนักงานใหญ่ อยู่ในกรุงปักกิ่ง

ก่อนหน้านี้ ซิโนแวคเคยผลิตวัคซีนมาแล้วหลายตัว เช่น วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ (ชื่อทางการค้า Healive) วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ และบี (ชื่อทางการค้า Bilive) วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอ ชนิด H5N1 (ชื่อทางการค้า Panflu) และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (ชื่อทางการค้า Anflu)

วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ซิโนแวคเป็นผู้ผลิตนั้น เป็นวัคซีนเชื้อตายที่มีชื่อว่า “โคโรนาแวค” (CoronaVac)  ทำงานโดยการเหนี่ยวนำระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ ให้สร้างแอนติบอดีต้านโควิด-19

แอนติบอดีนี้ จะยึดติดกับโปรตีนบางส่วนของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย ซึ่งไวรัสเชื้อตาย เป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ถูกใช้มานานกว่าศตวรรษ โดย “โจนัส ซัลก์ (Jonas Salk) ได้ใช้เทคโนโลยีวัคซีนเชื้อตายในการสร้างวัคซีนโปลิโอในปี 2598

การใช้เชื้อตายทำให้ “โคโรนาแวค” แตกต่างจากวัคซีนที่ผลิตในโลกตะวันตก อย่าง วัคซีนโควิดของ “โมเดอร์นา”  และ “ไฟเซอร์ ” ที่เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี “mRNA ” ฉีดพันธุกรรมโมเลกุล ที่เรียกว่าเอ็มอาร์เอ็นเอเข้าไปในร่างกาย เพื่อกระตุ้นให้ร่างกาย สร้างโปรตีนของไวรัสเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทาน

ประสิทธิภาพของ วัคซีนซิโนแวค

ก่อนที่วัคซีนของซิโนแวคล็อตแรกจะมาถึงไทย มีการเผยแพร่บทความวิชาการในวารสารทางวิทยาศาสตร์ เดอะ แลนแซต ระบุว่า มีข้อมูลจากการทดลองวัคซีนโคโรนาแวคในระยะแรก และระยะที่สองเท่านั้น

บทความนี้ ระบุด้วยว่า ผลจากการฉีดวัคซีน ซึ่งอ้างอิงจากผู้เข้าร่วม 144 คนในการทดลองระยะที่หนึ่ง และ 600 คนในการทดลองระยะที่สอง ระบุไว้ว่าวัคซีน “เหมาะสำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉิน”

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า มีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใส เกี่ยวกับประสิทธิภาพของโคโรนาแวค หลังจากที่บริษัทเปิดเผยผลการทดลอง ฉีดวัคซีนโคโรนาแวค ระยะที่สามในตุรกีว่าได้ผลมากถึง 91.25% แต่บริษัทไม่ได้เปิดเผยตัวเลขจริง

การทดลองระยะที่สามในตุรกี เริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2563 โดยมีผู้เข้าร่วมทดลองในเฟสที่สาม จำนวน  7,000 คน และผลรายงานออกมาเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว  อ้างอิงผลจากผู้เข้าร่วมเพียงแค่ 1,322 คนเท่านั้น โดยทางตุรกีซึ่งมีประชากรมากกว่า 84 ล้านคน ได้สั่งวัคซีนตัวนี้ไปถึง 50 ล้านโดส

ซิโนแวค รายงานด้วยว่า อาสาสมัครรับวัคซีน “บางคน” มีอาการอ่อนเพลีย หรือไม่สบายเพียงเล็กน้อย ซึ่งไม่เกิน 5%

ซิโนแวค

ในเดือนตุลาคม 2563 บราซิล ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ได้ดำเนินการทดลองวัคซีนตัวนี้ แต่การทดลองก็ต้องหยุดชะงักลงในเดือน พฤศจิกายน หลังมีรายงานการเสียชีวิตของอาสาสมัคร แต่กลับมาดำเนินการต่อ หลังจากพบว่าการเสียชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงกับวัคซีน

แม้จะยังมีข้อกังขา หลายประเทศก็ตัดสินใจเดินหน้าสั่งซื้อ และฉีดวัคซีนซิโนแวคให้ประชาชน แต่แล้วประเด็นเรื่อง “ประสิทธิภาพ” ของวัคซีนซิโนแวค ก็กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา

“เกา ฟู่” ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรคระบาดของจีน (China Centers for Disease Control-CDC) ออกมาแถลงว่า วัคซีนของจีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน “อัตราป้องกันเชื้อไม่ได้สูงมากนัก” พร้อมระบุว่า รัฐบาลจีนกำลังพิจารณาว่า ควรใช้ร่วมกับวัคซีนที่ผลิตด้วยเทคนิคอื่น ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพหรือไม่

ถ้อยแถลงดังกล่าว ถือเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีน ยอมรับว่า วัคซีนของตนมีประสิทธิภาพต่ำ หลังจากผลการทดสอบที่ประเทศบราซิล พบว่าวัคซีนของบริษัทซิโนแวคมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ที่ 50.4% เกินกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 50% เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่วัคซีนซึ่งไฟเซอร์ พัฒนาร่วมกับ “ไบโอเอนเทค” ป้องกันได้ถึง 97%

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้น เกา ฟู่ กลับลำว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความเข้าใจผิด

ขณะที่ ซิโนแวค ชี้แจงว่า ประสิทธิภาพในการป้องกันของวัคซีน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อาทิ วัยของผู้รับวัคซีน และสายพันธุ์ของไวรัสโควิด และว่า หากทิ้งระยะเวลาการฉีดวัคซีนระหว่างเข็มที่ 1 กับเข็มที่ 2 มากเท่าใด ก็จะยิ่งได้ผลดีมากขึ้นเท่านั้น จึงมีคำแนะนำให้เพิ่มระยะห่าง ของการฉีดวัคซีน 2 เข็ม จากเดิม 14 วัน เป็น 21 วัน

สำหรับในประเทศไทยนั้น รัฐบาล ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานด้านวัคซีน ต่างออกมาประสานเสียงยืนยันว่า วัคซีนของซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ดี และปลอดภัย เช่น นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ยืนยันว่า วัคซีนจากซิโนแวคเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายแบบดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง หลังฉีดยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง

เช่นเดียวกับ ศ. ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่สรุปรายงานผลการประเมินประสิทธิภาพทางคลินิก ระยะที่ 3 ของวัคซีนซิโนแวค จากบราซิล ซึ่งทำการทดสอบในบุคลากรทางการแพทย์ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อสูงมากจำนวนกว่า 10,000 คน ดังนี้

  • วัคซีนสามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรง และป้องกันการเสียชีวิตได้ 100% สามารถป้องกันการป่วยได้ 83.7% และป้องกันการติดเชื้อได้ 50.7% และมีความปลอดภัยสูงมาก
  • กลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่มีรายใดเลย ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต ส่วนผลข้างเคียงจากวัคซีนนั้น คล้ายกับวัคซีนอื่น ๆ ซึ่งมีผลข้างเคียงน้อย และไม่รุนแรง
  • วัคซีนจะเริ่มมีผลป้องกันโรคได้ 2 สัปดาห์ หลังฉีดเข็มแรก รวมทั้งการเพิ่มระยะห่าง ระหว่างเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2  จากที่กำหนดไว้ 2 สัปดาห์ เพิ่มเป็นประมาณ 4 สัปดาห์ อาจจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากขึ้นอีก

ซิโนแวค

อาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน

นับตั้งแต่เริ่มมีการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งแพทย์ได้แบ่งเป็นอาการไม่พึงประสงค์ชนิดไม่รุนแรง และชนิดรุนแรง ซึ่งเป็นอาการที่เกิดได้กับวัคซีนทุกชนิด

  • อาการข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง มีไข้ต่ำ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ปวดบริเวณที่ฉีด ซึ่งเกิดได้ 20-30% และสามารถหายได้เองในเวลาไม่นาน
  • อาการข้างเคียงรุนแรง ไข้สูง แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดศีรษะรุนแรง ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง มีจุดเลือดออกจำนวนมาก ผื่นขึ้นทั้งตัว อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง ชัก/หมดสติ หากมีอาการเหล่านี้ ผู้ได้รับวัคซีนต้องรีบแจ้งแพทย์ทันที

สำหรับกรณีอาการข้างเคียงรุนแรงที่พูดถึงกันมาก คือ กรณีกลุ่มบุคลากร ของหน่วยงานสาธารณสุขใน จังหวัดระยอง 6 ราย ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรืออาการอื่น ๆ ที่คล้ายโรคหลอดเลือดสมอง หลังฉีดวัคซีนของซิโนแวคในช่วงวันที่ 5-9 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสรุปว่า เป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาท ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน เพราะว่าเกิดภายใน 5-10 นาทีหลังฉีด ทุกรายได้รับการรักษาตามมาตรฐาน และอาการกลับมาเป็นปกติภายใน 3 วัน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ผู้รับวัคซีนรายหนึ่งเป็นผู้ชาย มีโรคประจำตัวคือหลอดเลือดแดงโป่งพองในช่องท้อง เสียชีวิตราว 2 สัปดาห์ หลังจากได้รับวัคซีนเมื่อต้นเดือนมีนาคม ซึ่งแพทย์สรุปว่า เขาเสียชีวิตจากโรคประจำตัว คือ หลอดเลือดโป่งพอง ที่บังเอิญมาเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีน แต่วัคซีนไม่ได้เป็นสาเหตุของการทำให้ผู้ป่วยรายนี้เสียชีวิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo