COVID-19

ปักกิ่งเริ่มใช้ ‘วัคซีนโควิด’ ตัวใหม่แบบฉีด 3 โดส ผลิตจากเซลล์รังไข่หนูแฮมสเตอร์

ปักกิ่งเริ่มใช้ “วัคซีนโควิดตัวใหม่ แบบฉีด 3 โดส ผลิตจากเซลล์รังไข่หนูแฮมสเตอร์ อ้างประสิทธิภาพสูงถึง 97%

กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เริ่มใช้งานวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ชนิดโปรตีนลูกผสม (recombinant protein) ที่พัฒนาในจีน และมีกำหนดฉีดรวม 3 โดส

วัคซีน หนูแฮมสเตอร์

วัคซีนที่ผลิตจากเซลล์รังไข่ของหนูแฮมสเตอร์ (CHO Cells) เป็นผลงานการพัฒนาร่วมระหว่างสถาบันจุลชีววิทยา สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน (CAS) และบริษัท อันฮุย จื้อเฟย หลงเคอหม่า ไบโอฟาร์มาซูติคัล จำกัด (Anhui Zhifei Longcom Biopharmaceutical) ผู้ผลิตวัคซีนสัญชาติจีน โดยคณะนักวิจัยของสถาบันฯ เริ่มรับวัคซีนโดสแรก เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2564 ในเขตไห่เตี้ยนของปักกิ่ง

สถาบันฯ เปิดเผยว่า จีนอนุมัติการใช้งานกรณีฉุกเฉินแก่วัคซีนดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 มีนาคม และมีประชาชนจากหลายมณฑล อาทิ อันฮุยและหูเป่ย ทยอยเข้ารับวัคซีนนับตั้งแต่นั้น ขณะวัคซีนชุดแรกออกจากสายการผลิตในปักกิ่งเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม

การทดลองระยะที่ 2 ซึ่งครอบคลุมผู้มีอายุ 18 – 59 ปี พบร่างกายของผู้เข้าร่วม 83% ผลิตแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์หลังฉีดวัคซีน 2 โดส และเพิ่มเป็น 97% หลังฉีดวัคซีนครบ 3 โดส

ส่วนการทดลองขั้นต้นที่ดำเนินการในผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป พบอัตราการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ (seroconversion rate) ของแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์สูงถึง 95% หลังฉีดวัคซีนครบ 3 โดส โดยปราศจากอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกี่ยวกับวัคซีน

วัคซีน หนูแฮมสเตอร์

สถาบันฯ ระบุว่าวัคซีนฝีมือจีนตัวนี้กระตุ้นแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ในระดับเทียบเท่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดโปรตีนลูกผสมและชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ตัวอื่น ๆ ทั่วโลก

ทั้งนี้ สถาบันฯ กล่าวว่า วัคซีนชนิดโปรตีนลูกผสมไม่จำเป็นต้องถูกผลิตในห้องปฏิบัติการความปลอดภัยทางชีวภาพมาตรฐานสูง โดยสามารถผลิตในปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดต้นทุน อีกทั้งจัดเก็บและขนส่งได้สะดวกกว่าด้วย

ที่มาสำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo