World News

‘ติ๊กต็อก’ เจอฟ้อง เรียกค่าปรับหลายพันล้านปอนด์ ชี้ แอบเก็บข้อมูลเด็ก

ติ๊กต็อก (TikTok) ถูกฟ้องเรียกเงินค่าปรับหลายพันล้านปอนด์ และถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กหลายล้านคนในอังกฤษ และยุโรปโดยไม่ได้รับอนุญาต

นางแอนน์ ลองฟิลด์ อดีตกรรมาธิการด้านเด็ก และเยาวชน ของอังกฤษ ได้ยื่นฟ้องติ๊กต็อก โดยกล่าวหาว่า ลักลอบเก็บข้อมูลเด็กหลายล้านคน ระหว่างใช้แอปพลิเคชัน เช่น หมายเลขโทรศัพท์, รูปภาพ, วิดีโอ, ตำแหน่งที่อยู่ และข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล จากนั้นได้ขายข้อมูลเหล่านี้ให้กับบุคคลที่สาม ซึ่งไม่เปิดเผยตัวตน

ติ๊กต็อก

“เราคิดว่าทั้งผู้ปกครอง และเยาวชน จะรู้สึกตกใจเป็นอย่างมาก เรื่องนี้น่ากังวลยิ่งขึ้นเมื่อคำนึงถึงผู้ใช้แอปโซเชียลมีเดียนี้จำนวนมาก ที่เป็นกลุ่มครอบครัว และเยาวชนยุคใหม่ จากข้อมูลของ Ofcom ในกลุ่มเยาวชนอายุ 8-12 ปี มีการใช้งานแอปติ๊กต็อกสูงถึง 44% และเราคาดว่า มีเยาวชนราว 3.5 ล้านคนในอังกฤษ ที่ถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และอีกจำนวนมากในประเทศอื่นๆ ในยุโรป” นางลองฟีลด์กล่าว

ในสำนวนคดีระบุว่า ติ๊กต็อกทำการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเยาวชน โดยไม่ได้รับความยินยอมอย่างถูกต้อง ซึ่งตามกฎหมายนั้น กรณีเยาวชนยังไม่บรรลุนิติภาวะ จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อน และไม่มีความโปร่งใส

นายทอม เซาธ์เวลล์ ทนายความจากสำนักกฎหมาย Scott + Scott และตัวแทนฝ่ายโจทก์ ในการฟ้องร้องครั้งนี้ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของอังกฤษ และสหภาพยุโรป (อียู) อย่างร้ายแรง

“รายได้จากโฆษณาของติ๊กต็อก และ ไบต์แดนซ์ เกิดขึ้นมาจากข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งาน ที่รวมถึงเด็ก ๆ ซึ่งการแสวงหาผลประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ โดยไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย และหน้าที่ทางศีลธรรม ในการปกป้องเด็กทางออนไลน์ เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้”

นอกจากนี้ นางลองฟิลด์ และนายเซาธ์เวลล์ ยังอ้างถึง โครงสร้างของติ๊กต็อก ที่มีสำนักงานใหญ่ในยุโรป อยู่ที่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ และระบุถึงที่ตั้งของบริษัทแม่ว่า อยู่ที่เกาะเคย์แมน ว่าเป็น การจงใจปิดบังโดยเจตนา

“ผู้ปกครอง และเด็กๆ มีสิทธิที่จะรู้ว่า ข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึง หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ และวีดิโอของเด็กๆ ถูกเก็บไว้อย่างผิดกฎหมาย”

ทั้งนางลองฟิลด์ และบริษัทกฎหมาย ยังมีแผนที่จะเชิญให้ผู้ปกครองเยาวชนในสหราชอาณาจักรร่วม 3.5 ล้านคน ที่เชื่อว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการถุกเก็บข้อมูลโดยไม่ได้รับความยินยอม ร่วมลงชื่อฟ้องด้วย

ติ๊กต็อก

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่นโยบายการเก็บข้อมูลของติ๊กต็อกทำให้เกิดปัญหา

ในปี 2562 ติ๊กต็อก ซึ่งเป็นของ “ไบต์แดนซ์” บริษัทเทคโนโลยี สัญชาติจีน ถูกคณะกรรมาธิการการค้าของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FTC) บังคับปรับเป็นเงินจำนวน 5.7 ล้านดอลลาร์ จากข้อกล่าวหาว่า เก็บข้อมูลส่วนบุคคลของเยาวชนโดยผิดกฎหมาย

เช่นเดียวกับที่เกาหลีใต้ ที่ในเดือนกรกฎาคม 2563 เจ้าหน้าที่ควบคุมสื่อของเกาหลีใต้ ได้มีคำสั่งปรับติ๊กต็อกเป็นเงิน 186 ล้านวอน ฐานเก็บข้อมูลเด็ก 6,000 คน ที่มีอายุต่ำกว่า 14 ปี

นอกจากนี้ แอปติ๊กต็อกยังถูกระงับการใช้งานชั่วคราวในอินเดีย ด้วยเหตุผลว่า “ทำให้วัฒนธรรมเสื่อมทรามลง และสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร” ก่อนที่ติ๊กต็อก จะหยุดให้บริการให้อินเดียในเวลาต่อมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo