World News

‘คลองสุเอซ’ จ่อเรียกค่าเสียหายกว่า 3.1 หมื่นล้าน เรือยักษ์เกยตื้น ขวางเส้นทางส่งสินค้า

องค์การคลองสุเอซ จ่อเรียกค่าเสียหายกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ กรณีเรือขนสินค้ายักษ์ “เอเวอร์ กิฟเวน” เกยตื้น ขวางทางสัญจรภายในคลองสุเอซ ทำให้การสัญจรสินค้าในเส้นทางนี้ ต้องหยุดชะงัก

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายโอซามา เรบี ประธานองค์การคลองสุเอซ (SCA) ของอียิปต์ เปิดเผยว่า องค์การจะเรียกร้องเงินชดเชยมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 31,200 ล้านบาท สำหรับความสูญเสียที่เกิดจากกรณีเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เอเวอร์ กิฟเวน (Ever Given) เกยตื้นขวางคลอง และส่งผลให้ต้องระงับการเดินเรือในคลอง นาน 6 วัน

“เงินชดเชยสำหรับความสูญเสีย และความเสียหาย จะมีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์  นี่เป็นสิทธิของประเทศเรา และเราจะไม่ยอมปล่อยให้หลุดลอยไป”

get 90

เรือเอเวอร์ กิฟเวน ขนาด 224,000 ตัน แล่นชนฝั่ง และปิดกั้นคลองสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำสายสำคัญของโลก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนจะกลับมาลอยลำได้ในอีก 6 วันต่อมา ด้วยความพยายามร่วมกันระหว่างทางองค์การคลองสุเอซ กับโบสกาลิส บริษัทสัญชาติเนเธอร์แลนด์ และสมิท ซัลเวจ ทีมรับมือเหตุฉุกเฉิน ที่ถูกว่าจ้างโดยเจ้าของเรือเอเวอร์ กิฟเวน

นายเรบีอธิบายว่า เงินที่ทางองค์การเรียกร้องนั้น ไม่เพียงเป็นค่าชดเชยสำหรับความสูญเสียทางการเงิน ที่เกิดจากการระงับการเดินเรือในคลองสุเอซนาน 6 วัน แต่ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายในการใช้เรือขุด และเรือลากจูง ตลอดจนความเสียหายทางกายภาพ ที่เกิดขึ้นระหว่างการกอบกู้เรือ

การสัญจรในคลองสุเอซกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง หลังการกอบกู้เรือเอเวอร์ กิฟเวน ที่กินเวลานานหลายชั่วโมง เสร็จสิ้นลงในช่วงเช้าวันที่ 29 มีนาคม จากนั้นเรือราว 422 ลำที่ติดค้างอยู่จึงเริ่มเดินทางผ่านคลองดังกล่าวได้

ทั้งนี้ คลองสุเอซเป็นทางน้ำที่ขุดขึ้น เพื่อเชื่อมทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง และกลายเป็นเส้นทางเดินเรือสินค้าทางทะเลสายสำคัญของโลก เนื่องจากเอื้อให้เรือเดินทางระหว่างยุโรปกับเอเชียใต้ได้ โดยไม่ต้องอ้อมไปทางใต้ของทวีปแอฟริกา ช่วยย่นระยะทางทางทะเล ระหว่างยุโรป กับอินเดียได้ประมาณ 7,000 กิโลเมตร โดยร้อยละ 12 ของปริมาณการค้าทั่วโลกล้วนต้องขนส่งสินค้าผ่านทางน้ำสายนี้

ที่มา : สำนักข่าวซินหัว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo